ทดลองเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
กำจัดขยะได้ผล เตรียมขยายงาน โรงเรือนใหญ่ รับขยะวันละ 500 กิโลกรัม
ต่อยอดสร้างรายได้ทุกขั้นตอน วิสาหกิจชุมชนแม่เมาะ ตั้งเป้าจ้างงาน สร้างรายได้
2.5 ล้านบาทต่อปี
ปัญหาขยะล้นเมืองยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จากข้อมูลของกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย
กรมควบคุมมลพิษ ปี 2566 รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ
26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน โดยภาคเหนือมีปริมาณขยะมากถึง 4,582 ตัน/วัน
โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City ได้ขับเคลื่อนพัฒนาแม่เมาะ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ Smart
Environment เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ
การกำจัดขยะจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองที่นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้มีการริเริ่มโครงการ
“เพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ ด้วยหนอนแมลงทหารเสือ (BSF)” หรือที่รู้จักกันในชื่อ แมลงวันลาย (Black
Soldier Fly) ด้วยการทดลองเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
มีเป้าหมายเพื่อลดขยะอินทรีย์พื้นที่ ต.แม่เมาะ ลดการฝังกลบ 1,951 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจก
1,548 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และลดค่าใช้จ่าย 39 ล้านบาทต่อปี
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลาย BSF อำเภอแม่เมาะ มี “บอส” ภูธเนตร เหลี่ยมมงคล เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ และ “เฟิร์น” สาวิทตรี เต็กใจตรง เลขากลุ่มวิสาหกิจฯ ร่วมกันดูแลการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในโรงเรือนทดลองเลี้ยง ภายในศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ
- ลดขยะสดแม่เมาะ
“บอส” ภูธเนตร เหลี่ยมมงคล ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปศึกษาดูงานการเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือกำจัดขยะ ที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เห็นได้ชัดเจนว่าหนอนแมลงทหารเสือสามารถย่อยสลายและกำจัดขยะสด ประเภทเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ได้มากถึง 70% ซึ่งในพื้นที่ตำบลแม่เมาะเองก็มีขยะสดมากถึงวันละ 500 กิโลกรัม จึงนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานมาทดลองเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือในโรงเรือนทดลองเลี้ยงขนาด 3 x 3 เมตร ตั้งเป้าหมายเพื่อลดขยะสดในพื้นที่ ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะเนื่องจากขยะสดจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารของหนองแมลงทหารเสือ
- เริ่มต้นลดขยะ 25 กิโลกรัมต่อวัน
ในระยะแรกของการทดลองเลี้ยง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้ประสานงานกับทางร้านอาหารในพื้นที่ ต.แม่เมาะ ให้ช่วยแยกขยะสด ซึ่งในระยะทดลองต้องใช้ขยะสดวันละ 10-25 กิโลกรัม จากนั้นทางกลุ่มจะไปเก็บเศษอาหารทุกเช้า นำมาให้หนอนทหารเสือกิน ซึ่งเราต้องคอยดูให้มีอาหารเพียงพอ เพราะถ้าอาหารไม่พอหนอนทหารเสือจะไต่ออกจากกระบะเลี้ยง นอกจากนี้ยังต้องคอยดูจำนวนหนอนที่เกิดใหม่ เพื่อทำการแยกหนอนออกมาไว้ในกระบะใหม่ ควบคุมจำนวนไม่ให้อัดแน่นมากเกินไป
- เตรียมสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่
รับขยะ 500 กิโลกรัมต่อวัน
หลังจากได้ทดลอง-เรียนรู้การเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือ ตอนนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้วางแผนขยายโรงเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือจากเดิม ขนาด 3x3 เมตร เป็นโรงเลี้ยง ขนาด 15x10 เมตร ที่บ้านห้วยคิง หมู่ 6 ต.แม่เมาะ ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ 840,000 บาท ทางเทศบาลตำบลแม่เมาะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง หากย้ายหนอนแมลงทหารเสือมาโรงเลี้ยงใหม่แล้ว ด้วยพื้นที่การเลี้ยงที่มากขึ้น ก็จะสามารถเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือได้มากขึ้น จึงต้องใช้ขยะสดเพื่อเป็นอาหารให้หนอนแมลงทหารเสือเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ตั้งเป้าจะรับขยะสดในพื้นที่ ต.แม่เมาะทั้งหมด 500 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งทางเทศบาลตำบลแม่เมาะจะเข้ามาเป็นผู้ประสานงานในการจัดเก็บขยะมาให้กับทางกลุ่ม
