วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง’ เหตุการณ์ลำปางยุค‘บุพเพสันนิวาส2’


            ถ้าถามว่าช่วงนี้ภาพยนตร์เรื่องไหนในสยามกำลังมาแรง ก็คงจะไม่พ้น “บุเพสันนิวาส 2” ที่ออเจ้าทุกคนตั้งตารอคอยเป็นแน่เจ้าค่ะ ก็จะขอแอบเปรยๆ นิดๆ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู ว่าเรื่องราวของภาค 2 นี้  จะพาเราย้อนเวลามาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นชาติถัดมาของแม่นางการะเกด(ภาคแรก) หรือแม่เกสรในภาคนี้นั่นเอง เรื่องราวของภาคนี้จะเกิดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เข้มข้นขึ้นมากมายที่ถูกขมวดไว้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ต้องยกนิ้วให้กับความสามารถของทีมงานทั้งหมดจริงๆ

            ด้วยความรักในบ้านเกิดเมืองนอนระหว่างที่กำลังนั่งย้อนยุคไปในสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงบุพเพสันนิวาส 2 ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่นั้น ก็เกิด เอ๊ะ! ขึ้นมาในใจว่า แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน อีกมุมหนึ่งของดินแดนสยาม ที่เมืองเขลางค์นครของเราช่วงนั้นมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง

  


            ในช่วงที่เรื่องราวของแม่เกสร (เบลล่า ราณี) และคุณพี่ภพ (โป๊ป ธนวรรธน์) กำลังดำเนินไป อีกฟากของสยามในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือหรือลำปางนั้น ก็กำลังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงรับความสวามิภักดิ์ของชาวมณฑลพายัพที่นครลำปางนี้เป็นประถมเหตุที่บ้านเมืองทั้งมณฑลจะพ้นจากอำนาจพม่า มารวมในประเทศสยามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (มณฑลพายัพ เป็นมณฑลหนึ่งในการปกครองส่วนภูมิภาคระบบมณฑลเทศาภิบาลของราชอาณาจักรสยาม ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน) พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ศาลากลางจังหวัดลำปางในพระราชวโรกาสเสด็จเยือนจังหวัดลำปาง ในวันที่ 11 มกราคม 2469

            ช่วง พ.ศ.2325-2435 ถือเป็นยุคของลำปางก่อนสมัยการจัดรูปการณ์ปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญอยู่ 2 ช่วงด้วยกัน



ภาพ : ไปกาด – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง

 

            ช่วง 22 ปีแรกนั้น (พ.ศ.2325-2347) นักประวัติศาสตร์เรียกว่า เป็นยุค เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งเป็นช่วงการฟื้นฟูเชียงใหม่และต่อสู้ขับไล่พม่าออกจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งในช่วงนั้นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ถือได้ว่าเป็นพระเอกของชาวล้านนาในยุคนั้น ก็คือ เจ้ากาวิละและพี่น้องวงศ์เจ้าเจ็ดตนซึ่งมีฐานที่มั่นที่ลำปาง 

เจ้ากาวิละ


 
            เริ่มต้นเมื่อปี 2325 ที่เจ้ากาวิละและเจ้านายพี่น้อง ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางอำนาจของล้านนาในช่วงนั้น โดยขณะนั้นเชียงใหม่มีสภาพที่ไม่ต่างจากเมืองร้างเลยก็ว่าได้ และนี่เป็นที่มาของภารกิจแรกของเจ้ากาวิละและกลุ่มเจ้าเจ็ดตน คือ การรวบรวมไพร่พลเมือง และฟื้นฟูเชียงใหม่อีกครั้ง โดยการต่อสู้ขับไล่กับพม่าที่ช่วงนั้นอำนาจยังแกร่งกล้า  และรวบรวมกำลังพลคืนมาจากการยึดครองเมืองเล็กเมืองน้อยของสยามจากพม่า ซึ่งก็ได้อาศัยลำปางเป็นเมืองหลบภัยและสะสมไพร่พลไว้ต่อสู้กับพม่า ด้วยประการฉะนี้นักประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคนี้ว่า ยุค เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”

            88 ปีต่อมามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อรัฐบาลกลางมีนโยบายให้ยกเลิกระบบเจ้าเมือง กลุ่มตระกูลเจ้าเจ็ดตนก็ได้สลายตัวไป เมืองเขลางค์ในฐานะเมืองประเทศราชของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ก่อนสมัยการจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2347-2435)  เมื่อขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้โดยเด็ดขาดแล้ว ราชอาณาจักรสยามจึงปกครองล้านนาในฐานะเมืองประเทศราช คือให้อิสระและอำนาจเจ้าเมืองท้องถิ่นในการปกครองดินแดนตามแบบประเพณีวัฒนธรรมของตนอย่างเต็มที่ แต่ต้องแสดงความภักดีต่อรัฐบาลกลางนั่นเอง

            กว่า ไทย  จะได้เป็น ไท กว่าจิ๊กแต่ละชิ้นของขวานทองผืนนี้ที่เรายืนอยู่จะได้กลับมารวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้นั้นไม่ง่ายเลย ดังนั้นเราควรภูมิใจในความเป็นไทย ในภาษา ในเสื้อผ้าที่เป็นของเรา สนับสนุนของของเรา และในโอกาสนี้ต้องขอยกย่องละครบุพเพสันนิวาสที่ถ่ายทอดความเป็นไทยได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจ ปลุกความรักชาติไปทั่วแผ่นดินทองในช่วงเวลานี้ด้วยหัวใจ

 

ในยุคนั้นเราอาจจะเป็นออเจ้าของใครคนหนึ่ง ที่ตามมาเป็นพรหมลิขิตของกันในชาตินี้ก็ได้.......

 

อ้างอิง : http://www.lampang.go.th/history/history.php?fbclid=IwAR3lhs9VYbGVVvcTY_83NwVsRxGwjkepkV7J_88s4jXS2-Yvej30B3Kvw_0

Share:

2 ความคิดเห็น:

  1. คำตอบ
    1. ขอบคุณมากค่า ติดตาม content ต่างๆได้ทางเพจ lannapost ได้เลยนะคะ ^^

      ลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์