วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีท่าอากาศยานลำปาง มีแผนขยายอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และลานจอดเครื่องบิน

 



วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น.ที่อาคารบุญชูตรีทอง โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจ้างออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานลำปาง  โดยมี นายพิษณุ พิจิตร นายช่างไฟฟ้าอาวุโส รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปาง กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ สื่อมวลชน ร่วมรับฟังฯ



กรมท่าอากาศยาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา "SWS GROUP" เป็นผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และลานจอดเครื่องบิน และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าอากาศยานลำปาง จังหวัดลำปาง 1 แห่ง  โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 ซึ่งจะต้องดำเนินงานประชาสัมพันธ์โครงการ ชี้แจงที่มา วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่มีส่วนร่วมโครงการ



สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจออกแบบผังแม่บท ลานจอดเครื่องบิน งานต่อเติมความยาวทางวิ่ง ทางขับ งานอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และองค์ประกอบอื่นๆ ให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารในอนาคต เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กฎหมายกำหนด และศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและองค์ประกอบอื่นๆตามแผนพัฒนาของกรมท่าอากาศยาน



โดยมีชุมชนได้รับผลกระทบ 7 ชุมชนด้วยกัน ประกอบด้วย ชุมชนถาวรสุข ชุมชนการเคหะนครลำปาง  ชุมชนบ้านกอกชุม ชุมชนพระบาทหนองหมู ชุมชนห้วยหาญ ชุมชนบ้านบุญเกิด และชุมชนบ้านหนองห้าตะวันออก   ซึ่งทางเลือกเบื้องต้นสำหรับร่างแผนแม่บทโครงการมี  3 ทางเลือกด้วยกัน โดยให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและสรุปทางเลือกที่ดีที่สุด  ประกอบด้วย

ทางเลือกที่ 1  ออกแบบรายละเอียดโครงการใหม่  ได้แก่อาคารที่พักหลังใหม่ ลานจอดเครื่องบิน และอื่นๆ ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดกับอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม  โดยอาคารหลังใหม่จะเป็นอาคาร 2 ชั้น ให้สามารถรองรับเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ออกแบบทางเข้าออกท่าอากาศยาน ใช้เส้นทางปัจจุบัน และมีการจัดระเบียบถนนใหม่ ออกแบบลานจอดรถใหม่ให้รองรับไม่น้อยกว่า 480 คัน



ทางเลือกที่ 2   ออกแบบพื้นที่โครงการใหม่ โดยอยู่ทางทิศใต้ห่างจากอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ออกแบบถนนทางเข้า-ออก ตัดเส้นทางใหม่เพิ่ม 1 เส้นทาง เป็นทางหลัก ส่วนทางเข้า-ออกปัจจุบันเป็นทางรอง   และมีการจัดระเบียบถนนใหม่ ออกแบบลานจอดรถใหม่ให้รองรับไม่น้อยกว่า 480 คัน  โดยอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่จะเป็นอาคาร 2 ชั้น ให้สามารถรองรับเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ  ทำการปรับปรุงอาคารที่พักหลังเดิมเป็นพื้นที่ห้องรับรองพิเศษ (VVIP)  



ทางเลือกที่ 3 ออกแบบพื้นที่โครงการใหม่  ได้แก่ อาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบิน ตำแหน่งที่ตั้งในการออกแอบบอยู่ทางทิศใต้ห่างจากอาคารผู้โดยสารหลังเดิม ออกแบบถนนทางเข้า-ออก ตัดเส้นทางใหม่เพิ่ม 1 เส้นทาง ใช้เป็นทางหลัก ส่วนทางเข้า-ออกปัจจุบันเป็นทางรอง   และมีการจัดระเบียบถนนใหม่ ออกแบบลานจอดรถใหม่ให้รองรับไม่น้อยกว่า 480 คัน  โดยอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่จะเป็นอาคาร 2 ชั้น ให้สามารถรองรับเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ  ทำการปรับปรุงอาคารที่พักหลังเดิมเป็นพื้นที่ห้องรับรองพิเศษ (VVIP) 


          ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเวนคืนพื้นที่ ยังคงกังวลในเรื่องของการย้ายที่อยู่อาศัย และการเข้าออกจากบ้านเรือนเพราะบางพื้นที่จะมีการก่อสร้างเส้นทางใหม่ อาจจะปิดกั้นทางเข้าออกเดิม   ซึ่งหลายคนยังคงยึดทางเลือกที่  1 เนื่องจากทางเลือกที่ 2 และ 3 จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การรับฟังความคิดเห็น ข้อเท็จจริง สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะต่างๆจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้สอดคล้องกับต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์