วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เหลืองสะพรั่ง “บัวตอง” บานเต็มทุ่ง 22 ปี แลนด์มาร์ค แม่เมาะ ลำปาง

กว่าจะเป็นทุ่งดอกบัวตองที่ออกดอกเหลืองบานสะพรั่งเต็มพื้นที่ 250 ไร่ หมุดหมายสำคัญที่ดึงดูดให้ชาวลำปางและนักท่องเที่ยวได้เข้ามายลโฉม 1 ปีมีเพียงครั้งเดียวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี กฟผ.แม่เมาะ จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง  และการเกิดขึ้นทุ่งดอกบัวตองแห่งนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ลานนาโพสต์จะพาทุกท่านไปรับทราบเรื่องราวที่น่าสนใจนี้พร้อมๆกัน

            - ดอยแม่อูคอต้นทางทุ่งบัวตองแม่เมาะ

นายสตางค์ หัสนันท์  วิทยากรระดับ 7 แผนกปฏิบัติการฟื้นฟูสภาพเหมือง กฟผ.แม่เมาะลำปาง... เล่าความเป็นมาของทุ่งบัวตองว่า แผนกของเราได้รับมอบหมายว่าจะมีการปรับปรุงพื้นที่ทิ้งดินฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ  หัวหน้าแผนกในปี 2545 มีแนวคิดว่าน่าจะหาพันธุ์ไม้เข้ามาปลูกในที่ทิ้งดินเพื่อเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็อยากให้มีความสวยงามด้วย ในช่วงเวลานั้นที่ทุ่งดอกบัวตองที่ดอยแม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอน กำลังได้รับความนิยม ทีมงานจึงได้มีการประสานงานขอกล้าพันธุ์ดอกบัวตองจากดอยแม่อูคอ มาจำนวน 30 ท่อน นำมาเพาะและขยายพันธุ์ที่อำเภอแม่เมาะ ใช้เวลากว่า 6 เดือน จึงนำไปปลูกในแปลงทดลองบนพื้นที่ทิ้งดินของเหมืองแม่เมาะ

- ใช้เวลา 8 ปี ขยายเต็มพื้นที่ 250 ไร่  

นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ที่ กฟผ.แม่เมาะ ได้เริ่มทดลองปลูกดอกบัวตองที่ได้มาจากดอยแม่อูคอ บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ พบว่าดอกบัวตองจากดอยแม่อูคอ เมืองที่มีภูมิอากาศเย็น สามารถเติบโตบนดินจากการขุดเหมืองแม่เมาะ และทนสภาพอากาศที่ร้อนได้เป็นอย่างดี  นับตั้งแต่วันนั้น กฟผ.แม่เมาะ จึงค่อย ๆ ขยายการปลูกดอกบัวตองจนเต็มพื้นที่250 ไร่ ในปี 2552 มาจนถึงปัจจุบัน


            - กว่าจะลงตัวพบปัญหามากมาย 

ในช่วง 2-3 ปี แรกของการปลูกมี สตางค์เล่าว่า ถูกวัว ควายของชาวบ้านเข้ามาทำลายพื้นที่ปลูกดอกบัวตอง จึงหาวิธีป้องกันโดยทำรั้วขึ้นมา และขยายแนวรั้วจนครอบคลุมป้องกันสัตว์เหล่านี้  นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญในเรื่องการบำรุงดิน เนื่องจากพื้นที่ปลูกดอกบัวตองเป็นดินที่มาจากการขุดเหมือง ทำให้ดอกบัวตองเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดี ที่ผ่านมาเราได้ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี เข้ามาช่วยในการปรับปรุงดิน และบำรุงต้น-ดอกมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน กฟผ.แม่เมาะ ได้นำฮิวมิคซึ่งมีธาตุอาหารในดินสูงมาใช้ในการปรับคุณภาพการปลูกดอกบัวตอง 

ส่วนสภาพอากาศที่อำเภอแม่เมาะไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่หากเทียบกับดอยแม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอน ที่เราได้ต้นพันธุ์ดอกบัวตองมา ที่นั่นจะมีความชื้น และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า ทำให้ดอกบัวตองดอยแม่อูคอนั้นมีดอกใหญ่ และบานได้นานกว่า ส่วนทุ่งบัวตอง ที่กฟผ.แม่เมาะ สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง  500 เมตร ทำให้ดอกบัวตองของเราดอกเล็กกว่า แต่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ดอกบัวตองที่แม่เมาะ จะเริ่มบานตั้งแต่ปลายตุลาคม จนถึงช่วงธันวาคม และด้วยการบริหารจัดการการลงแปลงปลูก ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมาชื่นชมความสวยงามของทุ่งบัวตองได้ประมาณ 2 เดือน 

ซึ่งเมื่อเทียบการเดินไปดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เส้นทางมีความคดเคี้ยวค่อนข้างมาก  ทุ่งดอกบัวตอง ที่กฟผ.แม่เมาะ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะไปชมทุ่งดอกไม้ เนื่องจากการเดินทางสะดวกกว่า นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา สวนพฤกษชาติเหมืองแม่เมาะ และสวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ที่มีจุดชมวิวแบบพาโนรามา อีกทั้งนักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอมาแคมป์ปิ้ง นอนดูดาวได้ ส่วนอำเภอแม่เมาะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผาหอบ วัดรัตนคูหา ถ้ำผากล้วย ศาลหลักเมืองอำเภอแม่เมาะ ฯลฯ เรียกได้ว่ามาวันเดียวเที่ยวไม่หมดแน่นอน


