วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565

พลิกโฉม ’ไร่แม่ฟ้าหลวง’ ด้วยมิติใหม่ Light of Life



อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่คนเรียกติดปาก ”ไร่แม่ฟ้าหลวง” ศูนย์รวบรวมศิลปวัตถุของล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคบนพื้นที่ 150 ไร่ เดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ มุ่งเป็นศูนย์รวมงานศิลปะร่วมสมัยใจกลางเมืองเชียงราย ล่าสุด กองทัพศิลปินสื่อผสม นักออกแบบ ภูมิสถาปนิก รวมถึงสตูดิโอชื่อดังมาร่วมสรรค์สร้างศิลปะในงาน  Light of Life : นิทรรศการแสงไฟ กลไก และภาพเงาที่บอกเล่าการเดินทางของชีวิต พลิกโฉมไร่แม่ฟ้าหลวงแห่งนี้ให้ดึงดูดคนที่รักงานศิลปะ และเพิ่มศักยภาพ จ.เชียงราย ให้กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงศิลปะอย่างมีคุณภาพในระยะยาว จัดโดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

งานนี้ เน้นนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบงานศิลปะเป็นเป้าหมายใหม่  หวังปรับลุคเชียงรายเป็นเมืองที่คนรุ่นใหม่มาเสพศิลป์กัน  สำหรับ Light of Life นำเสนอศิลปะจัดวางแสงไฟตระการตารวม 20 ชิ้น โดยศิลปิน 5 คน และสตูดิโอ 5 แห่ง ที่หลงใหลในแสงไฟมาถ่ายทอดความงามของแสงสีขาว ส่งต่อพลังสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนสู่สิ่งใหม่ นำโดย พล หุยประเสริฐ นักออกแบบคอนเสิร์ตแถวหน้า ที่ชักชวนศิลปินอย่าง วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ,พงศ์ภาสกร กุลถิรธรรม ,กรกต อารมย์ดี, ธัชพล สุนทราจารย์, 27 June Lightis Saturate Design และ H-Lab  รวมถึงศิลปินรับเชิญหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มาสร้างผลงาน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ปีนี้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งและดำเนินงานมาครบ 50 ปี  ก้าวแรกในการทำงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เชียงราย ก็เริ่มต้นที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง  พื้นที่แห่งนี้มีมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมหาศาลที่เราอยากเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ เป็นที่มาการจัดงาน Light of Life ชักชวนดีไซเนอร์มาออกแบบและจัดงานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะมีคุณค่าทั้งกับไร่แม่ฟ้าหลวงและคนรุ่นใหม่ด้วย  

“Light of Life นำเสนอแสงสว่างสีขาวเป็นตัวเอกของงาน  สะท้อนการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างส่องนำทางสังคมตามพระราชปณิธานสมเด็จย่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและชุมชน หม่อมหลวงดิศปนัดดา  ระบุ

            พล หุยประเสริฐ กล่าวว่า   อยากนำเสนอความธรรมชาติของแสง 2700-5500 K ซึ่งเป็นอุณหภูมิตั้งแต่แสงจากไฟหลอดไส้ถึงอุณหภูมิของแสงอาทิตย์ที่ทำให้คนเรามีชีวิต เป็นตัวแทนของพลัง ทำให้เราเคลื่อนไปข้างหน้า อยากให้ผู้เข้าชมได้ซึมซับความสว่างและความมืด  สัมผัสแสงและเงาของตัวเอง อยากชวนมาถ่ายรูปภายในงานนี้ที่ไม่เหมือนที่ไหน



            “ผมเดินชมบรรยากาศในสวนที่อาจารย์นคร พงค์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงออกแบบและดูแลรักษาอย่างดี ได้เห็นงานศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัวอยู่ทุกมุม อยากสร้างสรรค์งานที่มีชีวิตเข้ากับสวนแห่งนี้ เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นความงามดั้งเดิมของที่นี่ด้วย อยากให้คนรุ่นใหม่ซึมซับและส่งต่อศิลปะแห่งการเข้าใจธรรมชาติ ” พล บอก

            ​Light of Life แบ่งเป็น 4 โซน  ได้แก่ โซน  ชีวิต เริ่มจากงาน จุดกำเนิด   ศิลปินออกแบบแหล่งกำเนิดแสงที่จะส่องสว่างจากพลังงานของไฟ 192 ดวง ซึ่งปรากฏขึ้นมาท่ามกลางสายธารแห่งชีวิต  ผลงานวงกต  ศิลปินเล่าผ่านจริตของคนเมือง ใจกลางวงกตที่ยิ่งเข้าใกล้ กลับยิ่งสูงเช่นตึกสูงระฟ้า แม้ว่าจะเป็นแห่งหนที่คุ้นชิน อาจหลงวนในวงกต



โซน  ความคิด   นักออกแบบชวนเข้ามาสัมผัสถึงการมีชีวิตอยู่ผ่านฤดูกาลและสภาพอากาศ ที่เปลี่ยนผันผ่านงานออกแบบกราฟิกที่มาจากการประมวลผลข้อมูลโดยเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น คาร์บอน  ตลอดจนแรงลมกระทบ คือ ชีวิตและชีวาของต้นไม้ ส่วนงาน ”สะท้อน”  ศิลปินสร้างผลงานในนิยามสะท้อนตัวตน ซึ่งประกอบสร้างจากความจริงหลายด้านผ่านชิ้นงานการเคลื่อนไหวที่สอดรับกับองศาหักเหของแสงในมุมที่ต่างกัน




โซน ออกเดินทาง ศิลปินพลิกผืนฟ้าลงสู่ผืนน้ำ สร้างการกำเนิดแสงเป็นจันทร์ลอยเปล่งประกายแสงนวลเสมือนจริงผ่านผลงาน ”จันทร์ลอย”  แล้วยังมีงานศิลป์ พินิจ, แสงจตุรทิศ และวิหารต้นไม้ ให้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ   

สุดท้ายโซน แสง ชวนให้จับต้องงานศิลปะต้นไมยราบยักษ์ แล้วยังมีผลงาน ก้าวผ่าน ล่วงเลย คุณค่า งานศิลปะเคลื่อนไหวของแสงไฟวงกลม 12 วง แทนตัวเลขเวลา ทั้ง 4 โซน จำลองเส้นทางการใช้ชีวิตตั้งแต่ที่เราถือกำเนิด และต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ  เติบโต จนก้าวข้ามความท้าทาย เปิดให้ชม ทุกวันอังคาร – อาทิตย์  พบกาดหมั้ว ดนตรีสด และสาธิตงานศิลปะ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์  ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2565  –  29  ม.ค.2566 เวลา 16.00 – 22.00 น. ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง   จ.เชียงราย



กอบแก้ว แผนสท้าน..เรื่อง

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์