วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สิ้นสุดทางเดิน...แม่เมาะ สู่เส้นทางใหม่ 4 สตาร์ทอัพ เป้าหมายเศรษฐกิจ 2 แสนล้าน


            ภาพอนาคต วันที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะทั้งระบบต้องหยุดเดิน ชีพจรเศรษฐกิจของลำปางที่เต้นตามจังหวะการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้ามาเนิ่นนาน จะหยุดเต้น หรือหายใจรวยริน หรือจะมีความหวังที่สร้างความมั่นใจได้ว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านโรงไฟฟ้า กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ คือ 4 สตาร์ทอัพ ธุรกิจเพื่อสังคม จะยังขับเคลื่อนลำปาง ไปสู่ S-Curve ใหม่ ที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทะยานไปแตะระดับ 2 แสนล้านได้หรือไม่

            229,835 ล้านบาท คือเป้าหมายของ กฟผ. ภายใต้ Roadmap 4 สตาร์ทอัพ หลังจากสิ้นสุดทางเดินแม่เมาะ ทั้งที่เริ่มดำเนินการ และดำเนินการจนเห็นผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว แน่นอนว่านี่เป็นความตั้งใจและการมองเห็นอนาคตร่วมกันระหว่าง กฟผ.และชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นเพียง CSR เพื่อหวังผลการสร้างภาพพจน์ที่ดีเท่านั้น หากแต่จะเป็น CSR ที่มุ่งมั่นจะสร้างหลักประกันเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนแม่เมาะในวันข้างหน้าด้วย 

ทางรอดชุมชนในวันที่ถ่านหินหมด

            ในปี 2593 หรือเร็วกว่านั้น โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องหยุดกิจการลงทั้งหมด รู้หรือไม่ว่า GPP (Gross Provincial Product : ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด) จะหายไป 12,505 ล้านบาท เกิดปัญหาการว่างงานกว่า 9,000 คน  งบจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯที่จะนำมาพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะ จะหายไปในพริบตา

            ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีกำลังการผลิต 2,455 เมกะวัตต์  มีถ่านหินเหลือ 148 ล้านตัน  แน่นอนว่าในอนาคตปริมาณถ่านหินลดลงเรื่อย ๆ  ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าก็จะลดลงไปด้วย คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเหลือกำลังการผลิต 2,155 เมกะวัตต์ และในปี 2569 ไปจนถึง ปี 2583  จะเหลือกำลังการผลิตเพียง 1,315 เมกะวัตต์  และลดลงเรื่อย ๆ จนหยุดไปในปี 2593 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น  ซึ่งนั่นส่งผลต่องบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯที่เคยได้ปีละ 300 กว่าล้านบาท จะลดเหลือเพียงครึ่งเดียว ในปี2569 !! 

ชาวแม่เมาะ...จะอยู่อย่างไร ในวันที่กฟผ.แม่เมาะหยุดผลิตไฟฟ้า??

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ กฟผ.แม่เมาะต้องตอบให้ได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเป็นจุดเริ่มต้นโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City  ในปี 2565 เพื่อขับเคลื่อน พัฒนาแม่เมาะ เตรียมความพร้อมสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชม โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ภายใต้ 3 Smart  คือ Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ  Smart Economy  เศรษฐกิจอัจฉริยะ และ Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ กระทั่ง Mae Moh Smart City ได้รับการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะจาก Depa อยู่ในอันดับ TOP5 จาก 30 เมืองทั่วประเทศ

            กฟผ.แม่เมาะ ได้ส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม วางรากฐานเพื่อให้ชุมชนสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมเป้าหมายสู่ความเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอีกด้วย

นิคมชุมชนเกษตร บ้านดงขายผักเงินล้าน...มิใช่ความฝัน

            “ หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่รองรับการอพยพ แต่เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อส่งเสริมเกษตรแนวตั้งระดับประเทศ ปลูกผักมูลค่าสูง ที่สร้างรายได้ได้หลักล้านบาท/ปี”

