เชียงรายจัดงานคาร์นิวัลครั้งแรกภายใต้ชื่อ “เปิดโลก
18 อำเภอ” Chiang Rai Art Carnival 2023 อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการโหมโรงจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand
Biennale,Chiang Rai 2023 ก่อนจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ วันที่ 9 ธ.ค. 2566 - 30 เม.ย. 2567
ที่ จ.เชียงราย
งานคาร์นิวัลอันยิ่งใหญ่ที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
(สศร.) จังหวัดเชียงราย เครือข่ายศิลปิน จ.เชียงราย นำโดย เฉลิมชัย
โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และชุมชน 18
อำเภอจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย
อำเภอเมืองเชียงราย, ขุนตาล, เชียงของ,
เชียงแสน, ดอยหลวง, เทิง,
ป่าแดด, พญาเม็งราย, พาน,
แม่จัน, แม่ฟ้าหลวง, แม่ลาว,
แม่สรวย, แม่สาย, เวียงแก่น,
เวียงชัย, เชียงรุ้ง และเวียงป่าเป้า
แต่ละริ้วขบวนอลังการ ตระการตา โอกาสนี้ นายเสริมศักดิ์
พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. นายประสพ
เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมรับชมริ้วขบวน
ซึ่งไม่เพียงประกาศความพร้อมของเชียงรายเจ้าบ้านเท่านั้น
แต่แสดงถึงการผลักดันเชียงรายเมืองศิลปะมีชุมชนร่วมด้วย
คาร์นิวัลแสดงเอกลักษณ์ของเชียงราย อย่างอย่างขบวนและประติมากรรมร่วมสมัย “ดวงตาแห่งความรุ่งโรจน์” ของอำเภอขุนตาล
จังหวัดเชียงราย ซึ่งเหล่าศิลปินเชียงรายออกแบบโดยนำสัญลักษณ์ของดวงตา
ตรงโจทย์คําว่า “เปิดโลก “ ธีมหลักงาน Thailand
Biennale,Chiang Rai 2023
พร้อมสอดแทรกสัญลักษณ์อําเภอขุนตาลไว้ในผลงานตั้งแต่ฐานและยอดฉัตรประติมากรรมแทนพระธาตุขุนตาลคู่บ้านคู่เมือง
ประดับใบโพธิ์เงินโพธิ์ทองสื่อความรุ่งเรือง
เส้นลายน้ําสีทองด้านนอกดวงตาแทนสายน้ําอิงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน
และเส้นสีทองรูปแผนที่อําเภอ ประดับงานศิลปะฉลุมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น
หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ใจกลางเมืองเชียงรายเป็นสถานที่จัดแสดงขบวนพาเหรด18 อำเภอ เต็มไปด้วยสีสันงานอาร์ต ดนตรีร่วมสมัย ดนตรีพื้นเมือง
ผู้คนทั้งคนเชียงราย และนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ บรรยากาศสุดรื่นเริง หลังจากนี้คาร์นิวัล 18 ประติมากรรม จะนำไปจัดแสดงกระจายตามสถานที่สำคัญ อาทิ สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง ประตูบานแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะมา
จ.เชียงราย และลานประติมากรรมริมแม่น้ำกก ณ สวนไม้งามริมน้ำกก
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า
รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมคัดเลือกจ.เชียงราย จัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand
Biennale,Chiang Rai 2023 ด้วยความพร้อมของจังหวัด เครือข่ายศิลปินเชียงรายที่คึกคัก
แข็งขันร่วมแรงร่วมใจกันสุดความสามารถ
จะทำให้เชียงรายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวและคนรักงานศิลป์
นับถอยหลังงานเบียนนาเล่ ขณะนี้การจัดงานมีความพร้อมอย่างมาก ทั้งสถานที่จัดงานและการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินที่เข้าพื้นที่แล้ว
ทยอยติดตั้งตามแผนงาน มั่นใจจะแล้วเสร็จก่อนเริ่มมหกรรม 9
ธ.ค.2566 อย่างแน่นอน
ภายในงานจะจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินร่วมสมัย 60 คน จาก 21 ประเทศ ทั้งศิลปินระดับโลก ศิลปินระดับกลาง ศิลปินรุ่นใหม่
เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ตลอดจนจุดประกายให้เยาวชนสนใจงานศิลปะมากขึ้น ส่วนกิจกรรมคู่ขนาน อาทิ พาวิลเลี่ยน
13 แห่ง และการเปิดบ้านศิลปินเชียงรายกว่า 80 หลัง
“มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนี้จะส่งผลดีต่อ
จ.เชียงราย
