วันเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ
ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้
โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
พิธีเข้าพรรษา ตามปกติจะเริ่มนับในวันเข้าพรรษาแรก
หรือปุริมพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือถ้าหากปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง
ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง
และออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปี 2566 นี้ วันเข้าพรรษา จะตรงกับวันที่
2 สิงหาคม
สำหรับการเข้าพรรษา
หรือภาษาปากว่า จำพรรษา หรือช่วงพักฤดูฝน
("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า
พักอยู่)
ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ที่ละเว้นไม่ได้และเป็นช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญของไทย
ซึ่งกินระยะเวลา 3 เดือน
โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไป
ได้สืบทอดประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สำหรับสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่
ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือน
นั้นมีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเผยแพร่ศาสนาตามสถานที่ต่างๆ
ซึ่งในช่วงฤดูฝน จะมีความยากลำบาก
และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเดินเหยียบย่ำพืชผลของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในฤดูฝน
ขณะที่ช่วงระยะเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือน
ยังเป็นโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาจำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้
และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์
กิจกรรมวันเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง
3 เดือน
พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำกิจกรรมบำเพ็ญกุศลต่างๆ อาทิ
- การเข้าวัดทำบุญใส่บาตร
ฟังพระธรรมเทศนา
- การถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา
- การถวายผ้าอาบน้ำฝน
หรือผ้าวัสสิกสาฏก และจตุปัจจัยให้แก่ภิกษุและสามเณร เพื่อใช้ในช่วงจำพรรษา
นอกจากนี้
ในอดีตชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์
เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน
โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า
"บวชเอาพรรษา"
ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นข้อปฏิบัติสำคัญสำหรับพระภิกษุที่จะละเว้นไม่ได้
แต่ว่าในระหว่างการจำพรรษา อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง
ที่ทำให้พระภิกษุต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่นชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา
แต่ต้องเป็นเหตุจำเป็นเฉพาะกรณีตามที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า
"สัตตาหกรณียะ" ได้แก่
1.การไปรักษาพยาบาล
หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึก
3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์
เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
4.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ
ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทศนาธรรมได้
ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด
7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา
และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น