วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

โรงไฟฟ้าแม่เมาะศึกษาการนำเทคโนโลยี CCUS ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสร้างอนาคตลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เตรียมเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน


การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นวิกฤตสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซ CO2จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ภาคพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ


โรงไฟฟ้าแม่เมาะตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้ศึกษาค้นคว้า เทคโนโลยีที่จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เทคโนโลยีนี้เรียกว่า CCUS (Carbon Capture, Utilization, and Storage) เป็นเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะนำมาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้จัดตั้งคณะทำงานย่อยด้านการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในงาน Mae Moh Carbon Capture Project เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี CCUS โดยคณะทำงานฯ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้น้ำขี้เถ้าที่ออกจากอุปกรณ์ลำเลียงขี้เถ้าออกจากใต้เตา(Submerged Scraper Conveyor)ด้วยเทคนิค Mineral Carbonation ซึ่งเป็นกระบวนการดักจับก๊าซCO2ให้ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุที่มีองค์ประกอบของแคลเซียม ผลิตภัณฑ์หลักที่ได้คือแร่คาร์บอเนตที่เสถียร เช่น หินปูน (CaCO3) เป็นต้น กระบวนการดังกล่าวเป็นการกักเก็บ CO2 อย่างถาวรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความเสถียรสูงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ปัจจุบันคณะทำงานได้จัดทำชุดอุปกรณ์ต้นแบบในการดักจับก๊าซ CO2ขนาด 100 ลิตร และอยู่ระหว่างขยายผลการศึกษาที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14
การนำเทคโนโลยี CCUS มาใช้งานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาใช้ประโยชน์ในกระบวนต่างๆ ของโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต เป็นการบูรณาการการจัดการของเสียและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้โรงไฟฟ้าสามารถปฏิบัติตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์