วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ป.ป.ช.ยันผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังศาลรับฟ้องคดี ย้ำชัดไม่ต้องรอให้ใครสั่ง เตรียมสำรวจคดีและส่งเรื่องถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมาย



จากกรณีที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 ได้จัดให้มีการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. ในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด  เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักงาน ป.ป.ช.ลำปาง   โดยในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันในประเด็นของผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อศาลประทับรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่  




นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 5  กล่าวว่า  กรณีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นหลังจากศาลได้ประทับฟ้องนั้น  ทาง ป.ป.ช ได้ติดตามเรื่องลักษณะเช่นนี้ของแต่ละพื้นที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง  ซึ่งในหลายหน่วยงานเมื่อเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนก็พยายามหลบข้อกฎหมาย  โดยใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น ขอให้ทบทวนมติโดยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่   เมื่อมีการอ้างขึ้นมาทาง ป.ป.ช.ก็ต้องนำมาพิจารณาและลงความเห็นทุกเรื่อง  แต่สุดท้ายถ้ายืนยันมติเดิม ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ  ซึ่งบางครั้งการสอบสวนวินัย กับการที่ศาลประทับรับฟ้องจะไม่ได้เป็นช่วงเวลาเดียวกัน 

โดยปกติแล้วเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่  เดิมถ้าเป็นคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังศาลประทับรับฟ้องแล้วจะมีคำสั่งมาเลย   แต่ถ้าเป็นกฎหมายศาลคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ อาจจะไม่ได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่   ดังนั้นผู้บริหารท้องถิ่นจึงยังคงทำหน้าที่ต่อ และหาวิธีในการต่อสู้คดีทุกรูปแบบ   สิ่งที่ ป.ป.ช.เป็นห่วงใยก็คือ  เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทุกสิ่งในการพิสูจน์พยานหลักฐานอาจจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้เป็นพยาน ที่ทำงานอยู่ท้องถิ่นเดียวกัน  หลายคนเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยหรือได้รับผลกระทบจากการทำงานหากผู้บริหารยังคงทำหน้าที่อยู่




นายอนิวัต โพธิ์ประเสริฐ  ผอ.ป.ป.ช. จ.ลำพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ประเด็นนี้มีปัญหามาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากการหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. แต่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายของศาลคดีทุจริตฯ  ซึ่งทาง ป.ป.ช.มีการไต่สวนคดีและส่งสำนวนฟ้องศาลจำนวนมาก  ทำให้ไม่ทราบว่าคดีไหนที่ศาลประทับรับฟ้องแล้วบ้าง  จึงกลายเป็นประเด็นอีกว่า ใครเป็นผู้แจ้งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่   เมื่อไม่มีใครแจ้งบางคนก็นิ่งเฉยและยังคงทำหน้าที่ล่วงเลยมา เนื่องจากมีเรื่องค่าตอบแทน เงินเดือนเข้ามาเกี่ยวข้อง   ในเรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้เคยพูดคุยกับศาลคดีทุจริตภาค 5 แล้ว  แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อผู้บริหารท้องถิ่น หรือตำแหน่งใดๆ  ถ้าศาลประทับรับฟ้องแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยปริยาย



ด้านนายเนติพล ชุมยวง ผอ.ป.ป.ช. จ.เชียงราย  เพิ่มเติมด้วยว่า   ในเรื่องของการหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้มีการถกเถียงและตีความกันมาเยอะมาก  กระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม 65  กฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ประทับฟ้องแล้ว ผู้กำกับดูแลผู้บริหารท้องถิ่น จะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อีกหรือไม่นั้น  เห็นว่า เมื่อการหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นโดยผลของกฎหมาย มาตรา 93 ประกอบมาตรา 83  พ.ร.บ. ป.ป.ช.แล้ว   ผู้กำกับดูแล จึงไม่ต้องมีคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่อีก   แต่ผู้กำกับดูแลยังคงมีหน้าที่จะต้องดูแลให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามผลของกฎหมายอย่างเคร่งครัด  

ความหมายก็คือ เมื่อศาลประทับรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันที แต่ถ้าไม่หยุด ผู้กำกับดูแลซึ่งในที่นี้ตีความได้ว่าคือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด จะต้องดำเนินการสั่งให้หยุด  ตอนนี้ ป.ป.ช.เองได้มีการสำรวจเรื่องที่ศาลประทับรับฟ้องว่าเรื่องใดบ้างที่นายกฯยังไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่บ้าง  และจะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าฯให้ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป








Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์