วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565

กฟผ. ร่วมกับ กรมป่าไม้ ลงนามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบ พื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ เนื้อที่ 52 ไร่

  


เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ อาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ ร่วมกับกรมป่าไม้ ลงนามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบพื้นที่ที่ กฟผ. ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้บางส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ เนื้อที่ 52 ไร่ ท้องที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

 

โดยมี นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เป็นผู้แทน กฟผ. และ นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) เป็นผู้แทน กรมป่าไม้ ร่วมลงนาม จากนั้น คณะผู้บริหารทั้งเหมืองแม่เมาะและสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่อนุรักษ์ซากหอยขมดึกดำบรรพ์แม่เมาะ

 

สำหรับบันทึกการส่งมอบ-รับมอบพื้นที่ดังกล่าวมีสาระสำคัญ โดย กฟผ. เรียกว่า ผู้มอบ และ กรมป่าไม้ เรียกว่า ผู้รับมอบ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงส่งมอบ-รับมอบ พื้นที่ ดังนี้

 


1. พื้นที่ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 50 ฉบับที่ 58 เพื่อทำประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ โครงการขยายเหมืองแม่เมาะ เนื้อที่ 11,734 ไร่ 3 งาน 44.05 ตารางวา อนุญาตจนกว่าจะหมดความจำเป็น บริเวณที่ส่งมอบ-รับมอบ มีเนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา โดยคงเหลือเนื้อที่อนุญาตฯ 11,702 ไร่ 2 งาน 29.05 ตารางวา

 

2. พื้นที่ตามประกาศกรมป่าไม้ เรื่อง กำหนดบริเวณพื้นที่ให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ ฉบับที่ 19/2533 เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงที่ 1-11 อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ สำนักงานที่ทำการ โรงงาน บ้านพัก และบ่อเหมืองลิกไนต์ สิ้นอายุการอนุญาตแล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 บริเวณที่ส่งมอบ-รับมอบ มีเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา

 

3. พื้นที่ตามใบอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 (ป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ) ป.84-3 เล่มที่ 003 ฉบับที่ 22 เพื่อการทำเหมืองแร่ลิกไนต์ คำขอประทานบัตรที่ 35/2553 เนื้อที่ 289 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา สิ้นอายุการอนุญาต 17 สิงหาคม 2568 บริเวณที่ส่งมอบ-รับมอบ มีเนื้อที่ 1 ไร่ 0 งาน 69 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่อนุญาตฯ 297 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา

 

4. พื้นที่ตามใบอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 (ป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ) ป.84-3 เล่มที่ 003 ฉบับที่ 40 เพื่อใช้เป็นที่เททิ้งมูลดินทรายมีเนื้อที่ 0 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา คงเหลือเนื้อที่อนุญาตฯ 2,517 ไร่ 0 งาน 60 ตารางวา

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.680/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อ.785/25612 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2561 และมติที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ครั้งที่ 2/2562 วันที่ 23 สิงหาคม 2562 โดยผู้มอบจึงขอส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับผู้รับมอบดำเนินการต่อไป

 


นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้รับความอนุเคราะห์ ความช่วยเหลือ รวมถึงคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานจากกรมป่าไม้มาโดยตลอด ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือด้านต่าง ๆ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งต่อไป

 


กฟผ. ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานและระบบไฟฟ้าของประเทศไทย จากสถานการณ์พลังงานของโลกมีผลต่อประเทศที่ปรับขึ้นราคาต่อเนื่อง เห็นได้ชัดในเรื่องค่าเชื้อเพลิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งการดำเนินงานของ กฟผ. แม่เมาะ จะช่วยเฉลี่ยค่าไฟให้ราคาต่ำลง เพราะต้นทุนที่ผลิตจากถ่านหินลิกไนต์ส่งให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ถือเป็นต้นทุนที่ต่ำสุด

 

ขณะที่ นายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กล่าวว่า เหมืองแม่เมาะ เป็นแหล่งความมั่นคงทางด้านพลังงาน ทางกรมป่าไม้เอง ให้ความสำคัญและพร้อมให้ความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมแก้ไข้ปัญหา การลงพื้นที่ครั้งนี้มีความยินดีเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ยังได้ให้ทีมงานส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ให้การประสานงานในอนาคตเป็นไปด้วยความราบรื่น

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์