วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทต.แม่เมาะ ลงพื้นที่แหล่งโบราณคดีดอยผาตูบฯ-แหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก ตรวจสอบการปฏิบัติตาม EIA


ทต.แม่เมาะ ลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการ EIA ด้านประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบฯ-แหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก ขณะที่ ผลการเฝ้าติดตามและลงพื้นที่ตรวจสอบของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ รอบ 6 เดือน พบยังคงสภาพดี



เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายแผนกานต์ เพิ่มสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ2. (ช.อบม-2.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง นำคณะเทศบาลตำบลแม่เมาะ (ทต.แม่เมาะ) ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย นางสาวสุปราณี บุญลอง รองนายกเทศบาลตำบลแม่เมาะ , นายวัชระ จันทวี รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ และ นายสท้าน มาสืบ ประธานสภาเทศบาลตำบลแม่เมาะ ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (มาตรการ EIA) ด้านประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีของโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี บริเวณแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบ 1-3 และแหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลนาสักและตำบลแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมกับรับทราบรับทราบข้อมูลการดำเนินการ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อแหล่งโบราณคดีในปัจจุบัน และรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวให้คงอยู่สืบไป



นายธิติพันธ์ พงษ์รามัญ หัวหน้ากองสิ่งแวดล้อมเหมือง (กสม-ช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่แหล่งโบราณคดีประเภทภาพเขียนสี (ภาพเขียนสีดอยผาตูบ) ถูกค้นพบในปี 2556 บริเวณพื้นที่บ้านข่วงม่วง หมู่ 8 ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี กฟผ.แม่เมาะ ต่อมา กรมศิลปากรและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เข้ามาตรวจสอบ และกำหนดให้ กฟผ. ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งโบรารณคดีเพิ่มเติมไว้ในเงื่อนไขการอนุญาตประทานบัตร ทั้งแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบ 1-3 และแหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก



โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จะเฝ้าติดตามและลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพผนังถ้ำและแหล่งภาพเขียนสีโบราณ ทุกๆ 6 เดือน ด้วยวิธีการเปรียบเทียบถ่ายภาพ ผลการตรวจสอบล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 พบว่า แหล่งโบราณคดีทั้งสองแหล่งยังคงสภาพดี และผลการเฝ้าติดตามตรวจวัดค่าแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดในบริเวณพื้นที่ทำเหมือง ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2564-2567) พบว่า ค่าแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นมีค่าไม่เกิน 2 มิลลิเมตรต่อวินาที ซึ่งดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานโครงสร้างของอาคารที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ต้องมีค่าไม่เกิน 8 มิลลิเมตรต่อวินาที ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์และติดตั้งทำป้ายประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีและแหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชนอีกด้วย


ขณะที่ นางสาวสุปราณี บุญลอง รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า มีโอกาสเดินทางมาแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบ 1-3 และแหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก เป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจ ได้เห็นธรรมชาติที่ไม่เคยได้เห็นด้วยตาตัวเอง หากได้รับการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น ก็จะสามารถต่อยอดด้านการท่องเที่ยวให้ประชาชนได้มาเรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งเทศบาลตำบลแม่เมาะ และเทศบาลตำบลนาสัก รวมถึง กฟผ.แม่เมาะ จะได้หารือต่อยอดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการทำนุบำรุงต่อไป



ด้าน นายสท้าน มาสืบ ประธานสภาเทศบาลตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้มาเห็นแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่า แสดงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ในอ.แม่เมาะ ที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งแหล่งโบราณคดีดอยผาตูบ 1-3 และแหล่งโบราณคดีถ้ำช้างเผือก สื่อให้เห็นความเป็นมา วิวัฒนาการด้านต่างๆ จากอดีตพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนี้ จะได้นำข้อมูลต่างๆ ไปประเมินว่าจะมีวิธีการ การบูรณาการ และการประชาสัมพันธ์อย่างไรให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับทราบว่า อ.แม่เมาะ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายให้มาเที่ยวชม
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์