วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567

ประติมากรรมเพื่อชุมชน แหล่งรวมคนเมืองแห่งใหม่

 


ใจกลางกรุงเทพฯ  นอกจากสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดให้กับคนเมืองแล้ว การมีสวนประติมากรรมให้เที่ยวชมย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งนัดพบชาวเมืองแห่งใหม่ เต็มเต็มความสุขของการใช้ชีวิตในเมืองด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราหยุดพัก หลีกหนีจากความวุ่นวายในมหานครแห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่ตอบโจทย์การสร้างเมืองน่าอยู่ ชวนมาอัพเดทลานประติมากรรมแห่งใหม่ เดินทางสะดวกสบายเข้าถึงได้ง่าย ลานวัฒนธรรมสร้างสุข ประติมากรรมเพื่อชุมชน หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ใกล้ MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ย่านรัชดาภิเษก


ลานสนามหญ้าขนาดใหญ่หน้าหอศิลป์แห่งชาติ ติดตั้งงานประติมากรรมของเหล่าศิลปินร่วมสมัยชื่อดังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและผลงานศิลปะสะสมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เริ่มจาก“DOLLAR 009 ประติมากรรมเด็กหญิงรูปร่างสีขาวนวล คล้ายสวมชุดยูนิฟอร์ม เหมือนจะเป็นมนุษย์ต่างดาวในท่านั่ง มีขนาดใหญ่และสูงกว่า 6.30 เมตร  ดวงตาจดจ้องอยู่กับบางสิ่งเหมือนเฝ้ารอ ต่างจากผู้เดินชมที่เดินขวักไขว่ดูมีชีวิตตลอดเวลา ศิลปิน LOLAY - ทวีศักดิ์ ศรีทองดี สร้าง DOLLAR ขึ้นมาเป็นตัวแทนมนุษย์บนโลกที่ต้องตั้งรับ ปรับตัว เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความไม่แน่นอนตลอดเวลา

 


ส่วนประติมากรรมที่ภายนอกแวววาว เปล่งประกายของกระจก ดึงดูดสายตา ชื่อว่า Liminal Space” โดยศิลปินหญิง สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ งานชิ้นนี้เปิดพื้นที่ให้คนได้สำรวจสภาพแวดล้อม ได้หยุดพัก มีเวลาอยู่กับตัวเอง พร้อมชวนเข้าไปด้านในซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึกไปอีกแบบ ส่วนช่องด้านบนตั้งใจเปิดโล่งให้เห็นท้องฟ้ายามกลางวัน รวมถึงดาวยามค่ำคืน 

 


ตื่นตาตื่นใจกันต่อกับประติมากรรมเจดีย์ยักษ์ชื่อว่า ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ โดยกลุ่มศิลปินบ้านนอก สะดุดตากับรูปแบบของเจดีย์เป่าลม ผลงานชิ้นนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนยวนพลัดถิ่นในหนองโพที่อพยพมาจาเมืองเชียงแสนเมื่อ 200 ปีก่อน 

พิกัดนี้ยังโชว์ผลงาน ไอ้จุด หมาพันธุ์ไทยตัวแทนความฉลาดฉลาดแสนรู้ของน้องหมาบ้านๆ จากราชบุรีเมืองโอ่ง  ที่มีความอยากรู้อยากเห็น ซื่อๆ ซ่าๆ แสนซนที่รักบ้าน รักชุมชน ชอบงานศิลปะ เพราะคลุกคลีอยู่ในโรงงานเซรามิก เหล่าไอ้จุดมาปักหมุดส่งต่อความรัก ความซื่อสัตย์ ส่งกำลังใจ เติมพลังบวกให้กับคนกรุงที่ได้มาเที่ยวชม รังสรรค์โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ อีกชิ้นงานจากศิลปินศิลปาธรเมืองราชบุรี หน้าตาเหมือนรถถังติดตั้งเด่นเป็นสง่าด้านหน้าอาคารหอศิลป์แห่งชาติ ชื่อว่า “Dragonerpanzer”  สื่อเหตุการณ์ในอดีต นำลวดลายที่อยู่บนแจกันมาจัดวางบนรถถังแทนเหตุการณ์ผ่านมา แต่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในปัจจุบัน


ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  วธ.จัดโครงการลานวัฒนธรรมสร้างสุข ประติมากรรมเพื่อชุมชน ณ หอศิลป์แห่งชาติ วธ. ซึ่งเป็นการขยายผลจากกิจกรรมจิบกาแฟ แลงานศิลป์ที่หอศิลป์แห่งชาติ ขณะนี้ สศร. มีคลังสมบัติเก็บผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าไว้มากมายรอการนำมาจัดแสดงให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงศิลปะและประชาชนที่สนใจได้รับชม  แต่ละชิ้นศิลปินรังสรรค์ถ่ายทอดแนวความคิด ซ่อนเร้นให้ค้นหาความหมาย  มีปรัชญาซ่อนอยู่ ทำให้ผลงานศิลปะมีเสน่ห์และคุณค่า การชื่นชมผลงานศิลปะเป็นส่วนที่ วธ.สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ชมงานศิลปะ  ก่อให้เกิดสุนทรีย์ทางศิลปะและความสนุกสนาน  ประติมาการมเพื่อชุมชนเป็นแค่น้ำจิ้ม ปลายปีนี้ วธ.มีแผนจะเปิดหอศิลป์แห่งชาติบางส่วน เพื่อนำผลงานศิลปะออกมาจัดแสดง เชิดชูศิลปินและเปิดพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเยาวชนมาเรียนรู้งานศิลปะมากขึ้น

กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ กล่าวว่า ประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงบริเวณลานวัฒนธรรมสร้างสุข ต้องการให้ผลงานดึงผู้คนในชุมชนใกล้เคียงและคนในสังคมเข้ามาพื้นที่แห่งนี้ จะได้เห็นผลงานศิลปะที่จับต้องได้ คนดูงานสามารถเดินเข้าไปภายในงานได้ จะแตกต่างกับงานศิลปะที่แขวนนิ่งอยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการ ศิลปะสามารถเชื่อมผสานกับผู้คนได้ ตนเชื่อว่าโลกศิลปะร่วมสมัย มีความท้าทาย อย่างประติมากรรมขนาดใหญ่ ชื่อ “Liminal Space” จะเห็นภาพสะท้อนระยะหน้า ระยะกลาง ระยะหลัง เป็นภาพตึกภาพเมือง แม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ที่จอแจวุ่นวาย มีพื้นที่หนึ่งสามารถเข้ามาพักผ่อนทางกายและจิตใจได้  ประติมากรรมเพื่อชุมชนเป็น HUB ศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยที่มีค่าของประเทศ นอกจากนี้ เป็นทิศทางที่ดีรัฐจัดเก็บผลงานศิลปะร่วมสมัย มีภาษาใหม่ที่ไม่จำกัดขอบเขต  และนำมาจัดแสดงให้ชม เพราะผลงานศิลปะเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม

อาร์ตเสปซในกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน ถ้ามองศิลปะเป็นเพียงสิ่งประดับตกแต่งจะไม่ยั่งยืน แต่ถ้าสร้างการเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะกับคนในชุมชน จะต่อยอดความรู้และพัฒนาไปข้างหน้า การมีศิลปะกระจายตามพื้นที่ต่างๆ สร้างสุนทรีย์ศาสตร์ เพิ่มความสุขให้กับชีวิต กฤษฎา กล่าว


สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินหญิง กล่าวว่า ‘Liminal Space’ เคยจัดแสดงพื้นที่สาธารณะ Noble Play อาคารโนเบิล เพลินจิต กลางเมือง มีอาคารสูงมากมาย มีความพลุกพล่าน ภายนอกสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน เข้ามาข้างในฉาบด้วยดินเป็นพื้นที่ว่างข้างในอยู่กับตัวเอง การติดตั้งที่ลานวัฒนธรรม เป็นพื้นที่กลางแจ้ง อินเตอร์แอคกับประติมากรรมชิ้นอื่นๆ อยากชวนมาเที่ยวชม ศิลปะพาคนไปอีกโลกจากวิถีชีวิตที่วุ่นวาย เข้ามาสัมผัสงานศิลปะ เปิดพื้นที่ให้ผ่อนคลาย ได้มีจินตนาการ ถือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ จะทำให้เมืองมีมิติและมีสีสันมากขึ้น สวนสีเขียวดีอยู่แล้ว  การมีประติมากรรมในสวนยิ่งดี ส่งเสริมให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น รวมถึงดึงคนเมืองให้ออกมาพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เป็นหมุดหมายใหม่การรวมตัวของคนกรุงเทพฯ เชื่อว่า ประติมากรรมทั้งหมดจะดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำความรู้จักกับหอศิลป์แห่งชาติ  Art HUB ของกรุงเทพฯ ในโอกาสต่อไป


ประติมากรรมเพื่อชุมชนในทัศนะ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์  บอกว่า ทุกชุมชน ทุกจังหวัด ควรมีพื้นที่นำเสนอผลงานศิลปะที่มีความหลากหลาย เข้าถึงผู้คน สำหรับลานวัฒนธรรมสร้างสุข หอศิลป์แห่งชาติ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยหน่วยงานรัฐเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและสะสมผลงานศิลปะร่วมสมัย เปิดพื้นที่ใจกลางเมืองย่านพระราม 9รัชดาภิเษก แสดงผลงานศิลปะให้คนได้ศึกษา เห็นถึงความเคลื่อนไหว ประโยชน์จากงานศิลปะ สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนใกล้เคียงสร้างพื้นที่เรียนรู้ศิลปะ ซึ่งพื้นที่เล็กๆ อย่างลานสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่ติดตั้งประติมากรรมไอ้จุดทำให้คนราชบุรี  นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเติบโตกับชิ้นงานศิลปะ คุ้นเคย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อยากชวนมาชมนอกจากไอ้จุด ยังมีอีกหลายชิ้นที่ดีมาก ที่คิดถึงมากและฝันกลายเป็นจริง DOLLAR กับไอ้จุด ได้อยู่ด้วยกันในพื้นที่ศิลปะกลางเมืองแห่งนี้

สำหรับใครที่อยากชมความสวยงามของประติมากรรมและเก็บประสบการณ์เดินทางที่น่าสนใจแบบเดียวกันนี้ อย่าลืมปักหมุดมาเที่ยวชมประติมากรรมเพื่อชุมชนที่ลานวัฒนธรรมสร้างสุข หอศิลป์แห่งชาติ เข้าชมได้ทุกวัน ไม่ค่าบริการเข้าชม วันที่ 24 ก.ย. - 20 พ.ย. 2567 นี้

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์