วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2568

ครั้งแรกใน กฟผ.โรงไฟฟ้าแม่เมาะเปิดตัวเครื่องต้นแบบ ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยน้ำขี้เถ้า

โรงไฟฟ้าแม่เมาะเปิดตัวโครงการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ด้วยน้ำขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ที่มีคุณสมบัติเป็นด่างเมื่อผสมเข้ากับ Fuel Gas ที่มี CO2 ผลคือ น้ำด่างสามารถดักจับ CO2 ทดลองด้วยอุปกรณ์ต้นแบบขนาด 100 ลิตร สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4.3 กรัม- CO2 ต่อนาที เตรียมขยายผลตั้งเป้าให้สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ 850 ตัน - CO2 ต่อปี

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568  นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2  พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดโครงการศึกษาการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ด้วยน้ำขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 โดยเทคนิค Mineral Carbonation โดยมีนายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นผู้กล่าวรายงาน ณ บริเวณ Stack โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กล่าวว่า “ประเทศไทยตั้งเป้ามุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 กฟผ.มีคณะกรรมการร่าง Carbon Neutrality road map โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีผู้แทนในคณะดังกล่าว ทำหน้าที่หาวิธีในการลดการปลดปล่อย CO2  ให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.  โดยการดักจับ CO2 มีหลายวิธี ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีและต้องสร้างโรงงานสำหรับดักจับโดยเฉพาะ ซึ่งการใช้สารเคมีในการดักจับจะใช้งบประมาณในการดำเนินงานที่สูงมาก  ดังนั้นในการดักจับ CO2 ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จึงทดลองใช้น้ำขี้เถ้าใต้เตาของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 14 ที่ใช้ในการหล่อเย็นใต้เตาและเตรียมนำน้ำดังกล่าวไปบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่  โดยทีมงานได้ศึกษาพบว่า   น้ำขี้เถ้าใต้เตาดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นด่าง  น้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างเมื่อผสมเข้ากับ Fuel Gas ที่มี CO2  ผลคือ น้ำด่างสามารถดักจับ CO2 ได้ โดยการทดลองในห้องปฏิบัติการ (LAB) พบว่าสามารถดักจับได้จริงและ ได้วัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งมีประโยชน์ในการดักจับก๊าซซัลเฟอร์  ไดออกไซด์ ฉะนั้นการลงทุนในโครงการนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วและสิ่งที่เหลือใช้ 

สำหรับปริมาณน้ำขี้เถ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 มีปริมาณน้ำขี้เถ้าที่ไหลผ่าน (flow rate) อยู่ที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันใช้งานน้ำขี้เถ้าในการทดลองดักจับ CO2 อยู่ที่ 14 ลิตรต่อนาที  ดังนั้นหากใช้งานน้ำขี้เถ้าที่ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จากการคำนวณแล้วจะสามารถดักจับ CO2 ได้ถึง  ปีละ 850 ตัน ซึ่งเป็นเป้าหมายในอนาคตที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะดำเนินการต่อไป”

โครงการศึกษาการดักจับ CO2 ด้วยน้ำขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 14 เป็นการดำเนินการของคณะทำงานย่อยด้านการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในงาน Mae Moh Carbon Capture and Storage Project ตั้งแต่ปี 2567 เพื่อตอบสนองนโยบาย EGAT 2025 Carbon Neutrality และ 2065 Net Zero Roadmap ของ กฟผ.โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ศึกษาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บ CO2  และศึกษาความเป็นไปได้หากนำมาใช้งานกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการนำของเสียหรือ Waste จากกระบวนการผลิตไฟฟ้ามาดักจับ CO2 ด้วยเทคโนโลยี Mineral Carbonation ทั้งนี้คณะทำงานมีแผนงานที่จะขยายโครงการโดยจะจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2568 เพื่อใช้ในการออกแบบระบบให้เดินเครื่องแบบต่อเนื่องและรองรับน้ำขี้เถ้าในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าอื่นๆ ต่อไป

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์