การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม
โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ที่กรมประชาสัมพันธ์
จากนั้นก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา
ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต่อมา
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ
ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3 เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์
อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม การสวดมนต์ข้ามปี
จึงถือได้ว่าเริ่มจัดขึ้นที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นครั้งแรก และ
ในปีพุทธศักราช 2549 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี
จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการ และ ต่อมา
คณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย
และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม
2553 ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี
โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ
และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ (พระวิจิตรธรรมาภรณ์.
2554. [ออนไลน์] )
ช่วงวันหยุดยาวของปีใหม่
เป็นช่วงเวลาพิเศษที่คนในครอบครัวจะได้มาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นอีกช่วงเวลาที่หลายครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
เนื่องจากช่วงนี้นับว่าอยู่ในช่วงของ 7 วันอันตราย
เพราะเมื่อมีการพบปะ ต้องมีการสังสรรค์ และสิ่งที่ตามมามักจะเป็นอุบัติเหตุเสมอ
ซึ่งจากข่าวที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ผู้ประสบอุบัติเหตุมักจะอยู่ในกลุ่มของวัยรุ่น
จะดีกว่านี้หรือไม่ ถ้ากิจกรรมช่วงปีใหม่กลายเป็นกิจกรรมที่ลดความเสี่ยงต่อชีวิต
แต่เปลี่ยนเป็นการเพิ่มสติ ปัญญา และเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัวแทน
ดังเช่น “การสวดมนต์ข้ามปี”
-มุมมองเกี่ยวกับการสวดมนตร์ข้ามปีของคนรุ่นใหม่
จินดา จินะกะ วัยรุ่นตัวอย่างอีกคนของลำปาง
(ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยพะเยา) เนื่องจากเธอเป็นบุคคลที่เข้าร่วมการสวดมนต์ข้ามปีตลอด
และเป็นเวลา 1 ปีแล้วที่เธอได้เข้าร่วมชมรมพุทธศาสตร์
ของมหาวิทยาลัยพะเยาและได้ร่วมกิจกรรมทำบุญกับชมรมอยู่เสมอ
ในการนี้ใกล้ถึงช่วงเวลาของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว
ทางลานนาโพสต์จึงไปสอบถามมุมมองเกี่ยวกับการสวดมนต์ข้ามปีของสมาชิกชมรมพุทธศาสตร์รุ่นใหม่คนนี้
โดยส่วนตัวจินดา จินะกะ มองว่าการสวดมนต์ข้ามปีเป็นสิ่งที่ดีมาก
เพราะเหมือนกับว่าเป็นการเริ่มต้นปีด้วยการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ซึ่งอานิสงค์ของการสวดมนต์นั้นจะช่วยทำให้จิตของเราตั้งมั่นในบทสวดมนต์
ใจของเราก็จะเกิดสมาธิและปัญญา ในขณะเดียวกันการที่เราสวดมนต์นั้นเปรียบเสมือนเราได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า
อีกทั้งเหล่าเทวดาก็ยังได้มาอนุโมทนาบุญกับการสวดมนต์ของเราอีกด้วย
และนอกจากนี้การสวดมนต์ข้ามปีถือเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีของชาติไทย และเชื่อว่าเป็นการทำให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตตลอดปี
ตลอดไป
สำหรับเหตุผลที่สวดมนต์ข้ามปี
เป็นเพราะความชอบโดยส่วนตัว ที่ไม่ค่อยชอบความวุ่นวายเท่าไหร่นัก รู้สึกว่าการที่เราได้สวดมนต์ทำให้จิตใจของเราสงบมีสมาธิ
ช่วยให้เราได้นำใจของเรากลับมาอยู่กับตัวเรามากขึ้น และที่สำคัญ คือ เราได้ ''บุญ''
อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาเข้าวัดทำบุญ อย่ามัวรอให้อายุเยอะแล้วค่อยทำ
เพราะชีวิตของเราไม่แน่ไม่นอน สำหรับปีใหม่นี้ก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาสวดมนต์ข้ามปีเพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งดีๆ
ให้กับชีวิต
สำหรับผู้ที่สนใจสวดมนต์ข้ามปี วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
กล่าวว่า ในปีพุทธศักราช 2563 นี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประธานไฟพระฤกษ์จุดในพิธีสวดมนต์ข้ามปี
เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ความรุ่งโรจน์ และความสำเร็จ
เป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าร่วมพิธี ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยจังหวัดลำปาง
กำหนดจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทย พ.ศ. 2563
ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง
จังหวัดลำปาง พร้อมเชิญชวนทุกหน่วยงานและพุทธศาสนิกชน
เข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทย พ.ศ. 2563
ในวันดังกล่าว ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง หรือวัดใกล้บ้าน
“คืนท้ายปี
ร่วมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยการสวดมนต์ข้ามปี สร้างความสุขที่เรียบง่ายกับเพื่อนกับครอบครัว
อิ่มบุญ อุ่นใจ ปลอดภัยตลอดปี”
เกษณี ตั๋นตุ้ย นักศึกษาฝึกงาน
สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น