            เกษศิรินทร์  แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) เล่าว่า กว่า 3 ปีที่ กฟผ.แม่เมาะ ได้เริ่มโครงการเกษตรแนวตั้งจากการทดลองปลูกในตู้คอนเทนเนอร์ จนวันนี้ ได้เปิดตัว บริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด  ในพื้นที่โรงเรือนเกษตรกรรมแนวตั้ง อยู่ที่หมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

            ล่าสุด ได้จัดตั้งโรงเรือนเกษตรอินทรีย์เพิ่มในพื้นที่ 13 ไร่  ภายใต้การบริหารงานในนามวิสาหกิจชุมชนตำบลบ้านดง ซึ่งได้เปิดตัว บริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด  ขับเคลื่อนโดยชาวอำเภอบ้านดงทุกขั้นตอน โดยมีความร่วมมือระหว่างบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด กับบริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จำกัด ช่วยในการขับเคลื่อน ทำให้สามารถส่งผักไปขายได้ทั่วประเทศ


            หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันสามารถผลิตผักได้ 4.8 ตันต่อเดือน แต่ตลาดยังมีความต้องการสูงถึง 40 ตันต่อเดือน ซึ่งเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่ ต.นาสัก และ ต.แม่เมาะ  และกำลังศึกษาวิจัยต่อยอดในเรื่องของการปลูกสตรอเบอร์รี่ในโรงเรือนระบบปิดด้วย

            ทางด้าน นายสานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ ประธานบริหารบริษัท ไดสตาร์ เฟรช จำกัด กล่าวว่า โรงเรือนเกษตรแนวตั้งแห่งนี้ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งจำหน่ายผักได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 600 บาท และจะอยู่คู่กับชุมชนได้ไปอีก 20-30 ปี  ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการขยายตัวโรงเรือนเพิ่มเติม เพราะความต้องการสูงมาก และจะมีพืชแนวใหม่ เช่น สตรอเบอร์รี่ เมล่อน เป็นต้น เป็นที่น่าสนใจเนื่องจากการปลูกสตรอเบอร์รี่ ในโรงเรือนแห่งนี้ จะปลอดสารพิษทั้งหมด  และจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวจากการเกษตรได้ เพราะสามารถปลูกสายพันธุ์สตรอเบอร์รี่จากทั่วโลกได้เลย  ทำเป็นรูปแบบทัวร์ฟาร์ม เก็บสตรอเบอร์รี่ทานได้เลยแบบไม่ต้องล้าง  โรงเรือนนี้ถือเป็นเครื่องมือติดอาวุธให้แก่เกษตรกร ตอบโจทย์กับตลาดของผู้บริโภค

ส่งเสริมการปลูกหญ้าอาหารสัตว์และข้าวฟ่าง ทดแทนข้าวโพด สร้างรายได้มากกว่าเท่าตัว


            นอกจากพื้นที่หมู่บ้านอพยพบ้านดงจะมีการปลูกผักแล้ว ในส่วนพื้นที่เดิมที่ชุมชนได้อพยพออกไป กฟผ.แม่เมาะได้ทดลองโครงการปลูกหญ้าอาหารสัตว์และข้าวฟ่าง บนพื้นที่บ้านดงที่ได้อพยพที่ย้ายออกไปแล้ว 250 ไร่  โดยเป็นหญ้าอาหารสัตว์ที่ปลูกง่ายโตเร็ว ครั้งเดียวให้ผลผลิตยาว 20 ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 4 ครั้ง มีโปรตีนและไฟเบอร์สูงกว่าข้าวโพด สร้างรายได้เฉลี่ย 20,000 บาทต่อไร่ต่อปี มากกว่าข้าวโพดถึง 3 เท่า ซึ่งจะมีบริษัทมาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ มองว่าจะสร้างเศรษฐกิจให้กับพื้นที่แม่เมาะได้มาก

            “ยังมี ข้าวฟ่างหวาน จะสร้างรายได้ราว 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตไซรัป สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็นราคากิโลกรัมละ 6,000 -7,000 บาท หลังจากศึกษาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองปลูกไปแล้วประมาณ 20 ไร่ ถ้าทำได้จริงจะขยายผลต่อไปยังชุมชนต่อไป  ส่วนการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ จะดูดซับได้มากถึง  9.6 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี  ข้าวฟ่างจะดูดซับได้  3.5 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี มากกว่าการปลูกข้าวโพดที่จะดูดซับคาร์บอนได้เพียง 0.4 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี”

