เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ณ ห้องมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรมการเกษตรแนวตั้ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง โดยมี นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และนายสานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรกรรมแนวตั้งในประเทศไทย เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ อ.แม่เมาะ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการทำเกษตรกรรมแนวตั้ง อันเป็นการบูรณาการระหว่างความเชี่ยวชาญด้านพลังงานของ กฟผ. เข้ากับเทคโนโลยีการทำเกษตรสมัยใหม่ที่จะก่อให้เกิดอาชีพและรายได้แก่คนในพื้นที่ จ.ลำปาง ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใน จ.ลำปาง สู่ตลาดเป้าหมาย และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมสู่สังคม เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่

นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะกล่าวว่า ในนามของ อ.แม่เมาะ มีความยินดีอย่างยิ่งที่โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรมการเกษตรแนวตั้ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา ที่ผ่านมาเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกโดยการพึ่งพาฟ้าฝนตามฤดูกาลธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งแสงแดด คุณภาพดิน ปริมาณน้ำฝน ทำให้ผลผลิตไม่มีความแน่นอน หรือบางปีอาจไม่ได้ผลผลิตที่ดีตามคาด โครงการฯ นี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนา อ.แม่เมาะ โดยเฉพาะพื้นที่อพยพ ต.บ้านดง ทั้งยังสามารถต่อยอดโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ของ อ.แม่เมาะ ได้อีกด้วย

สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรมการเกษตรแนวตั้ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง เป็นความร่วมมือของ กฟผ. และบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใน อ.แม่เมาะ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนงานด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ภายใต้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City)
ซึ่งการทำเกษตรกรรมแนวตั้งเป็นการทำเกษตรยุคใหม่ เป็นการปลูกพืชแบบไร้ดิน ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตเยอะกว่าการเกษตรแบบเดิม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำเกษตรได้ ทั้งยังช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ โรคและแมลงศัตรูพืช คุณภาพดิน คุณภาพน้ำ ตลอดจนการควบคุมผลผลิต และปัญหาพื้นที่การเพาะปลูกที่จำกัด ทั้งยังช่วยลดปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมได้อีกด้วย นอกจากนั้นการทำเกษตรกรรมแนวตั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ และเสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อีกด้วย โดยจะนำร่องดำเนินโครงการในพื้นที่อพยพ ต.บ้านดง ก่อนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ใน อ.แม่เมาะ และ จ.ลำปาง ต่อไป


0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น