วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ปธพ.10 สำเร็จการศึกษา ชู10 หัวข้อผลงานวิชาการทางการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาวงการแพทย์สาธารณสุขไทย สอดคล้องนโยบายรัฐบาล พร้อมนำไปปฏิบัติจริง

 


เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566  ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 แพทยสภา - ปธพ.ครั้งที่ 10 โดยแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ขึ้น  ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์   เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเกียรติคุณ แก่นักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 143 คน โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ สภานายกพิเศษแพทยสภา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  อาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา  พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์  และผู้อำนวยการหลักสูตรปธพ.  พร้อมด้วยนักศึกษาปธพ.รุ่น 10 เข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา และเยี่ยมชมบอร์ดนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาและมีกิจกรรมการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 จำนวน 10 หัวข้อวิชาการอีกด้วย

 


นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวบรรยาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ว่า ผลงานวิชาการของนักศึกษาปธพ.10 นั้นตอบโจทย์วงการสาธารณสุขไทยทั้งหมด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล พร้อมนำไปปฏิบัติได้จริง    โดยความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทย มี 9 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพไทยในอนาคต ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ประชากร ลักษณะเฉพาะของคนไทย โรคอุบัติใหม่ เทคโนโลยี การขนส่ง อาหารเกษตรกรรม และ สิ่งแวดล้อม  ประเด็นสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องรับมือคือ โรควัณโรค และอุบัติเหตุจราจร ที่เป็นเรื่องท้าทาย ส่วนในเชิงสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในสังคมทุกภาคส่วน  โดยกระทรวงสาธรารณสุขกำหนดให้เขตสุขภาพ ทั้ง 12 เขต พัฒนา “เมืองสุขภาพดี” เขตละ 1 แห่ง  เพื่อประชาชนมีอายุยืน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวถึงผลงานวิจัย ทั้ง 10 เรื่องของนักศึกษาว่า ทำให้เห็นศักยภาพของความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย  ยกระดับสุขภาวะที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานว่าการทำงานใดๆ จะสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแบบมีธรรมาภิบาล 

 

ด้านพลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ 10 (ปธพ. 10) เป็นความร่วมมือระหว่างแพทยสภา และสถาบันพระปกเกล้า โดยมีผู้บริหารระดับสูงจาก 6 เสาหลัก มาเรียนร่วมกันคือ แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข  ครูแพทย์จากมหาวิทยาลัย แพทย์ทหาร ตำรวจ และภาครัฐ  แพทย์จากภาคเอกชน ผู้บริหารภาครัฐ และ ผู้บริหารภาคเอกชน เพื่อแก้ปัญหาวงการแพทย์ ตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้แพทย์ไทย “อ่อนน้อม ถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” โดยใช้ “ธรรมาภิบาล”เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ 

 


ทั้งนี้ผลงานวิจัยของนักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10  ประกอบด้วย หัวข้อที่ 1 ประสิทธิภาพ และผลกระทบของมาตรการสาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย  หัวข้อที่ 2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะวิกฤตทางการแพทย์ โดยใช้โมเดลการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ศึกษากรณีวัคซีน COVID-19   หัวข้อที่ 3 การศึกษาต้นแบบโมเดลสุขภาพในการบูรณาการการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพของประชาชนไทย: กรณีศึกษาจากโรคมะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR หัวข้อที่ 4 ความรุนแรงภายในสถานพยาบาลต่อบุคลากรทางการแพทย์ และข้อเสนอทางมาตรการกฎหมายเพื่อลดความรุนแรง (Violence against medical personal in Thailand: evidence and mitigation strategies) หัวข้อที่ 5  โครงการศึกษาสมรรถนะร่วมเชิงบูรณาการ (Integrative core competencies) ของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อระบบ บริการสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า หัวข้อที่ 6   Dementia Awareness in Thai Population การตระหนักรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุของประชากรไทย หัวข้อที่ 7 ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคในการให้บริการโทรเวชในมุมมองของผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาล และถอดบทเรียนของการก้าวข้ามอุปสรรคของโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์การให้บริการโทรเวช หัวข้อที่ 8 บทบาทของโรงพยาบาลเอกชน  ในการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตามหลักธรรมาภิบาล  หัวข้อที่ 9  การศึกษาวิเคราะห์การรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงตามหลักธรรมาภิบาล และ หัวข้อที่ 10  ผลกระทบของการโฆษณาโดยแพทย์ในสื่อสังคมออนไลน์ในการดูแลรักษาเรื่องของความงาม โดยผลงานวิจัยทั้งหมดได้ถูกนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้มีการมอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นแนวทางการพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยต่อไป

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์