วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

47ปี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ วันนั้นถึงวันนี้ผลิตไฟไม่เคยหยุด

 


"มุ่งปรับเปลี่ยน ท่ามกลางวิกฤตพลังงาน สู่พลังงานสะอาด ตามนโยบายรัฐ เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ" เป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะทั้งปัจจุบัน และ ก้าวต่อไปในอนาคต

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้มุ่งพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน มีการปรับปรุงระบบดักจับมลสารและระบบบำบัดต่างๆ ภายในโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะยังมีการปรับปรุงอุปกรณ์และเครื่องจักรให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางพลังงานสะอาดของประเทศ


แม้ว่าในอนาคตมีความท้าทายจากปริมาณถ่านหินที่ลดลงและคาดว่าจะหมดไปในปี 2583 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มุ่งปรับเปลี่ยนท่ามกลางวิกฤติพลังงาน สู่พลังงานสะอาด ตามนโยบายภาครัฐ เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ที่นอกจากเตรียมพร้อมการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเพื่อให้สอดรับกับค่าควบคุมตามมาตรฐานกฎหมายสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 2575 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ศึกษาการนำเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ มาใช้ร่วมกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อาทิ การศึกษาการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อใช้เชื้อเพลิงชีวมวล การศึกษาการนำเชื้อเพลิงชีวมวลมาเผาร่วมกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน รวมไปถึงการศึกษาเชื้อเพลิงอนาคต เช่น ไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR ) ซึ่งทั้งหมดเป็นศักยภาพของพื้นที่แม่เมาะที่สามารถดำเนินการได้หากได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล


กฟผ.ได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 1-3 ในปี พ.ศ. 2518 กำลังผลิต เครื่องละ 75 เมกะวัตต์ เพื่อลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ต่อมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2525) มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น กฟผ. จึงได้เริ่มทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 - 7 กำลังการผลิตเครื่องละ 150 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2524 โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 และในปีเดียวกัน วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ต่อมาในปี พ.ศ.2529 กฟผ.ได้เริ่มทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13 กำลังผลิต เครื่องละ 300 เมกะวัตต์ จนแล้วเสร็จและจ่ายไฟเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2538 และล่าสุด กฟผ.ได้รับอนุมัติและได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 เมื่อปี พ.ศ.2558 และเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 กำลังการผลิต 655 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,455 เมกะวัตต์


ทั้งนี้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 1-3 กำลังการผลิต 225 เมกะวัตต์ ได้หยุดเดินเครื่องและปลดออกจากระบบตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ได้หยุดเดินเครื่องและปลดออกจากระบบเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้เห็นชอบให้นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ กลับมาเดินเครื่องใหม่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยเหลือภาระค่าไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ



นับเป็นเวลารวมกว่า 40 ปีแล้วจากพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และกว่า 47 ปีที่เราได้ผลิตกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง หล่อเลี้ยง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และวิถีของผู้คน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 41 โรงไฟฟ้าแม่เมาะยังคงเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ยืนหยัดเคียงข้างคนไทย ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และพร้อมปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคตอย่างยั่งยืน








Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์