            - เบื้องหลังทุ่งบัวตอง คือหยาดเหงื่อของชุมชน

            กว่าจะเป็นทุ่งดอกบัวตองที่ออกดอกเหลืองบานสะพรั่งเต็มทุ่ง 250 ไร่ ในแต่ละปี ต้องใช้เวลากว่า 6 เดือน ในการดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ตัดต้นแก่ ย้ายกล้าใหม่แทนต้นแก่ที่ตาย ตัดแต่งกิ่ง รดน้ำ ให้ปุ๋ย ตัดหญ้า ตัดวัชพืช เรียกได้ว่าทุ่งบัวตองแลนด์มาร์คของลำปาง มาจากหยาดเหงื่อและแรงงานของคนในชุมชนที่ กฟผ.แม่เมาะว่าจ้าง โดยแต่ละปีจะมีการจ้างงานมากกว่า 200 คน สร้างรายได้หมุนเวียนจากการจ้างงาน ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี







นอกจากนี้ เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะที่จัดขึ้นทุกปี ก็เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอำเภอแม่เมาะ ทำให้ชาวแม่เมาะมีรายได้จากการค้าขาย เป็นการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทาง

            - ชาวบ้านดีใจมีงานมีรายได้

ลุงอบ สอนทิพย์ หนึ่งในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ต.แม่เมาะ  เล่าให้ลานนาโพสต์ฟังว่า กฟผ.แม่เมาะให้ชาวบ้าน 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน รวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และไปจดทะเบียนรับรองที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ  ซึ่งทุกปีจะมีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาจับฉลากเพื่อรับการจ้างงานทำหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาทุ่งดอกบัวตอง  ซึ่งในปีนี้กลุ่มของตนได้รับงานตัดแต่งกิ่ง ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชต่าง ๆ  ดูแลดอกบัวตองบนพื้นที่ 25 ไร่ เข้าทำงานปีละ 3 รอบ ทำให้กลุ่มของเรามีรายได้ปีละ 80,000-90,000 บาท 

 

- รอยยิ้มของนักท่องเที่ยวคือความภูมิใจของชุมชน

ตั้งแต่มีทุ่งดอกบัวตอง ได้เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวอำเภอแม่เมาะเป็นจำนวนมาก  ในฐานะที่เป็นคนแม่เมาะ ที่ได้ดูแลดอกบัวตองในทุก ๆ ขั้นตอน รู้สึกดีใจมากที่เห็นแขกต่างบ้านต่างเมือง เห็นชาวลำปางเข้ามาเที่ยวอำเภอแม่เมาะบ้านเรา ได้เห็นรอยยิ้มของทุกคนที่มาชื่นชม มาถ่ายรูปทุ่งบัวตอง ทำให้ความเหนื่อยหายเป็นปลิดทิ้ง ภูมิใจที่ชาวบ้านได้เป็นส่วนหนึ่งของแลนด์มาร์คนี้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลแม่เมาะ มีนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศเข้ามาเที่ยวกันจำนวนมาก ทำให้เกิดรายได้ในพื้นที่ เพียงแค่ซื้อน้ำขวดเดียวก็ถือว่าเงินสะพัดในแม่เมาะบ้านเราแล้ว ลุงอบ กล่าว

 



            - ปลายตุลา ดอกบัวตองบานเต็มทุ่ง

            เนื่องจากปีนี้มีลำปางมีฝนตกชุกมากกว่าทุกปี คาดการณ์ว่าดอกบัวตองแม่เมาะจะบานนานกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มบานช่วงปลายตุลาคม และดอกบัวตองจะบานเต็มที่ (Full Bloom) ช่วงต้นพฤศจิกายน ไปจนถึงปลายธันวาคม เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวสามารถมาชมความสวยงามของทุ่งบัวตองแม่เมาะได้ถึง 2 เดือนเลยทีเดียว


            สำหรับปีนี้ เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะครั้งที่ 20 จัดในวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสทุ่งบัวตองของ กฟผ. ซึ่งเป็นแลนมาร์คของ จ.ลำปาง มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งสวนพฤกษชาติ และสวนเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมรับนักท่องเที่ยว

จากดินที่ขุดออกจากการทำเหมืองแม่เมาะ ถูกนำมากองทับถมกันเป็นภูเขาลูกใหญ่ เนรมิตมาเป็นทุ่งดอกบัวตองที่สวยงาม กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของลำปาง ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 22 ปี  ด้วยความร่วมมือระหว่างกฟผ.แม่เมาะ และชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ  ทุ่งดอกบัวตอง จะยังคงให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมความสวยงามเช่นนี้ในทุกปี  และต้นพฤศจิกายน ถึงปลายธันวาคมนี้ ทุ่งดอกบัวตองบานสะพรั่งพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยว




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์