นายแพทย์ขจร
วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง มอบหมายให้นายแพทย์นพรัตน์ วัชรขจรกุล
รองนายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (M.pox)
โดยจังหวัดลำปางพบผู้ป่วยยืนยันสะสม
4 ราย แยกเป็นเมื่อปี 66 จำนวน 3 ราย และปี 67 จำนวน 1 ราย ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน
พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 43 ราย จังหวัดลำปางพบผู้ป่วยอยู่ในอันดับที่ 4
รองจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย
ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรก
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ถึง วันที่ 30 สิงหาคม 2567 จำนวนทั้งหมด 833 ราย
เป็นคนไทย 747 ราย ต่างชาติ 86 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 812 ราย และเพศหญิง 21 ราย
กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 30 – 39 ปี
รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25 – 29 ปี และกลุ่มอายุ 40 – 49 ปี ตามลำดับ
อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ผื่น ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และคันบริเวณผื่น
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี
สมุทรปราการ และภูเก็ต
จากข้อมูลกรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข รายงานยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลดวัน (Clade
I b) รายแรกของไทย
ในเรื่องนี้กรมควบคุมโรคมีระบบการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนอย่างใกล้ชิดโดยมีการติดตามทุกวัน
ซึ่งขณะนี้นับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติมแต่อย่างใด สำหรับผู้ติดเชื้อที่พบ
กรมควบคุมโรคมีนโยบายดำเนินการแยกรักษาและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยรายอื่น
ซึ่งได้รับการรักษาจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อหรือตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
ตามมาตรฐานการดูแลโรคอุบัติใหม่อย่างเคร่งครัด
นายแพทย์นพรัตน์
กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคฝีดาษวานร (M.pox) ยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
จึงขอความร่วมมือจากผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสเสี่ยงในการปฏิบัติตน
เพื่อประโยชน์ในการติดตาม เฝ้าระวังอาการและควบคุมโรค
โดยขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อ จนกว่าจะครบ 21 วัน
หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ ได้แก่
1.สังเกตอาการด้วยตนเองทุกวัน เช่น ไข้
ผื่นผิวหนัง ที่อาจพบที่ใบหน้า แขนขา อวัยวะเพศ และลำตัว ไอ จาม และต่อมน้ำเหลือง
หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที
2.รักษาความสะอาดส่วนบุคคล
ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อสัมผัสพื้นผิวสัมผัส
3.งดการมีเพศสัมพันธ์
หรือพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกหรือน้ำลาย
4.งดการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น
อุปกรณ์รับประทานอาหารและเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น และแยกทำความสะอาด
5.เก็บและจัดการขยะที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของตนเองให้มิดชิด
แยกจากขยะทั่วไป
ขอให้คนลำปางอย่าตื่นตระหนกตกใจ
ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางได้ดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคนี้แล้ว
และขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการงดการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลแปลกหน้า
และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัย
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น