วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

กฟผ.-ไออาร์พีซี ลงนามเอ็มโอยูกรอบระยะเวลา 3 ปี พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสารสกัดจาก “ลีโอนาร์ไดต์”



            กฟผ. จับมือ ไออาร์พีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือฯ การใช้ประโยชน์ สารสกัดฮิวมิค ฟูวิค และฮิวมินจากวัสดุตั้งต้นลีโอนาร์ไดต์ กรอบระยะเวลา 3 ปี สิ้นสุดปี 69 หวังศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์


            เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหมืองแม่เมาะ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง (รวช.) พร้อมด้วย นางสาววนิดา อุทัยสมนภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชยกิจและการตลาด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ส่งเสริม ต่อยอด ผลักดันนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ทางธุรกิจของนวัตกรรมจนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2569         


            นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง (รวช.) กล่าวว่า ความร่วมมือจากทั้ง 2 หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในครั้งนี้จะสามารถทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจของนวัตกรรมจนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ กฟผ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งจำเป็นประโยชน์ระหว่างกันและยังเป็นผลดีต่อภาพรวมการร่วมมือพัฒนาประเทศด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

            ขณะที่ นางสาววนิดา อุทัยสมนภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชยกิจและการตลาด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อจำหน่ายในปี 2525 และได้ขยายสายการผลิตผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งขยาย โรงงาน และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร จนปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง สนับสนุนการดำเนินอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร เช่น ท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และโรงไฟฟ้า เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีธุรกิจเพื่อการเกษตรนวัตกรรมนาโนซิงค์ออกไซด์ “ปุ๋ยหมีขาว” เป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิต เพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ด้วยธาตุอาหารพืชที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ต่อผู้บริโภค และไม่มีสารตกค้างในผลผลิต



            สำหรับความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ของประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ขยายครอบคลุมอุตสาหกรรมเกษตร และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม นำองค์ความรู้ภายนอกและภายในมาบูรณาการทำธุรกิจตามหลักศรษฐกิจหมุนเวียน นำเทคโนโลยีมาใช้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว

            “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมมือการพัฒนาใช้ประโยชน์ลีโอนาร์ไดต์ ซึ่งเป็น   ผลพลอยได้จากการทำเหมือง นำมาสกัดสารฮิวมิค กรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และฮิวมิน สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชน์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนายบุคลากรทั้งสององค์กร สนับสนุนความก้าวหน้าของปรเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสู่นวัตกรรม” นางสาววนิดา อุทัยสมนภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชยกิจและการตลาด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าว  


            ด้าน นายเกษม มงคลเกียรติชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ (อบม.) กล่าวว่า การทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ขอเหมืองแม่เมาะ ต้องขุดเปิดหน้าดินที่ปิดทับถ่านหินลิกไนต์ออกและนำไปทิ้งยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ก่อนส่งถ่านหินลิกไนต์ไปเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีหน้าดินบางส่วนที่พบชั้นของลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) เป็นชั้นดินที่มีอินทรีย์วัตถุที่สำคัญแทรกอยู่คือ    สารฮิวมิค ซึ่งประกอบด้วยกรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และฮิวมิน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเป็นสารสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยมีศักยภาพที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องสำอาง หรือ ส่วนประกอบของยาและอาหารเสริมทางการแพทย์ เป็นต้น

            สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ผู้บริหาร กฟผ. และไออาร์พีซี ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะนำความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 หน่วยงาน มาร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จาก ลีโอนาร์ไดต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ส่งเสริม ต่อยอด ผลักดันนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ทางธุรกิจของนวัตกรรมจนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้

            สำหรับบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมฯ นี้ มีขอบเขตความร่วมมือแบ่งออกเป็น 2 เฟส ประกอบด้วย 1. Phase I : Pre-Commercial phase รายละเอียด ดังนี้

            1.1 ให้การสนับสนุนการศึกษาและการทำงานวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของสารสกัด Humic acid /Fulvic acid และ Humin จากวัสดุตั้งต้นคือ Leonardite เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมจากความเชี่ยวชาญต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการวิจัยในเบื้องต้น

            โดย กฟผ. จะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนวัสดุตั้งต้นในการวิจัย และสถานที่โรงงานวิจัยในปัจจุบันที่เหมืองแม่เมาะ ขณะที่ ไออาร์พีซี จะเป็นฝ่ายสนับสนุนงานวิจัยในเชิงลึก เครื่องมือที่ต้องใช้ในการวิจัยพัฒนาที่ศูนย์นวัตกรรม ไออาร์พีซี (IIC) ที่จังหวัดระยอง เช่น การศึกษากระบวนการสกัดเพื่อให้ได้สารที่มี High concentration รวมถึงกระบวนการผลิตที่เหมาะสม และการนำไปใช้ใน Applications ต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาปุ๋ยธาตุอาหารเสริม ZnO ในเชิงพาณิชย์ ในระหว่างช่วงเวลาของการพัฒนา เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Products) ร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้ดำเนินการร่วมกันดังกล่าวกับผู้อื่น (3rdparty) ยกเว้นเป็นความร่วมมือก่อนที่ MoU ฉบับนี้จะมีผล

            1.2 ให้การสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในการ Up scale การผลิตผลิตภัณฑ์ (Products) ในระดับ Pilot และ Plant scale เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ใน Application ต่างๆ เช่น Agricultural , Cosmetics และ Medical Applications เป็นต้น

            1.3 ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร สถานที่ โปรแกรมโครงสร้าง โครงสร้างข้อมูล วัสดุ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการย่อยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามกฎ ระเบียบ เงื่อนไข ข้อบังคับ และนโยบายของทั้งสองฝ่าย

            1.4 จัดให้มีผู้ประสานงานเพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้ความร่วมมือนี้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

            1.5 ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานพร้อมทั้งสนับสนุนด้านคำปรึกษาด้านวิชาการ ด้านธุรกิจ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือต่อเนื่องกับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ตามที่ทั้งสองฝ่ายจะได้พิจารณาเห็นสมควร หรือเห็นชอบร่วมกันในอนาคต

            และ 2. Phase II : การร่วมลงทุนในการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial phase) ทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาการร่วมทุน หรือการทำ Commercial collaboration ตามที่จะได้ตกลงกันต่อไปหากผลของความร่วมมือใน Phase I : Pre-Commercial เป็นที่พึงพอใจ 

­

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์