กรณีที่ได้มีนักศึกษาโพสต์เรื่องราวผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ถึงปัญหาของวิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง อ.เกาะคา ว่านักศึกษาได้รับผลกระทบเนื่องจากทางวิทยาลัยได้มีการปิดสาขาการเรียนโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ทั้งที่ลงทะเบียนเรียนไปแล้ว อีกทั้งยังมีการไม่ต่อสัญญาจ้างครูและเจ้าหน้าที่อีกจำนวนมาก
- จากลดเงินค่าจ้าง สู่การไม่ต่อสัญญา
ผู้สื่อข่าวได้มีการพูดคุยกับ
กลุ่มครูอัตราจ้างที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ร่วมกันเปิดเผยว่า ตั้งแต่ผอ.ย้ายมาวันที่ 1 ต.ค.66 ได้มีการประชุมเพียงครั้งเดียว
เพื่อแจ้งว่าปรับลดค่าจ้าง จากที่เคยได้เดือนหมื่นกว่าบาท เป็นครูอัตราจ้างได้
8,340 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่เหลือ 7,670
บาท ทางครูและเจ้าหน้าที่ก็ยินยอม ซึ่งไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการไม่ต่อสัญญาจ้างใดๆทั้งสิ้น
หลายคนได้รับผลกระทบ เพราะหากทำงานครบ 3 ปี จะมีสิทธิ์สอบข้าราชการครู
สังกัดอาชีวศึกษาได้ บางคนเหลืออีก
2-3 เดือนจะครบเวลา 3 ปี
พอไม่ต่อสัญญาก็ต้องเสียสิทธิ์ตรงนี้ไป
ตอนผู้บริหารจะทำอะไรไม่มีการประชุมให้ทราบก่อน มาชี้แจงวันที่ 27 ก.พ.67 ช่วงเช้าว่าจะไม่ต่อสัญญา พอตอนเย็นก็ยื่นซองขาวว่าจะไม่ต่อสัญญาให้แล้ว รวม 42 คน เป็นครูอัตราจ้าง 23 คน เจ้าหน้าที่ 19 คน ก่อนหน้านั้นก็ให้เจ้าหน้าที่และครูส่งแฟ้มประเมิน เพื่อให้ทางผู้บริหารต่อสัญญา ถ้าคิดมาก่อนแล้วว่าจะไม่ต่อสัญญา จะให้ส่งแฟ้มประเมินไปเพื่ออะไร แต่ละคนทำงานมานานเป็น 20 ปี กลับไม่มีงานทำ
ในตอนนี้ทราบว่าข้าราชการครูที่เหลืออยู่ก็ต้องทำหน้าที่สอนแทนครูอัตราจ้างที่ไม่ได้ต่อสัญญา
ครูบางคนก็ต้องไปทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างไป เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่จากเดิมไปอีก โดยไม่ได้รับค่าชั่วโมงการสอนเพิ่มอีกด้วย
หลังจากที่ทราบว่าไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง ทางกลุ่มครูและเจ้าหน้าที่ 42 คน ก็ได้ยื่นหนังสือไปยังรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าพวกเราได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โดยได้ไปรอยื่นหนังสือที่สนามบินลำปาง ได้มีนิติกรมารับหนังสือแทน และให้ไปรวบรวมเอกสารเพิ่ม เมื่อรวบรวมส่งไป ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย กระทั่งเปิดเทอมมาได้ข่าวว่ามีการปิดสาขา ทำให้นักศึกษาได้รับผลกระทบอีก
- ฟังเสียงนักศึกษา
ในส่วนของนักศึกษา
ปวส.1 สาขาการตลาด ที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า เพื่อนนักนักศึกษาแจ้งข่าวสาขาการตลาดและสาขาบัญชีจะถูกปิด
เพราะมีนักศึกษาไม่ถึง 15 คน เรื่องนี้ทางวิทยาลัยก็ไม่ได้แจ้งให้กับนักศึกษาล่วงหน้า
พอรู้ข่าวในวันที่ 7 พ.ค.67 ว่าผู้บริหารจะปิดสาขา
