วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ชาวบ้านรวมกลุ่มทำ “ไข่เค็มดินเบา” จากแร่ไดอะตอมที่มีอายุมากว่า 13 ล้านปี แห่งเดียวในประเทศไทย กำลังเป็นที่นิยมในตลาดออนไลน์

 

ชาวบ้านเหล่า หมู่ 9 ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ไข่เค็มดินเบาเหล่าภูผาขึ้น เพื่อเป็นการหารายได้เสริม และบางคนถือว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัวในขณะนี้ หลังจากที่ในพื้นที่ของหมู่บ้าน มีเหมืองแร่ หรือบ่อแร่ไดอะตอม หรือ ดินเบา ที่สามารถนำมาใประโยชน์ได้หลากหลาย อีกทั้งยังทานได้ด้วย



ปัจจุบันมีการสัมปทานเหมืองแร่ของบริษัทเอกชน ที่ขุดแร่ไปใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วน ผสมอาหารสัตว์ รวมไปถึงการวิจัยใช้เป็นยารักษาโรคอีกด้วย ถือว่าเป็นแร่ชนิดนี้ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีอยู่ที่แห่งนี้ที่เดียวในประเทศไทย

ชาวบ้านจึงคิดหาแนวทางที่จะนำแร่ดินเบานี้มาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นในชุมชน  โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางเป็นผู้สนับสนุนช่วยกันคิดค้น จนได้วิธีการนำแร่ดินเบามาเป็นส่วนผสมในการทำไข่เค็มนั่นเอง



นางบูรณี กันใจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหล่า หมู่ 9  เปิดเผยว่า แหล่งแร่ดินเบาอยู่คู่กับชาวบ้านมาแต่โบราณสมัยรุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว ในอดีตชาวบ้านนำมาย่างไฟและรับประทานเป็นยารักษาโรค ต่อมาตนเองได้เข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปี 2564  จึงมีแนวคิดที่จะหารายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านที่ว่างจากการทำไร่ทำนา   ได้ร่วมกับหลายฝ่ายรวมทั้งอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง  บริษัทที่สัมปทานเหมืองแร่ จนคิดส่วนผสมทำไข่เค็มสำเร็จ ได้สูตรที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยจะใช้ส่วนผสม 3 อย่าง คือ ดินเบาหรือแร่ไดอะตอม เกลือ และน้ำแร่จากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แต่ไม่สามารถบอกสัดส่วนได้เนื่องจากเป็นสูตรของทางกลุ่ม และได้มีการจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ไข่เค็มดินเบาเหล่าภูผา”  



จุดเด่นของไข่เค็มดินเบา รสชาติจะกลมกล่อม ไม่เค็มจัด  ไข่แดงจะมีความมันอร่อย  เมื่อนำส่วนผสมดินเบาที่ผสมตามสูตรแล้ว เก็บไข่ไว้ในอุณหภูมิปกติเพียง 5 วันก็สามารถนำมาทำไข่ดาวรับประทานได้  โดยอดีตผู้ว่าฯ ชัชวาลย์ ฉายะบุตร เป็นผู้ได้ทดลองชิมและการันตีว่าไข่เค็มของเราอร่อยจริง  และได้นำมาผลิตไข่เค็มดินเบา ออกจางจำหน่ายและขายออนไลน์ จนเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนี้ ซึ่งก็พอช่วยเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านและสร้างงานในพื้นที่ไปอีกด้วย  




 ด้าน น.ส.ชัญชนา คำชา นักธรณีวิทยา ชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง ได้นำไปดูจุดที่มีการสัมปทานแร่ดินเบา หรือแร่ไดอะตอม ที่อยู่เหนือหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร พร้อมให้ข้อมูลว่า  พื้นที่แห่งนี้เมื่อหลายล้านปีก่อน เคยเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่  ต่อมามีการขุดพบแร่ดินเบา หรือแร่ไดอะตอม เป็นซากสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ตายทับถมกันจนกลายเป็นก้อนสีขาว ใช้เวลากว่า 13 ล้านปี อายุเทียบเท่ากับสุสานหอยที่เหมืองแม่เมาะ และจุดนี้ยังเป็นแหล่งที่ขุดพบแร่ดินเบาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ครอบคลุมพื้นที่ 35 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก และบางจุดก็สามารถรับประ ทานได้ด้วย



ทั้งนี้ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า “ไดอะตอม” เป็นสาหร่ายเซลล์เดียว จัดอยู่ในอาณาจักรโครมาลวีโอลาตา สามารถพบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม โครงสร้างของไดอะตอมประกอบด้วย ซิลิกา ห่อหุ้มไซโทพลาสซึม ซึ่งเป็นที่เก็บออร์แกเนลล์ทั้งหมด ไดอะตอมมีประมาณ 10,000 ชนิด แต่ละชนิดก็จะมีรูปร่างที่แตกต่างกัน เช่น เป็นทรงกลม คล้ายไข่ เรือ หรือจาน เป็นต้น ขยายพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์ ในสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่เหมาะสม ไดอะตอมสามารถแบ่งเซลล์ได้ 1,000,000,000 เซลล์ภายใน 1 เดือน ไดอะตอมมีประโยชน์หลายประการต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นอาหารของปลา หอย สัตว์น้ำต่างๆ มนุษย์นำไดอะตอมมาใช้ขัดโลหะ ใช้เป็นฉนวนของเตาไฟ เครื่องทำความเย็น และอุตสาหกรรมต่างๆ









Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์