สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
(สสธวท) ริเริ่มจัดพิธีประกาศเกียรติคุณรางวัลสหพันธ์ฯ
มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกย่อง เชิดชู สตรีนักธุรกิจและนักวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่รุ่นต่อไป
และเป็นแรงบันดาลใจแก่สตรีผู้ประกอบธุรกิจและนักวิชาชีพรุ่นใหม่
และในปีนี้ สหพันธ์ฯ
จัดพิธี “ประกาศเกียรติคุณรางวัลสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
ประจำปี 2567” ขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ
เพื่อร่วมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมที่มั่นคง
โดยนักธุรกิจและนักวิชาชีพสตรีทุกสาขาอาชีพ
พร้อมทั้งบรรลุปรัชญา “อนุรักษ์โลกสีเขียว” คือการดำเนินธุรกิจและวิชาชีพควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
และสนับสนุนสตรีวัยก้าวหน้าให้มีความพร้อมที่จะเป็น“พลังสร้างสรรค์แห่งการเปลี่ยนแปลง”
ที่พึงประสงค์ ณ ห้องแกรนด์
บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า พิธีประกาศเกียรติคุณรางวัลสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นพันธกิจหลักที่สหพันธ์ฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง เชิดชูบทบาทสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ และมีคุณธรรม จริยธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นกำลังใจแก่สตรีนักธุรกิจและนักวิชาชีพที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และกระตุ้นการพัฒนาผลงานที่ดีอยู่แล้วให้ทวีคุณค่ายิ่งขึ้น สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานไปสู่ความสำเร็จที่กว้างขวางแก่กลุ่มสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น และพร้อมที่จะร่วมเป็นสมาชิกของ สสธวท ในจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๒๔ สมาคม
คุณหญิงณัฐิกา
วัธนเวคิน อังอุบลกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า
ในนามของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
ขอขอบคุณคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รวมทั้งภาคีภาครัฐ
และเอกชนที่ร่วมทำงานกับสหพันธ์ฯ มาโดยตลอด
ความสำเร็จของการจัดพิธีประกาศเกียรติคุณฯ ครั้งนี้
เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นและทุ่มเทของ คณะกรรมการจัดงาน ซึ่งนำโดย นางมาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม พร้อมทั้ง
นายกและคณะกรรมการสมาคมสมาชิกภาคเหนือ ทั้ง 7 องค์กร และความร่วมแรงร่วมใจของสมาคมสมาชิก ทั้ง 24 องค์กร เพื่อสนับสนุน
พลังสร้างสรรค์ให้เกิดแก่สตรีผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ
ขอขอบคุณคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินที่ทำงานอย่างแข็งขัน
ขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมเป็นสักขีพยานแก่รางวัลอันทรงคุณค่า
และขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการนี้มาตลอด
และในปีนี้ได้จัดให้มีการมอบรางวัลนักธุรกิจสตรีและนักวิชาชีพสตรีตัวอย่างผู้ทรงคุณค่า
ประจำปี 2567
เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่สตรีนักธุรกิจและนักวิชาชีพที่สร้างคุณานุประโยชน์ให้แก่องค์กรและสังคมมาอย่างยาวนาน โดยผู้ได้รับรางวัลต้องมีอายุ 75 ปีขึ้นไป มีสภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์
และทำงานเพื่อคุณประโยชน์ต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 6
คน อาทิ นางภัทรา ศิลาอ่อน, ดร.สุพร สุวัฒนโนดม เป็นต้น โดยในการนี้
ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว
ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวฐิตินันท์
วัธนเวคิน รองประธานสหพันธ์ฯ
และประธานดำเนินงานโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน 6 ภาคี Ms.Niamh Maree
Collier-Smith Residence Representative, United Nations Development
Program (UNDP) ร่วมแสดงความยินดี
นวราวุธ ศิลปะอาชา
กล่าวว่า ในนามของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ขอขอบคุณสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่เป็นเครือข่ายดำเนินงานด้านการส่งเสริมพัฒนาสตรีทุกระดับ