โดยตนเองลงทะเบียนเรียนไปแล้ว จากนั้นวันที่ 9 พ.ค.67 จึงมีการนัดประชุมพูดคุยร่วมกันระหว่างรอง ผอ. ครูผู้สอน ผู้ปกครอง
และนักศึกษา ทราบว่าประเด็นคือทางวิทยาลัยฯ
ไม่มีเงินพอที่จะจ้างครูผู้สอนให้กับนักศึกษา
ซึ่งตนก็สงสัยว่างบประมาณไม่เพียงพออย่างไร
เพราะครูที่มาสอนก็เป็นข้าราชการ งบที่จ้างเป็นเงินหลวง แต่ทางวิทยาลัยฯบอกว่ามีค่าสอนเกินภาระงานของครู และจากการพูดคุยกัน ครูผู้สอนจึงได้ตกลงว่าจะไม่รับค่าสอนเกินภาระงานในส่วนนี้
ทางวิทยาลัยฯจึงยอมเปิดสาขาการตลาดให้
เช่นเดียวกับ นักศึกษา ปวส.1 สาขาบัญชี เล่าว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.67 คุณครูโทรมาตอนเช้าบอกว่าทาง ผอ.เรียกคุย เนื่องจากจะมีการยุบสาขา จึงเดินทางไปประชุมพร้อมกับผู้ปกครอง โดย ผอ.ให้เหตุผลว่าครูไม่พอสอน เพราะชั่วโมงสอนเยอะ และมีนักศึกษาไม่ถึง 15 คนตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ทางวิทยาลัยฯก็ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าถ้านักศึกษาไม่ถึงเกณฑ์จะยุบสาขา ซึ่งสาขาบัญชีมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียน 10 คน ทางผู้ปกครองกับนักศึกษาก็ไม่ยอมจะขอให้ทางวิทยาลัยฯเปิดสาขา แต่ตอนแรกทางวิทยาลัยฯยืนยันว่าจะไม่เปิด ให้นักศึกษาย้ายสาขา หรือไปเรียนที่อื่นแทนโดยจะมีรถรับส่งให้ ซึ่งได้มีการเจรจาพูดคุยกันจนกระทั่งทางครูผู้สอนยินยอมที่จะไม่รับค่าสอนเกินภาระงาน ทางวิทยาลัยจึงยินยอมเปิดสาขาบัญชี
- ค้างค่าไฟ ค่าสอน หนี้เก่า กว่า14ล้านบาท
ดร. สุมาวดี พวงจันทร์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง กล่าวถึงเหตุผลการไม่ต่อสัญญาครูอัตราจ้างและเจ้าหน้าที่
รวมถึงการปิดสาขาว่า เหตุที่ไม่สามารถต่อสัญญาบุคลากรได้
มาจากหลายปัจจัย ทั้งวิทยาลัยฯได้รับเงินอุดหนุนจากส่วนกลางลดลง นักศึกษาที่มาเรียนก็ลดลง
ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าจ้างครูอัตราจ้างและเจ้าหน้าที่ จึงปรับลดค่าจ้างโดยตัดค่าครองชีพออกเหลือเพียงฐานเงินเดือนเดิม
ซึ่งครูและเจ้าหน้าที่ก็ยินยอม
จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี
2562 มีนักศึกษาอยู่ 1,400 คน และได้ลดลงเรื่อย ๆ จนในปี
2567 นี้มีนักศึกษา 631 คน ขณะที่ครูมีจำนวนเท่าเดิมคือ 80 คน
เมื่อนักศึกษาลดลงก็ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวลดลงไปด้วย วิทยาลัยจึงไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าจ้าง
จึงไม่สามารถที่จะต่อสัญญาได้ ซึ่งสัญญาได้หมดลงวันที่ 31 มี.ค.67 มีครูอัตราจ้าง 23 คน และเจ้าหน้าที่ 19 คน รวม 42 คนที่ไม่ได้รับการต่อสัญญา
ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง กล่าวว่า ในปี 67 วิทยาลัยมีหนี้สินอยู่กว่า 7.4 ล้านบาท และยังมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับอยู่จริงรวมกันประมาณ 14 ล้านบาทเศษ แยกเป็น คงค้างจ่ายค่าไฟตั้งแต่เดือน พ.ค.66 - ม.ค.67 อยู่กว่า 2 ล้านบาท ทางการไฟฟ้าฯก็ได้มีหนังสือทวงถามมาอย่างต่อเนื่อง หนี้สินเก่าปี 64-66 อีก 4 ล้านกว่าบาท ค่าสอนเกินภาระของครู ที่ยังค้างจ่ายในปี 67 อยู่อีกกว่า 2 ล้านบาท และค่าจ้างที่จะเกิดขึ้นในปี 67 อีกเกือบ 5 ล้านบาท ฯลฯ วันที่ 31 ต.ค.66 ได้เชิญครู และเจ้าหน้าที่มาประชุมพูดคุยกันแล้วว่า วิทยาลัยประสบปัญหาหนี้สิน ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ้างต่อ ซึ่งทุกคนได้รับทราบ ในการประชุมไม่ได้มีการทักท้วงหรือยื่นข้อเสนอใดๆ เช่นเรื่องทำงานอีก 3 เดือนจะครบ 3 ปี จึงจะสอบข้าราชการครูสังกัดอาชีวศึกษาได้ ก็ไม่มีใครพูดถึง เพิ่งมาทราบทีหลังนี่เอง
นอกจากนั้นวันที่
20
มี.ค. 67 ทางวิทยาลัยยังได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
หารือเรื่องที่มีการเลิกจ้าง ว่ามีนโยบายอย่างไรที่จะจ้าง 42
คนนี้ได้บ้าง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
ในส่วนของการปิดสาขา
ทาง ผอ. กล่าวว่า มาตรฐานการศึกษาการกำหนดห้องเรียน
เพื่อจัดสรรครู ประเภทพาณิชยกรรม ต้องมีนักศึกษา 40 คน
ถ้าเป็นประเภทอุตสาหกรรม ต้องมีนักศึกษา 30 คน
แต่เมื่อเด็กเข้ามาน้อยลง โอกาสการได้ข้าราชการครูเข้ามาก็น้อยลง
สาขาที่มีเด็กจำนวนน้อยจึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เพราะงบประมาณน้อย ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ
ประกอบกับนโยบายของ รมว.ศธ.
ถ้าวิทยาลัยเล็กที่มีเด็กน้อยให้ไปเรียนในตัวเมืองซึ่งจะมีคุณภาพมากกว่า
ทางวิทยาลัยพร้อมจะตัดยานพาหนะรับส่ง เพื่อไปเรียนในตัวอำเภอเมือง
เพราะมีบุคลากรพร้อม และเด็กจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆด้วย
กรณีที่ยุบสาขา
สัดส่วนนักเรียนต่อห้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อาชีวศึกษากำหนดไว้ ครู 1 คนต่อนักศึกษา
30 คน ถึงจะคุ้มทุนในการจัดการศึกษา เมื่อมีนักศึกษามาเรียนน้อย เงินอุดหนุนรายหัวก็จะได้น้อยลง
ก็จะไปสัมพันธ์กับเงินที่จะจ้างบุคลากรด้วย ส่วนสาขาบัญชีและสาขาการตลาด มีการประชุมกัน
และตกลงกันได้ว่าครูผู้สอนจะไม่รับค่าสอนเกินภาระงาน ทางวิทยาลัยฯจึงเปิดสาขาทำการเรียนการสอนเช่นเดิม
“ทุกวันนี้วิทยาลัยก็กัดฟันเหมือนกัน
เพราะอย่างที่ทราบว่าการเก็บค่ารายได้หน่วยกิตก็ได้ไม่มาก ไม่สามาถไม่ไปจ้างครูได้เพราะใช้เงินจำนวนมาก”
ดร. สุมาวดี พวงจันทร์ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง กล่าว
สำหรับสาขาที่วิทยาลัยเทคนิคนครลำปางปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา2567
มีดังนี้
ระดับ
ปวช. ประกอบด้วย เทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า
ช่างเชื่อม ช่างอิเล็กทรอนิกส์ การตลาด โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การโรงแรม คอมพิวเตอร์ธุรกิจ(เรือนจำ) และระบบขนส่งทางราง
ระดับชั้น ปวส. คือ ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสตกส์ การท่องเที่ยว การโรงแรม และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ(เรือนจำ)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น