วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

คิดถึง ณ ลำปาง ชุบคนแก่ให้กลายเป็นหนุ่ม... เรื่องเล่า“วัดม่อนพระยาแช่”

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

อย่างที่เกริ่นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ครั้งนี้เราจะพาไปงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ "วัดม่อนพระยาแช่" ดังนั้น จึงขอเล่าเรื่องราวในพระพุทธกาล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ “วัดม่อนพญาแช่” หรือ “วัดม่อนพระยาแช่” ซึ่งเป็นพระธาตุเก่าแก่ อันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งชาวจังหวัดลำปาง

ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเทศนาสั่งสอนสัตว์โลก ลุมาถึง กุกกุตตะนครในเมืองเวียงดิน (ปัจจุบัน คือ วัดศรีล้อม) พร้อมด้วยพระฤาษี 5 องค์ได้ติดตามอุปฐากพระองค์มาแต่ลังกาทวีป พระองค์ทรงฉันภัตตาหาร ณ ที่นั้น เมื่อทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงบ้วนพระโอษฐ์ (บ้วนปาก) พระฤาษีทั้ง 5 ได้นำเอาภาชนะแก้วผลึก มารองรับ ในทันใดนั้นเอง น้ำบ้วนพระโอษฐ์ก็เกิดกระด้างกลายเป็นพระธาตุแข็งขึ้นมา พระฤาษีทั้ง 5 เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก และกลายเป็นความเลื่อมใสและมีความปิติยินดียิ่ง จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า "ภันเต ภควา ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ภาชนะแก้วผลึกที่เต็มไปด้วยพระธาตุนี้ จะให้พวกข้าพระองค์นำไปประดิษฐาน ณ ที่ตรงไหน จึงจะสมควร"


พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาส่องญาณ เล็งเห็นว่า ต่อไปข้างหน้าสถานที่นี้จะเป็นบ้านเมืองมีผู้คนมากมาย พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญ ที่จะให้เป็นประโยชน์และเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งปวง จึงตรัสแก่พระฤาษีทั้ง 5 ว่า ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองนี้มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า “เขลางค์บรรพต” สมควรที่ท่านทั้งหลายจะเอาพระธาตุนี้ไปบรรจุไว้ ณ ที่นั่น ครั้นแล้วพระองค์ทรงอธิษฐานถอดเอาพระนขา (เล็บ) และพระเกศา (ผม) ให้แก่พระฤาษีทั้ง 5 เพื่อเอาไปบรรจุไว้ด้วยกัน และเพื่อให้เป็นประโยชน์ แก่ผู้คนซึ่งมีความเลื่อมใส ได้สักการบูชาต่อไป เมื่อพระพุทธเจ้า ตรัสเช่นนี้แล้ว พระฤาษีทั้ง 5 พร้อมด้วยพระอินทร์ ก็รับเอาพระธาตุ จากพระหัตถ์พระพุทธองค์แล้วก็ทูลลา มุ่งหน้าไปสู่เขลางค์บรรพต ม่อนพระยาแช่ พระอินทร์ได้เนรมิต สถานที่บรรจุพระธาตุ อยู่บนภูเขาสูง เป็นช่องลึก 100 วา กว้าง 8 ศอก



ส่วนพระฤาษีทั้ง 5 ก็ผลัดเปลี่ยนกันอุปฐาก รักษาพระเจดีย์ในที่ต่างๆ ดังนี้ พระฤาษีองค์ที่ 1 เป็นผู้พี่ให้รักษายังต้นศรีมหาโพธิ์ วัดศรีล้อม, พระฤาษีองค์ที่ 2 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า วัดม่อนคีรีชัย, พระฤาษีองค์ที่ 3 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า พระธาตุดอยแล, พระฤาษีองค์ที่ 4 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า วัดพระธาตุดอยสุเทพ และ พระฤาษีองค์ที่ 5 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า ดอยยัสสะกิตติ(เขลางค์บรรพต วัดม่อนพระยาแช่)


ส่วนที่มาของชื่อ "ม่อนพระยาแช่" พระฤาษีองค์ที่ 5 นามว่า "สุพรหมฤาษี" น้องสุดท้องเป็นผู้มีวิชา ปัญญาอันเฉลียวฉลาดยิ่งนัก มีความสามารถทำทองได้และรู้จักวิธีผสมยาสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้
ในขณะนั้น ยังมี พระยาลัวะคนหนึ่ง ชื่อ “พระยาวุฑโฒ” มีอายุได้ 100 ปี อยู่ขุนแม่ระมิงค์เชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจากพรานป่าว่า พระฤาษีน้องสุดท้องท่านมีความสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้ พระยาวุฑโฒก็มีใจอยากจะเป็นหนุ่ม จึงสั่งให้เตรียมไพร่พลโยธาและให้พรานป่าเป็นผู้นำทาง หาพระฤาษีเพื่อชุบให้กลายเป็นคนหนุ่ม  โดยพระฤาษีก็จัดแจงผสมยาขนานต่าง ๆ รวมได้ 4 ขนาน ใส่หม้อดินต้มทิ้งไว้ให้เย็น แล้วพระฤาษีจึงบอกให้พระยาวุฑโฒลงไปนอนในอ่างยา แต่พระยาวุฑโฒเกิดความกลัว ได้ขอให้พระฤาษีทดลองให้ดูก่อน ซึ่งก่อนจะลงท่านพระฤาษีก็ได้อธิบายให้พระยาวุฑโฒ ให้รู้จักวิธีผสมยาจนเป็นที่เข้าใจดังนี้


