วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กฟผ.เล็งหนุนชุมชน สร้างรง.ชีวมวลอัดเม็ด สร้างรายได้-ลดหมอกควัน

         ร้อยละ 90 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศไทย  คือ พลังงานเชื้อเพลิง  น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และถ่านหิน  ยังเป็นส่วนน้อยสำหรับ พลังงานทางเลือก เช่น ชีวมวล  แก๊สชีวภาพ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ  เมื่อพลังงานหลักมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พลังงานทดแทนจึงเป็นทางเลือก ที่ช่วยลดต้นทุนได้มาก   โดยเฉพาะ พลังงานชีวมวล ซึ่งหาได้ง่ายจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย 

 


            กฟผ.แม่เมาะ ได้เริ่มโครงการ Biomass Co-Firing  นำเชื้อเพลิงชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดต้นทุน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี  มีเป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  Mea Moh Smart City นำเสนอความโดดเด่นด้านพลังงานอัจฉริยะ  Smart Energy ซึ่งโครงการนี้ ได้เริ่มศึกษาและทดลองมาตั้งแต่ปี 2562  กระทั่งได้เริ่มทดลองใช้จริงในปี 2564 และมีแผนจะต่อยอดสู่ชุมชนให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน

 


                นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ เล่าความเป็นมาของโครงการว่า กฟผ.แมเมาะ ได้เริ่มศึกษาโครงการ biomass co-firing  มาตั้งแต่ปี 2562  ซึ่งเป็นการศึกษาทางด้านเทคนิคและเริ่มทดลองนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาเป็นชีวมวลอัดเม็ด(Biomass pallet) นำเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ช่วงปลายปี  2564  และเป็นช่วงที่เริ่มโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  Mae Moh Smart City    ต่อมาต้นปี 2565  ได้มีโครงการรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากวิสาหกิจชุมชนตำบลจางเหนือ อ.แม่เมาะ  จำนวน 1,000 ตัน  เพื่อนำมาอัดเม็ดและเผาร่วมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้า  ซึ่งถือว่า กฟผ.แม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยที่มี  Biomass co-firing 

             ซึ่งวัตถุประสงค์ของการดำเนินการ  นอกจากจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแล้ว  ยังเป็นการลดปัญหาการเผาที่มาของหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ลงได้ด้วย  เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนจากเศษเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นพลังงาน  จึงช่วยตอบโจทย์ได้ทั้ง  3 ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ  ด้านพลังงาน และด้านสิ่งแวดล้อม

 


                หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กล่าวว่า ในปีหน้า กฟผ.จะขยายการรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็น 5,000 ตัน โดยร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 3 ผ่านสมาคมศูนย์รับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลของ จ.ลำปาง โดยจะรับซื้อใน จ.ลำปางเป็นหลักก่อน หากไม่เพียงพอจะมีการรับซื้อจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ ที่เป็นเครือข่ายของสมาคมในพื้นที่ภาคเหนือ 

             “เดิมเชื้อเพลิงชีวมวล 1,000 ตัน ที่รับซื้อเข้ามาทำชีวมวลอัดเม็ด  เป็นสัดส่วนเพียง 0.2 % ถือว่ายังน้อยมาก  จากการศึกษาข้อมูล หากใช้ชีวมวลอัดเม็ด มาเผาร่วมกับถ่านหิน ในปริมาณ  2% ของโรงไฟฟ้าตามที่กำหนดไว้  ซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ใดๆในตัวโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเครื่องที่  8-13 จะใช้ชีวมวลอัดเม็ดประมาณ  2 แสนตันต่อปี”    

 





            ขณะที่การใช้ชีวมวลอัดเม็ดเข้ามาเผาร่วมกับถ่านหินนั้น แน่นอนว่าต้องมีข้อดีและข้อเสียเช่นกัน  

