วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่อาคารเขลางค์นคร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง (วิทยาเขตเขลางค์นคร) จังหวัดลำปาง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์ วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เป็นประธานพิธีเปิดสำนักงานโครงการจัดตั้งวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดลำปาง คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก และคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง คณบดี รองคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย สถาบันพระบรมราชชนก อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา สื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีดังกล่าว
สถาบันพระบรมราชชนก มีวิทยาลัยในสังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ จำนวน 39 วิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยวิทยาลัยพยาบาล 30 แห่ง ในสังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร 7 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศ ในสังกัดคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ยังมีวิทยาลัยไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตสุขภาพ โดยพื้นที่เขตสุขภาพที่ยังไม่มีวิทยาลัย
การสาธารณสุขตั้งอยู่ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 3, 8, 9 และ 11 เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการเข้ารับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงเป็นการขยายขอบเขตการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานได้กว้างขวางและทั่วถึงได้มากขึ้น สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข จึงมีแนวคิดให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดลำปาง เขตสุขภาพที่ 1 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นผู้นำและต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาในการบูรณการสร้างคนสร้าง สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยชุมชนเพื่อชุมชนสู่สากล แข่งขันได้ และยั่งยืน
ทั้งนี้ในส่วนคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง ได้รับมอบหมายจากคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ให้เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในการให้บริการสาธารณสุขที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ แบบไม่รับผู้ป่วยค้างคืน ให้บริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพ กระจายการบริการด้านการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนให้มีความทั่วถึงและลดภาระการให้บริการที่แออัดของโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาลของอาจารย์พยาบาล เป็นแหล่งฝึกการบริการสุขภาพสำหรับนักศึกษา และเป็นพื้นที่การบริการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพแบบบูรณาการ การใช้สบช.โมเดล ปิงปองจราจร 7 สี เพื่อการดูแลส่งเสริมสุขภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น