ดันไบโอแมสชุมชน  ลดต้น-ตอ-ใบข้าวโพด ลดต้นตอมลพิษ PM2.5

            กฟผ.แม่เมาะ ได้ทำการซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พวกเปลือกและซังข้าวโพดกว่า 6,000 ตัน นำมาทดลองอัดเม็ดเป็น Biomass Pellet นำมาทดลองเผาร่วมกับถ่านหินโรงไฟฟ้า นอกชุมชนจะมีรายได้ยังลดปัญหาฝุ่น PM2.5  ด้วย หากทำการเผา 5 % ร่วมกับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง จะต้องใช้ชีวมวลกว่า 3 แสนตัน ถ้าอัดเม็ดแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนตัน สามารถลดผลกระทบเรื่องฝุ่นในพื้นที่ได้   และมีแนวคิดต่อว่าหากนำมาเผา 100% จะทำได้หรือไม่  คำตอบคือทำได้ แต่จะมีปัญหาในเรื่องของชีวมวลจะไม่เพียงพอ

            กฟผ.แม่เมาะ พบว่า พื้นที่ จ.ลำปาง และภาคเหนือ 17 จังหวัด  มีเศษชีวมวลที่เป็นเปลือก ซัง ต้นไม้ตัดแต่งกิ่ง รวมถึงต้น ตอ ใบ ประมาณ  4.2 ล้านตัน ที่หากเผาทำลายจะกลายเป็นต้นเหตุมลพิษทางอากาศ PM2.5  โดยเฉพาะในส่วนต้นตอใบของข้าวโพด ที่มีมากถึง 2.9 ล้านตัน ซึ่งเกษตรกรไม่ค่อยสนใจเพราะนำออกมายาก ส่วนใหญ่จึงต้องทำการเผา

            ด้วยเหตุนี้ กฟผ.แม่เมาะ จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ที่จะศึกษาวิธีนำต้นตอใบข้าวโพดที่อยู่ในที่เชิงดอย สูงชัน ออกมา สิ่งที่เกษตรกรในชุมชนจะได้ คือการมีรายได้จากส่วนนี้  ประมาณ 600-800 บาทต่อตัน และยังเป็นการลดปัญหา PM2.5 เนื่องจากไม่ต้องเผาเศษข้าวโพดเพื่อเตรียมการปลูกครั้งต่อไป

หากทำได้จะเป็นโมเดลที่ขยายผลไปยังพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

            เพื่อรองรับ เศษซากทางการเกษตร กฟผ.แม่เมาะจึงมีแผนที่จะผลักดันการตั้งโรงงาน  Biomass Pellet ชุมชนที่ ต.จางเหนือ และ ต.นาสัก และโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อชุมชน ขนาด 3 เมกะวัตต์ ที่ ต.นาสัก อ.แม่เมาะ  ซึ่งทำให้ชุมชนสร้างรายได้จากการขายเศษชีวมวลในราคา ตันละ 420 บาท และหาก โรงงานอัดเม็ดชีวมวลเดินกำลังการผลิตก็จะสามารถส่งขายให้กับ กฟผ.แม่เมาะ นำไปใช้ในการเผาไหม้ทดแทนลิกไนต์   ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้ถึงตันละ 3,700 บาท  จะทำให้ชุมชนมีรายได้ปีละประมาณ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกไผ่และไม้โตเร็ว เสริมรายได้ ส่งผลิตชีวมวล

            การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกไผ่เศรษฐกิจ  ส่งเสริมจากการเปลี่ยนปลูกข้าวโพดมาเป็นไผ่  ขณะนี้กำลังปลูกกล้าไผ่ในพื้นที่บ้านห้วยคิง ต.แม่เมาะ 20 ไร่ อีกประมาณ 2 ปี จะขยายผลให้กับชุมชนนำไปปลูกได้  โดยจะนำร่องที่ ต.จางเหนือ เดิมมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่ 31,663 ไร่ หากทำได้จะลดฝุ่นPM2.5 ได้มากกว่า 100 ตัน  ลดคาร์บอนได้ 28,180.337 ตันคาร์บอน

