วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 พระอาจารย์สาธิต ธีรปญฺโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ , ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคจังหวัดลำปาง ,เลขานุการคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความเหลือมล้ำ และความเป็นธรรม มูลนิธิโพธิยาลัย พร้อมด้วยนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ นางสุณิสา ธิจู รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด และคณะในนามคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆ ของประชาชนตำบลสบป้าด เดินทางเข้ายื่นหนังสือแก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ติดตามมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งผู้ตรวจการแผ่นดินที่สั่งให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎร ที่ถูก กฟผ.แม่เมาะ อพยพออกจากพื้นที่เดิมที่เป็นโฉนดมาอยู่ในที่ป่าสงวน
พระอาจารย์สาธิต ธีรปญฺโญ เปิดเผยว่า มีหลายพื้นที่หมดสัญญาที่ กฟผ.ขอเช่ากับกรมป่าไม่ ผู้ถูกอพยพมาอยู่กลายเป็นผู้บุกรุกป่าสงวน และงบประมาณต่างๆ เช่น งบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ งบ อบต. , งบเทศบาล , งบอบจ.ไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่อยู่ซึ่งเป็นป่าสงวนนั้นได้ เช่น บ้านเวียงหงษ์ ตำบลแม่เมาะ เป็นต้น หลายพื้นที่ที่ถูกอพยพมาอยู่ในเขตป่าสงวน เช่น บ้านฉลองราช ตำบลสบป้าด ที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะขอเช่ากับกรมป่าไม้กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 24 สิงหาคม 65 นี้ และมีท่าทีว่า กฟผ.แม่เมาะ จะไม่ต่อสัญญา
พร้อมกันนี้ ทางคณะได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ไม่เป็นธรรม และอาจผิดระเบียบ
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้ขับเคลื่อนให้สังคมเห็นว่า กฟผ.แม่เมาะ มีข้อบกพร่องด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหิน โดยในปี 2541 ได้ปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายประชาชน ซึ่งภายหลังได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการทางยุติธรรมแล้วว่าผิดจริง จึงมีการชดเชยเยียวยาตามที่เป็นข่าว และหนึ่งในการชดเชยเยียวยานั้น คือการตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งมีงบประมาณกว่าปีละ 300 ล้านบาท เอาไว้สำหรับเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 10 กว่าปี สมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ไม่ได้เข้าไปร่วมเป็นกรรมการบริหารจัดการเงินกองทุนดังกล่าวเลย ต้ องรอให้คณะกรรมการกองทุน พิจารณาให้ปีละ 6 แสนบาท ซึ่งมาจากงบประมาณกองทุนระดับตำบล 3 แสนบาท และงบประมาณกองทุนระดับอำเภอ 3 แสนบาทเท่านั้น ทั้งที่ในรายงานความคิดเห็นก่อนจะสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน โรงที่ 4-7 ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรให้กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในฐานะประธานกองทุน ได้นำงบประมาณไปสนับสนุนอำเภอต่างๆ และกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัดกว่าร้อยล้านบาท ละเลยเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยและชราภาพไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในรัศมีห้ากิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะตามระเบียบกองทุนดังกล่าว
ดังนั้นเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะจึงอยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบและให้มีการจัดสรรเงินกองทุนใหม่ โดยให้เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะได้รับงบประมาณเท่ากับจำนวนงบประมาณที่มอบให้หมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอแม่เมาะ จำนวน 44 หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม นางมะลิวรรณ กล่าว
นอกจากนั้นทางคณะชาวบ้านยังได้ยื่นร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากกลิ่น เสียง และน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านตำบลสบป้าด และตำบลแม่เมาะ รวมถึงเรื่องที่ดินของผู้ถูกอพยพที่ กฟผ.แม่เมาะอพยพมาอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่ กฟผ.แม่เมาะ ขอเช้าใช้พื้นที่ 30 ปี และใกล้หมดสัญญาเช่าแล้ว รวมจนถึงเข้าปรึกษากับผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้าถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเชิงวิชาการในเรื่องต่างๆ ในพื้นที่
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น