วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568

สรข.3 และสอจ.ลำปาง ตรวจวัดค่าแรงสั่นสะเทือนจากการทำเหมือง หลังชาวบ้านต.นาสัก ร้องเรียนสื่อมวลชนบ้านเรือนเสียหาย

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นางสุทธินี จารุมาศ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ , นายศิริวัฒน์ ธรรมลังกา วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 เชียงใหม่ (สรข.3) , นายวรเฉลิม เดชานพรัตน์ วิศวกรเหมืองแร่ปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง (สอจ.ลำปาง) ,นายสุวิทย์ ตาธิมา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาสัก (อบต.นาสัก) อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วย นายอุทัย สังกุลนะ นายช่างโยธาชำนาญงาน และตัวแทนชุมชนตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมฯ บ้านแม่จาง และบ้านข่วงม่วง ต.นาสัก เข้าร่วมการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมีบริเวณสุสานเผาศพบ้านแม่จาง (หมู่ที่ 1) ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

โดยการตรวจสอบดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ราษฎร ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ร้องเรียนกับสื่อมวลชนบ้านเรือนเกิดการแตกร้าวอันเนื่องมาจากกิจกรรมการทำเหมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่ สรข.3  พร้อมด้วย หน่วยงานราชการรวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และมีความเห็นว่า หากชุมชนมีความสงสัยเรื่องแรงสั่นสะเทือนให้ตัวแทนชุมชนร่วมตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสัก (บ้านแม่จางและบ้านข่วงม่วง) แจ้งให้เจ้าหน้าที่ สรข.3 เข้าตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนได้ ทั้งนี้ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ จึงเป็นตัวกลางประสานขอรับการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมีบริเวณพื้นที่ ต.นาสัก

ทั้งนี้ การตรวจสอบแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ทีม ประกอบด้วย ทีมที่ 1 เจ้าหน้าที่ สรข.3 ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน ร่วมกับ ตัวแทน อบต.นาสัก ตัวแทนชุมชนฯ และตัวแทน กฟผ. บริเวณสุสานเผาศพบ้านแม่จาง (หมู่ที่ 1) ต.นาสัก และทีมที่ 2 เจ้าหน้าที่ สรข.3 , เจ้าหน้าที่ สอจ.ลำปาง และตัวแทน กฟผ. ตรวจสอบขั้นตอนการระเบิดอยู่บริเวณพื้นที่หน้างาน ในเขตประทานบัตรที่ 30481/16050 ชนิดหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี หน้างานระเบิด 8 เมตร

สำหรับผลจากการวัดความสั่นสะเทือน พบว่า ไม่สามารถตรวจวัดได้ เนื่องจากมีค่าน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านมีความประสงค์ให้ กฟผ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าแรงสั่นสะเทือนบริเวณบ้านผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นระยะ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าแรงสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือน

กฟผ.แม่เมาะ ตระหนักและให้ความสำคัญกับชุมชนเสมอมา ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และสามารถตรวจสอบได้เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม 

 

 

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์