- อุปสรรค คือการเรียนรู้
โรงเรือนทดลองเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือ ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ระยะเวลาที่ได้ทดลองเลี้ยง ทำให้ “บอส” และ “เฟิร์น” ได้เรียนรู้เทคนิควิธีจากปัญหาอุปสรรคที่พบในระหว่างการเลี้ยงไม่น้อย ตั้งแต่ ไข่แมลงทหารเสือรุ่นแรกที่ซื้อมาเลี้ยงฝ่อ ทำให้การลงทุนครั้งแรกไม่ได้หนอนแมลงทหารเสือ ต่อมารุ่นที่ 2 เริ่มเลี้ยงช่วงเดือนเมษายน คราวนี้ไข่แมลงทหารเสือไม่ฝ่อ แต่ด้วยสภาพอากาศลำปางที่ร้อนจัด ทำให้แมลงทหารเสือไม่ผสมพันธุ์ และทยอยตายไป จึงไม่มีการขยายพันธุ์ต่อ กระทั่งมารุ่นที่ 3 ได้เรียนรู้จากการเลี้ยง 2 รุ่นแรก มีการปรับเปลี่ยนสภาพอากาศ เพิ่มการสเปรย์น้ำ ปรับอาหาร ทำให้แมลงทหารเสือเริ่มปรับตัวได้ จนเติบโตและได้ปลอกหนอน และย่อยสลายขยะสด เศษอาหารต่างๆ ได้ผลการทดลองเลี้ยงเป็นที่น่าพอใจ
- วงจรชีวิต
วงจรชีวิตของแมลงทหารเสือ
มี 5
ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ใช้เวลา 3-4 วัน
ในการฟักเป็นตัวหนอน เมื่อกลายเป็น ตัวหนอน
เป็นระยะที่กินขยะสดเป็นอาหาร มีลักษณะตัวอวบอ้วน สีขาวครีม ขนาดตัวยาวตั้งแต่ 3-26
มิลลิเมตร จากนั้นจะเข้าสู่
ระยะตัวหนอนก่อนเข้าดักแด้
ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะในการนำไปใช้ประโยชน์
มีโปรตีนสูงเหมาะกับการนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์
เมื่อเข้า ระยะดักแด้ แล้ว ลำตัวจะมีสีดำเข้มและผิวแห้งแข็ง จะใช้เวลาฟักเป็นตัวแมลงทหารเสือประมาณ
10-15 วัน หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นกับสภาพอากาศ เมื่ออยู่ในระยะตัวเต็มวัยเป็นแมลงทหารเสือ
(แมลงวันลาย) ลำตัวยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร จะมีอายุ 8-15
วัน
ตัวเมียจะวางไข่ไว้บริเวณใกล้ ๆ กับแหล่งอาหาร โดยตัวเมียจะวางไข่ได้ 400-900
ฟองต่อตัว จากนั้นตัวแม่ก็จะตาย
กลายเป็นซากแมลง
- ไข่-ปลอก-ซาก สร้างรายได้
การเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือ สามารถสร้างรายได้ทุกส่วนทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ไข่หนอน มีราคากรัมละ 80-100 บาท หรือกิโลกรัมละ 80,000 -100,000 บาท หนอนสดตัวเต็มวัย ราคากิโลกรัมละ 400 บาท ปลอกหนอน (ซากดักแด้) ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และซากแมลง กิโลกรัมละ 50 บาท หนอนทหารเสือในระยะตัวเต็มวัย มีโปรตีนสูง สามารถนำไปให้ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ทั้งในรูปแบบหนอนสด หรือนำไปทำให้แห้ง-ป่นเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ ทำให้ได้อาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงมากกว่า 40% นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 3, 6, 9 เหมาะสำหรับเป็นอาหาร ไก่ เป็ด ปลา หรือ นกสวยงามได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาดยุคปัจจุบัน
- สร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน
นอกจากนี้ บอสยังกล่าวว่าหากกลุ่มวิสาหกิจฯสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายก็จะสามารถลดขยะสดตำบลแม่เมาะ และยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทาง โดยที่วิสาหกิจฯเราก็จะมีรายได้จากการขายไข่หนอน ตัวหนอน ปลอกหนอก และซากแมลง โดยตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน และเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย
แม้หนอนแมลงทหารเสือ จะเป็นเพียงแมลงตัวเล็กๆ แต่เป็นเล็กพริกขี้หนู เพราะเป็นนักย่อยสลายขยะชั้นดี ช่วยลดปริมาณขยะสดได้ และยังเป็นแหล่งอาหารสัตว์โปรตีนสูงที่วงการปศุสัตว์ไม่ควรมองข้าม สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าหนอนแมลงทหารเสือมีมูลค่ามหาศาล ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย....
นายแน่มาก....เจ้าหนอนแมลงทหารเสือ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น