วันที่ 27 พ.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องเวียงพนา โรงแรมลำปางเวียง นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการให้กับหน่วยงานราชการและประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้ง รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป พร้อมด้วยนายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน นายชยพล ชมภูรัตน์ นายกเทศมนตรีเมืองล้อมแรด พร้อมด้วยส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา กรรมการลุ่มน้ำวัง เครือข่ายสิ่งแวดล้อม สภาเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม กว่า 140 คน
สืบเนื่องจากลุ่มน้ำวังตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เกษตรทำนาแบบพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ฤดูแล้งแม่น้ำวังมีปริมาณน้ำข้างน้อยทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรกรรม ถึงแม้ว่าเกษตรกรในพื้นที่ได้ทำการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำวัง ที่บ้านล้อมแรด แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำเพื่อทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคได้อย่างเพียงพอ
ในปี 2564 – 2565 กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่าเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำวัง รวมถึงช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ และปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อ ปี ตุลาคม 2566 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมโครงการ ในปี 2567 – 2568 กรมชลประทานได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท วิศวชลกร จำกัด และ บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินงานสำรวจ ออกแบบโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งมีแผนจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2568
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำวังบ้านเหล่า เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำวัง ในเขตพื้นที่ ต.ล้อมแรด และ ต.เถินบุรี อ.เถิน จ.ลำปาง สามารถกักเก็บน้ำตามลำน้ำวังได้ จำนวน 4.41 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 20,500 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีท้องถิ่น การท่องเที่ยว กิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น