ให้มีความรู้ความสามารถด้านการประกอบอาชีพและธุรกิจควบคู่ไปกับการทำงานด้านการพัฒนาสังคม
เพื่อให้นักธุรกิจสตรีและนักวิชาชีพตระหนักในหน้าที่และใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
รวมทั้งยกระดับและเชิดชูเกียรตินักธุรกิจสตรีและนักวิชาชีพสตรี ที่มีความสามารถ
มีความวิริยะอุตสาหะจนประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้นำแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเชิงอนุรักษ์
เพื่อเป็นตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งจุดประกายการทำธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคม
รักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคคลทั่วไปในสังคม โอกาสนี้
ขอแสดงความยินดีกับนักธุรกิจสตรีตัวอย่าง นักวิชาชีพสตรีตัวอย่าง
และสตรีผู้นำธุรกิจอนุรักษ์โลกตัวอย่าง ประจำปี 2567
ทุกท่านที่ได้รับประกาศเกียรติคุณฯ ผมเชื่อมั่นว่า
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่ทุกท่านได้รับครั้งนี้
จะเป็นพลังผลักดันให้ทุกท่านมีแรงกายแรงใจในการพัฒนารงานควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อชุมนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสตรีที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลนักธุรกิจสตรีและนักวิชาชีพสตรีตัวอย่างผู้ทรงคุณค่า ทั้งสิ้น 62 คน จากสาขาต่างๆ ได้แก่ นักธุรกิจสตรีตัวอย่างระดับประเทศ 4 คน อาทิ นางชไมมาศ ชาติเมธากุล, ผศ.ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ นักธุรกิจสตรีตัวอย่างระดับจังหวัด 18 คน อาทิ นางภัทรนิษฐ์ เตชะไชยสิทธิ์ นักวิชาชีพสตรีตัวอย่างระดับประเทศ 4 คน อาทิ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย นักวิชาชีพสตรีตัวอย่างระดับจังหวัด 18 คน อาทิ ดร.ประไพศรี ประเสริฐแก้ว นักธุรกิจสตรีดาวรุ่งตัวอย่าง 4 คน อาทิ นางสาวสุชาร์ สารจันทร์ นักวิชาชีพสตรีดาวรุ่งตัวอย่าง 4 คน อาทิ นางสาวศุภลักษณ์ วิริยา ส่วน ว่าที่ร้อยตรีหญิงเจนนิเฟอร์ มาบางครุ ได้รับทุนเดินทางไปร่วมประชุมในฐานะ สมาชิกสตรีวัยก้าวหน้าที่ 1 คน รวมถึงนักธุรกิจสตรีอนุรักษ์โลกตัวอย่าง 6 คน อาทิ นางสาวกาญจนาภา วิชัยดิษฐ และ นักวิชาชีพอนุรักษ์โลกตัวอย่าง 3 คน อาทิ นางแสงจันทร์ ระวังกิจ, นางสาวอรยา สูตะบุตร เป็นต้น
นางมาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม ประธานดำเนินงานการจัดงาน
กล่าว ทุกรางวัล ล้วนคัดเลือกสตรีที่มีความสามารถ
ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงทั้งในภาคธุรกิจและวิชาชีพจากภาครัฐและเอกชน
เชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่สตรีรุ่นใหม่ พัฒนาตัวเอง
ยกระดับสถานภาพในการประกอบธุรกิจหรือในด้านการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพทันยุคสมัย
ตลอดจนคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงงานเพื่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ
นางภัทรา ศิลาอ่อน
นักธุรกิจสตรีตัวอย่างผู้ทรงคุณค่า เผยถึงหลักในการบริหารธุรกิจร้านอาหาร
S&P มานานกว่า 50 ปี ว่า ยึดหลักพรหมวิหาร
4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา
เน้นให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข เพื่อให้ผลงานออกมาดีมีคุณภาพ
และเมื่อใดที่ธุรกิจประสบกับปัญหาหรืออุปสรรค ก็ใช้วิธี “ทำปัญหาให้กลายเป็นโอกาส”
โดยทีมงานคุณภาพเปี่ยมไปด้วยความสามารถในทุกด้าน อันเป็นส่วนผสมระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เก่งกับคนรุ่นเก่าผู้มากประสบการณ์ในทุกๆ
ด้านของธุรกิจ ซึ่งเมื่อร่วมมือร่วมใจ ร่วมกำลังความคิด และคุณธรรมที่เป็นแนวทางปฏิบัติ
จึงนำไปสู่พลังที่พาครอบครัว S&P ก้าวข้ามปัญหาทุกอย่างได้ตลอดมา
ทั้งนี้ชีวิตที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว
ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะรักทั้งครอบครัวและงาน
จึงดูแลทั้งสองให้ดีที่สุด
งานทำอย่างเต็มที่พอเลิกงานหรือวันหยุดก็เป็นเวลาของครอบครัว
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ซีอีโอหญิงแกร่งแห่งธนาคารกสิกรไทย
เจ้าของรางวัล นักวิชาชีพสตรีตัวอย่าง ระดับประเทศ กล่าวถึงหลักการทำงานว่า