            ในเรื่องนี้  นางเกษศิรินทร์  ให้ข้อมูลว่า  ถ้าเทียบต้นทุนระหว่างชีวมวลอัดเม็ดกับถ่านหินลิกไนต์ ต้นทุนของชีวมวลอัดเม็ดจะสูงกว่า ถ่านหิน โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน อยู่ที่ 1.60 บาทต่อหน่วย ส่วนชีวมวลอัดเม็ด ประมาณ  2 บาทกว่าต่อหน่วย แต่สัดส่วนของชีวมวลอัดเม็ดมีเพียง 2% ยังถือว่าไม่มาก สิ่งที่ กฟผ.ได้คือการทำ CSR  ร่วมกับชุมชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม หมอกควัน ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ถ้าในอนาคตสามารถเปลี่ยนโรงไฟฟ้าที่ปลดระวาง เช่น โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 8 มาเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ทั้งโรง  จะสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลถึง  1.3ล้านตัน เท่ากับการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือได้เกือบทั้งหมด  

             และการใช้ชีวมวลอัดเม็ดจะมีค่าความร้อนสูงกว่าถ่านหินลิกไนต์ เมื่อนำมาใช้จะช่วยลดปริมาณถ่านหินลงไปได้  ที่สำคัญคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   ซึ่งเป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก จากการประเมินโครงการนี้  สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ประมาณ 1,000 ตันต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษาเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างค่าไฟ  เพราะชีวมวลต้นทุนสูงกว่าถ่านหิน อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น  แต่การจะแก้ปัญหาหลายๆด้าน  ดังนั้นจึงต้องศึกษาและพิจารณาในส่วนนี้อย่างถี่ถ้วน  


 

            สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีการปรับปรุงรายละเอียดโครงสร้างค่าไฟฟ้าดังที่กล่าวข้างต้น จึงยังไม่สามารถใช้งบประมาณสำหรับจัดสรรเชื้อเพลิงต้องใช้งบประมาณ CSR เข้ามาช่วย  ดังนั้น ในปี  2566  ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 18 ล้านบาท  ถ้าเมื่อไรที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มชนิดเชื้อเพลิงได้ถูกต้องตามระเบียบ จากถ่านหินเป็นชีวมวลอัดเม็ด ก็จะสามารถใช้งบประมาณที่จัดสรรเชื้อเพลิงเข้าไปซื้อได้   ซึ่งมีคณะทำงานที่อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าในเรื่องนี้อยู่

 



            เมื่อ กฟผ.ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ชีวมวลอัดเม็ดแล้ว  ก้าวต่อไปคือการต่อยอดไปยังชุมชนให้เป็นผู้ผลิตเอง  

         นางเกษศิรินทร์  กล่าวว่า จากที่ชุมชนนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาส่งขายให้ กฟผ.ในอนาคตจะมีการเปลี่ยน  เราจะทำโมเดลให้ชุมชนตั้งโรงงานอัดเม็ดชีวมวลเองได้เลย โดยส่งโมเดลให้ทางชุมชนพิจารณาขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เรามองว่าชุมชนจะได้กำไรถึง 2 ส่วน คือ การขายเชื้อเพลิงชีวมวล และรายได้จากการขายชีวมวลอัดเม็ดให้โรงไฟฟ้า  ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้ถึงตันละ 3,700 บาท  จะทำให้ชุมชนมีรายได้ปีละประมาณ 1 ล้านบาท ด้าน กฟผ.จะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในการให้ข้อมูล ฝึกฝน แนะนำวิธีการทำงานต่างๆ    ในปี 2566 คาดว่าจะเริ่มต้นแบบพื้นที่ ต.จางเหนือได้  1 แห่ง  หากชุมชนขับเคลื่อนได้จะขยายเพิ่มไปในพื้นที่อื่นต่อไป  

            การผลิตชีวมวลอัดเม็ด (Biomass pallet) หนึ่งในโครงการของ Mae Moh Smart City ด้าน Smart Energy  ที่ กฟผ.แม่เมาะได้ปูรากฐานไว้แล้ว แต่การต่อยอดจะสำเร็จได้หรือไม่ อยู่ที่ความร่วมไม้ร่วมมือและความเข้มแข็งของชุมชน

Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ02 ธันวาคม, 2565 18:24

    ช่วยขยายแหล่งผลิตชีวมวลอัดเม็ดกระจายตามอำเภออื่นๆ.และตามหมู่บ้านให้มากๆครับ

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์