โครงการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคเหนือ โครงการความร่วมมือ ระหว่าง กฟผ.แม่เมาะ วิทยาลัยเทคนิค จ.ลำปาง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมสร้างองค์ความรู้ทางทฤษฎี และปฏิบัติ ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้แก่นักศึกษา กว่า 70 คน พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ณ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยมี นายณัฐนนท์ ภู่อริยพงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลำปาง จ.ลำปาง ตลอดจนผู้บริหารในสังกัดอาชีวศึกษาลำปาง, ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา คณะอาจารย์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในพื้นที่ จ.ลำปาง เข้าร่วมงานในครั้งนี้
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กฟผ.แม่เมาะ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง เพื่ออบรมให้ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้า การดัดแปลง การปรับปรุงสภาพสีภายนอก และการติดตั้งชุดชาร์จชนิด AC Charger แบบ Wall Box ตลอดจนนำยานยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงเข้ารับการทดสอบและจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติให้กับนักเรียน นักศึกษาสาขายานยนต์ไฟฟ้าของวิทยาลัยเทคนิคลำปาง นอกจากนั้นยังเป็นการขยายผลสร้างความต่อเนื่องของโครงการส่งเสริมการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) ด้านพลังงานอัจฉริยะ ภายใต้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ โดย กฟผ.แม่เมาะ มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการฯจำนวน 727,800 บาท และรถกระบะโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ จำนวน 1 คัน สำหรับดัดแปลง
นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า จัดขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยมีนายวีรศักดิ์ แป้นพ่วง ผู้จัดการบริษัทดับเบิ้ลยู พีอีวี จำกัด (WPEV) ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญธุรกิจด้านการดัดแปลงยานยนต์มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้หน่วยงานราชการจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานทดแทนรถที่หมดอายุ เพื่อลดมลพิษให้เป็นศูนย์ นอกจากนั้นกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องโครงข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพื่อรองรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ส่วนเรื่องการจดทะเบียนและการทำประกันมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลกำหนดให้มีราคาที่เหมาะสม ด้านโรงงานที่ผลิตอะไหล่ และห่วงโซ่อุปทาน กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้ดำเนินการดูแลให้มีการดำเนินการที่ต่อเนื่องอีกด้วย ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมในการพัฒนากำลังคน ให้มีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น