กฟผ.มองว่าการนำไม้โตเร็วไปปลูกแทนข้าวโพด ทุก 3 ปี ตัดข้าวโพดขายต้นตอใบได้แล้ว ยังสามารถตัดไม้โตเร็วขายได้ด้วย เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่จะขับเคลื่อนต่อไป

ฮิวมิค ฮิวมัส สารปรับปรุงดิน วัตถุพลอยได้จากเหมืองแม่เมาะ

            เนื่องจาก กฟผ.แม่เมาะ มีแหล่งวัตถุดิบลีโอนาร์ไดต์ในปริมาณกว่า 1.1 ล้านตัน  ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดจำหน่ายลีโอนาร์ไดต์ สำหรับเป็นวัตถุดิบให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นำไปผลิตเป็นฮิวมัสวัสดุปรับปรุงดิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจฮิวมัสขึ้นเพื่อผลิตส่งขายให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งเกษตรกรในทั่วไป สร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจมากถึงปีละ 1 ล้านบาท

            นอกจากนั้น กฟผ.แม่เมาะ ได้สกัดสารฮิวมิคแบบน้ำที่มีความเข้มข้นสูง และฮิวมิคแบบเกล็ดแห้งความเข้มข้นสูงที่สามารถละลายน้ำได้ดี ซึ่งฮิวมิคสามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้มากถึง 50% ปัจจุบันตลาดมีความต้องการใช้สารฮิวมิคเพิ่มขึ้นปีละกว่า 10% 

กองทุนแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กองทุนเพื่อชุมชน

            การขับเคลื่อนในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งได้มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้เป็นโมเดลธุรกิจในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มหญ้าอาหารสัตว์ ข้าวฟ่างหวาน  กลุ่มไบโอแมสชุมชน  นิคมชุมชนเกษตร และ ฮิวมิค  เพื่อให้ชุมชนมีอาชีพมีรายได้ และปันผลเข้าสู่  กองทุนแม่เมาะเมืองน่าอยู่ 

ส่วนนี้ กฟผ.ไม่ได้นำมาใช้ แต่จะนำไปขยายผลต่อยอด ในอนาคตเมื่อกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะเริ่มลดลง กองทุนนี้จะมาช่วยเสริมประชาชนในพื้นที่  ซึ่งไม่ได้เกิดจาก กฟผ.แต่เกิดจากชุมชนช่วยกันเองให้เกิดการเติบโตด้านเศรษฐกิจ 

            นอกจากนี้แล้ว กฟผ.แม่เมาะ ยังได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกหลายโครงการด้วยกัน  เช่น โครงการเห็ดป่าคืนถิ่น โดยการสอนชุมชนเพาะเชื้อเห็ด เพื่อนำเชื้อเห็ดไปปล่อยในป่าของหมู่บ้าน  ให้เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน  ลดการเผาป่า , โครงการเพิ่มมูลค่าทางขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวัน จัดทำโรงเรือนเพาะหนอนแมลงวันลาย ให้ย่อยขยะอินทรีย์ และจะได้ไข่หนอนนำไปขายได้  ได้ตัวหนอนแมลง หรือปลอกแมลง ซึ่งมีโปรตีนสูง นำไปเลี้ยงสัตว์ได้  และได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดี ไปขายให้กับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนใน อ.แม่เมาะ  

            รวมไปถึงโครงการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว  แม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน  สู่มาตรฐานระดับโลก  ลำปางมาราธอน และเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ  ซึ่งสร้างรายได้ให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่กว่า 190 ล้านบาท

            ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของโมเดลการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมของ กฟผ.แม่เมาะ  ที่มากไปกว่าการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ กฟผ. หลังจากที่ไม่มีโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้หรือไม่  หรือจะเป็นเพียง CSR เช่นที่เคยทำมา  ชาวแม่เมาะ และชาวลำปางเท่านั้นที่จะตอบได้

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์