ต้องตั้งเป้าหมาย วางแผนงานให้ชัดเจน รวมถึงมอบหมายงานและติดตามงานเป็นระยะ
เพื่อช่วยสนับสนุนเมื่อพนักงานต้องการการตัดสินใจหรือต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใดๆ
ก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้อิสระคนทำงานด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยกให้ต้นแบบคนสำคัญอย่าง
คุณบัณฑูร ล่ำซำ ในเรื่องของวิสัยทัศน์กว้างไกลและความเมตตาสูง
ทำให้เธอได้เรียนรู้จากท่านทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนอีกคน ศ.สังเวียน อินทรวิชัย
คุณพ่อของเธอนั่นเอง เพราะท่านพูดอยู่เสมอว่าท่านไม่ได้เก่งแต่มีความพยายามไม่แพ้ใคร
จุดนี้เธอจึงซึมซับเรื่องความเพียรพยายามมาจากคุณพ่อ ควบคู่กับการเวิร์คฮาร์ด
ตามสไตล์หญิงยุคใหม่ เจ้าตัวไม่ลืมเรื่องการบาลานซ์ชีวิต
ด้วยการจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว เพราะตรงนี้เหมือนเป็นหน่วยเติมพลังงานชั้นเยี่ยมให้กลับมาลุยงานได้เต็มที่
รวมถึงการออกกำลังกาย
ด้วยความเชื่อว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงแล้วหัวใจก็จะแกร่งอีกด้วย
นางแสงจันทร์ ระวังกิจ
ปลัด อบต.โก่งธนู อ.เมือง จ.ลพบุรี เจ้าของรางวัล นักวิชาชีพสตรีอนุรักษ์โลกตัวอย่าง
เผยว่า เธอใช้เวลากว่า 7
ปีกับความมุ่งมั่นที่จะนำพาประชาชนในชุมชนให้มีความสุขบนพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยความมั่นใจว่าหากน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
9 ที่ว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปฏิบัติในชุมชนแล้ว
ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง อยู่รอด
มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
การจัดการขยะซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตทุกคน ผลักดันให้สมาชิกในชุมชนคัดแยกขยะในครัวเรือนตัวเอง
แล้วนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนง่ายๆ คือ ขยะเปียก
นำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อวนกลับมาสู่แปลงผัก ด้วยการเข้าร่วมโครงการพระราชดำริ
โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ฯลฯ
ส่วน ขยะแห้ง เรามีธนาคารขยะให้บริการสมาชิกในชุมชน
โดยทุกครัวเรือนจะมีสมุดธนาคารของตัวเอง
รายได้ส่วนนี้เรานำมาแปลงสวัสดิการดูแลสมาชิกในชุมชนนั่นเอง
นางสาวอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees และ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ เจ้าของรางวัล นักวิชาชีพสตรีอนุรักษ์โลกตัวอย่าง
เล่าถึงจุดเริ่มต้น การทำงาน และอุปสรรค คร่าวๆ ว่าจากแค่
“เปิดเพจ” ค่อยๆ เติบโตเป็น “มูลนิธิ” ต่อด้วยตั้ง “วิสาหกิจเพื่อสังคม”
และตั้ง “บริษัทต้นแบบ” ให้บริการดูแลตัดแต่งต้นไม้ หรือวิเคราะห์ปัญหา
โดยมีการเก็บค่าบริการ เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนนี้ก็ทำงานมากว่า 7 ปีแล้ว โดยผลงานรูปธรรมที่ผ่านมาคือบนถนนสีลม
และถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการจากหลายๆ หน่วยงาน ส่วนเรื่องสถานการณ์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองในปัจจุบัน
อย่างใน กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ เป็นเรื่องน่ายินดี
ตรงที่ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น
หน่วยงานของรัฐมีบุคลากรที่อบรมมาโดยตรงด้านการดูแลต้นไม้มากขึ้น
และภาคเอกชนเช่นเจ้าของโครงการ อาคาร และสถาปนิกเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นไม้ใหญ่อย่างถูกต้องและยั่งยืนมากขึ้น
ในทางตรงข้ามก็มีอุปสรรคหลายด้านเช่นกัน อย่างเรื่อง
“ค่าบริการ” เนื่องจากหลายคนมองว่าราคาค่อนข้างสูง ทว่าในมุมกลับกัน
ทราบหรือไม่กว่าจะได้เป็น “รุกขกร” มาทำงานบนที่สูงบนต้นไม้ได้อย่างปลอดภัยนั้น
ต้องผ่านอบรมไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี นี่ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ต่างๆ
ค่อนข้างมีราคาสูง ซึ่งทางฝั่ง กลุ่ม Big Trees ค่อยๆ
ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
เรื่อง....กอบแก้ว แผนสท้าน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น