นายสุทธิพงษ์
เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดหมายว่า โรงไฟฟ้าทดแทน MMRP2
อาจไม่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่า
ให้รองรับคุณภาพของเชื้อเพลิงที่มีอยู่
และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในปี 2575
นายสุทธิพงษ์
เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังการผลิต 2,455 เมกะวัตต์ โดยนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาแบ่งใช้ภายในโรงไฟฟ้าประมาณ
10 เปอร์เซ็นต์ เหลือไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ 2,200 เมกะวัตต์ ส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ ด้วยกำลังการผลิตขนาดนี้
ถือว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และมีความสำคัญต่อประเทศ เนื่องจากมีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น
ๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกที่สุด ส่งผลให้ค่าไฟของประเทศไทยลดลงตามไปด้วย
“จะเห็นว่าในช่วงปี 2565-2566
ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตด้านพลังงาน
โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะถูกเรียกให้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต เสริมกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ
โดยกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางไปแล้ว
เพื่อให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงจนเกินไป
นั่นก็คือความสำคัญของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้
โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4 ที่มีกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ ได้ถูกปรับปรุงและกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังจากเลิกใช้ไปแล้ว
รวมถึงโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 8 ซึ่งตามกำหนดเดิมจะต้องปลดระวางสิ้นปี
2564 ต้องเดินเครื่องต่อไปอีก 4 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 และโรงไฟฟ้าเครื่องที่
9-11 จะต้องปลดระวางสิ้นปี 2567 นี้ ได้มีคำสั่งให้เดินเครื่องต่อในปี 2568
เพิ่มอีก 1 ปี การที่โรงไฟฟ้าถูกขยายอายุออก
จึงเป็นการนำเชื้อเพลิงในอนาคตมาใช้ จากที่เชื้อเพลิงจะไปหมดในปี 2593
จึงอาจจะหมดลงเร็วขึ้นจากเดิมประมาณปี 2586
และเมื่อถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าลดน้อยลง
โรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลงจาก 2,455 เมกะวัตต์ เหลือ 1,315 เมกะวัตต์ ในปี 2569
ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า
2 กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่
8-9 (Mae Moh Power Plant Unit 8-9 Replacement Project : MMRP2) ด้วยว่า กฟผ.ได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เครื่องที่ 4-7 ไปแล้ว 1
โรง คือ MMRP1
ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลดลง และมีแผนจะทำโรงไฟฟ้าทดแทน MMRP2 ซึ่งตามแผนเดิมจะต้องเดินเครื่องในปี 2569 แต่ประสบปัญหาความล่าช้าไปจากแผน
สาเหตุความล่าช้า
เนื่องจากนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net
Zero) ทำให้ผู้พัฒนาโครงการไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จึงจำเป็นต้องหยุดผลิตเครื่องจักรที่จะนำมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทำให้ติดปัญหาว่าผู้ที่เข้ามาเสนอราคาไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงมีแนวโน้มว่าจะไม่มีโรงไฟฟ้าทดแทน MMRP2 เกิดขึ้น
“เมื่อประเทศไทยยังคงต้องการค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงเกินไป
เพื่อให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้ กฟผ.แม่เมาะ
จึงได้วางแผนการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 10-11 ให้รองรับกับคุณภาพของเชื้อเพลิงที่มีอยู่ และสอดคล้องกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
ฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 2575 ได้ เพื่อเป็นกำลังการผลิตทดแทนโรงไฟฟ้า MMRP2 ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
สำหรับ โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่
8-9 หรือ MMRP2 ได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 24
พฤษภาคม 2565 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ก่อสร้างและติดตั้ง โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
หรือ EHIA อย่างเคร่งครัด
ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision
1) โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2)
มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปี 2569
แต่เนื่องจากขณะนี้ไม่มีผู้ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคางานก่อสร้างโครงการฯ
จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง หรืออาจจะไม่มีโรงไฟฟ้า MMRP2 เกิดขึ้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น