ระยะที่1 พอนอนลงไปในอ่างยาแล้วเนื้อตัวละลาย ให้เอาขนานที่ 1 ใส่ จะกลายเป็นน้ำขุ่นข้นขึ้นมาเหมือนข้าวยาคู, ระยะที่2 แล้วเอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไปก็จะเป็นตัวไหวดิ้นขึ้นมาได้, ระยะที่3 ให้เอายาขนานที่ 3 ใส่ลงไปก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้อย่างเก่า, ระยะที่4 ให้เอายาขนานที่ 4 ใส่ลงไป พอใส่ยาแล้วจะรู้จักพูดจาได้และกลับกลายเป็นหนุ่มขึ้นมาเลย


หลังจากอธิบายให้พระยาวุฑโฒเข้าใจดีแล้ว พระฤาษีก็ลงนอนในอ่างยาแล้วสลบละลายกลายเป็นน้ำไป พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 1 ใส่ลงไป น้ำนั้นก็ขุ่นมัวเหมือนข้าวยาคู แล้วก็เอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไป พระฤาษีก็ไหวตัวดิ้นเป็นเกลียวเหมือนงูเกี้ยวกัน ชูคอขึ้นมาเหมือนงูเห่า พระยาวุฑโฒเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัวจนตัวสั่น ด้วยความประหม่า ทำให้หยิบยาผิดโดยนำยาขนานที่ 4 ใส่ลงไป เนื้อตัวพระฤาษีจึงเกิดกระด้าง ไม่ไหวติงกาย เมื่อเห็นดังนั้น พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 3 ใส่ลงไปอีก ยิ่งทำให้พระฤาษีแน่นิ่งไปไม่ไหวติงกายแต่ประการใด เป็นอันว่าพระฤาษีสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วน “พระยาวุโฒ” ก็มีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้วก็เกิดโรคาพาธมีอาการกระวนกระวาย จิตใจก็ระลึกถึงแต่เหตุการณ์ที่ได้กระทำมานั้น จิตใจคิดอยากกลับมายังที่อยู่ของพระฤาษีตลอดเวลา ในที่สุดก็เดินทางกลับมายังดอยยัสสะกิตติ(เขลางค์บรรพต) เมื่อมาถึงแล้วก็ให้คนตักน้ำใส่อ่างยา แล้วตนเองก็นอนแช่ ก็รู้สึกว่าสบาย พอลุกขึ้นจากอ่างยา ก็ร้อนกระสับกระส่าย ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนทนไม่ไหว ก็บอกเสนาว่า เรานี้เห็นจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่รอดแล้ว เวลาเราตายไปแล้วขอให้เอาศพไปเผาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ครั้นสั่งเสร็จแล้วก็สิ้นใจตาย สถานที่ที่พระยาวุฑโฒนอนแช่ตายอยู่นั้น จึงเรียกว่า "ม่อนพระยาแช่" มาจนถึงทุกวันนี้


พระธาตุ "วัดม่อนพระยาแช่" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2478 มีบันไดทางขึ้นพระธาตุทั้งหมด 585 ขั้น เพื่อไปนมัสการพระธาตุและพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารซึ่งมีความสวยงามมาก สำหรับพระธาตุนี้ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าทราบว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปีมาแล้ว  ทั้งนี้ งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ วัดม่อนพระยาแช่ จัดขึ้นประจำทุกปีในเดือนมิถุนายน เพื่อสืบทอดและรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความสามัคคีในการทำงานเป็นกลุ่มคณะ ภายในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ขบวนแห่ครัวตานของหมู่บ้าน/ ชุมชนต่างๆ

สำหรับผู้ที่นมัสการพระธาตุที่วัดม่อนพระยาแช่ สามารถใช้ศึกษาทางโบราณคดีได้ จากสภาพธรรมชาติซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ทำให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ และศึกษาอีกหลายจุด เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ บ่อสองพี่น้อง เส้นทางศึกษาธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยฝรั่ง ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของดอยพระบาท มีลานขนาดกว้างสามารถพักแรมได้ไม่น้อยกว่า 500 คน และมีสนสองใบและพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นอยู่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้งตัวจังหวัดลำปางและอำเภอแม่เมาะ ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างเด่น รวมถึงจะมีสภาพบรรยากาศ ในแต่ละฤดูที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีตะไคร่น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป เหมาะจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองลำปาง มากนัก

                                                                    เรื่อง : กอบแก้ว แผนสท้าน...
                                                                        ภาพ : thainorthtour.com, FotoBUG, I'm touronthai

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์