ตั้งเป้าหมายให้การจัดงานศิลปะระดับโลกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามนโยบาย
soft power ของรัฐบาลที่จะช่วยจ้างงานคนในพื้นที่ได้มากกว่า 8,000 คน เกิดรายได้ทั้งในเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้กว่า 30,000 ล้านบาทในช่วง 5
เดือนของการจัดเบียนนาเล่เชียงรายทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกอีกด้วย
“ เสริมศักดิ์ กล่าว
ด้าน กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ กล่าวว่า
มหกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นให้ศิลปินนานาชาติมาทำงานสร้างสรรค์ที่จ.เชียงราย
มาทำงานร่วมกับชาวบ้าน กลุ่มศิลปิน สล่า
ต่างจากเบียนนาเล่ครั้งก่อนๆ เน้นความร่วมมือร่วมใจกัน
และสนับสนุนให้ชาวเชียงรายได้ประโยชน์
ศิลปินที่ชวนลงพื้นที่ได้แรงบันดาลใจจากองค์ความรู้เดิมและวิถีวัฒนธรรมล้านนา
สร้างสรรค์สู่งานศิลปะร่วมสมัย มหกรรมครั้งนี้ยังส่งเสริมให้
จ.เชียงรายได้รับการยกย่องเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบจากยูเนสโกด้วย
“ไทยแลนด์เบียนนาเล่เชียงรายที่จะเกิดขึ้นขณะนี้เปิดตัวศิลปืน 20 คนสุดท้ายแล้ว ส่วนผลงานศิลปะระดับโลกติดตั้งแล้ว 70-80% แสดงถึงความร่วมมือจากรัฐบาล จังหวัด ไม่ใช่โครงการจากบนลงล่าง มีความร่วมมือระหว่างชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ
อย่าง 18 อำเภอที่มาร่วมขบวนพาเหรด
แสดงพลังการขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองศิลปะระดับโลก
โดยมีศิลปินสมาคมขัวศิลปะเป็นพี่เลี้ยงแสดงความพร้อมจัดมหกรรมศิลปะ
ทั้งยังมีสถาบันศิลปะในระดับนานาชาติสนใจสนับสนุนมหกรรมครั้งนี้ “ กฤติยา กล่าว
นอกจากคาร์นิวัลใหญ่ ยังแนะนำ20
ศิลปินชุดสุดท้ายงานเบียนนาเล่ ได้แก่ อัลมากุล เมนลิบาเยวา, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, อัททา ความิ, ชาไคอาบุคเคอร์, เฉิง ซินห้าว, กรกฤต อรุณานนท์ชัย, วุธ ลีโน,
มาเรีย เทเรซา อัลเวซ, พาโบล บาร์โธโลมิว, ปิแอร์ ฮุยจ์, ซาราห์ ซี, ชิมาบุกุ, สมลักษณ์ ปันติบุญ, ทรงเดช ทิพย์ทอง, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ โทมัส ซาราเซโน, เซอริน
เชอร์ปา, อุบัติสัตย์ หวัง เหวิน จื้อ และ ซิน หลิว
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ
ภัณฑารักษ์ เบียนนาเล่เชียงราย 2023 กล่าวภาพรวมชิ้นงานศิลปะที่ติดตั้งในศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันว่า
จะมีผลงานของ 5 ศิลปิน กรกต อารมณ์ดี ผลงาน :
ศาลาแห่งความเพียร ชาตะ ใหม่วงค์ ผลงาน : นิพพานเมืองแก้ว สนิทัศน์ ประดิษทัศนีย์
ผลงาน : สวนแห่งความเงียบ ทรงเดช ทิพย์ทอง ผลงาน : ที่พึ่ง Zen The ผลงาน : The Imperative Landscape ภายใต้แนวปรัชญาคำสอนทางพระพุทธศาสนาและธรรมชาติ
เพราะที่นี่เป็นวัด ศูนย์วิปัสสนา เชื่อว่าธรรมะกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน
อีกทั้งการใช้วัสดุธรรมชาติจากซากไม้ที่ตายแล้ว การใช้ไม้ไผ่สร้างผลงาน นอกจากนี้
จะมีพาวิลเลี่ยนของเกาหลีและพาวิลเลี่ยนกลุ่มสิ่งแวดล้อมมาร่วมงานศิลปะนี้ด้วย
ส่วน ชาตะ โหมวงศ์ ศิลปินเชียงราย เล่าถึงผลงาน “นิพพานเมืองแก้ว” ว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับธรรมะ โดยชิ้นงานที่สร้างขึ้นเป็นต้นไม้กระปก (ภาษาเหนือเรียก มะมื่น) อายุราว 200 ปี เป็นต้นไม้ยืนตายแล้ว ตัวเนื้องานบางชิ้นใช้แกะสลัก เศษไม้ นำมาเป็นองค์ประกอบลักษณะของดอกบัว ท่าน ว.วชิรเมธี จะได้เล่าเรื่องธรรมะด้วย ชิ้นนี้อยากเป็นหมุดหมายเล็กๆ ที่เล่าเรื่องธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนเรา แล้วเราอยู่กับธรรมชาติ ขณะเดียวกันควรตระหนักการใช้ทรัพยากร เมื่อมาสร้างเป็นงานศิลปะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ว่าธรรมชาติมันยิ่งใหญ่นะ ผลงานจะแล้วเสร็จทันเปิดงานแน่นอน
กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น