วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาพัฒนาเครือข่าย 17 จังหวัด ผนึกพลังบัณฑิต-อสร. ดันแรงงานเข้าถึงประชาชน

วันที่ 24 ก.ค.68  ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการติดตามผลและระดมสมองเพื่อพัฒนาต้นแบบเครือข่ายด้านแรงงานในระดับภาคประจำปีงบประมาณ พ.. 2568 ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดลำปาง โดยมี นายอิทธิเดช สุพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจและประเมินผล กล่าวรายงาน ร่วมด้วย แรงงานจังหวัด บัณฑิตแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงแรงงาน  ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200 คน



นายอิทธิเดช สุพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจและประเมินผล  กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนภารกิจการส่งมอบบริการด้านแรงงานแก่ประชาชนในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายบัณฑิตแรงงานและอาสาสมัครแรงงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายทั้ง 2 กลุ่มนี้ สามารถตอบสนองความต้องการด้านแรงงานในระดับอำเภอและตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพและใกล้ชิดกับชุมชน ปัจจุบันมีบัณฑิตแรงงานทั่วประเทศ 725 คน เฉพาะภาคกลาง 126 คน และอาสาสมัครแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ 8,154 คน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของเครือข่ายแรงงาน โดยเฉพาะบัณฑิตแรงงานนั้นยังต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานโดยสำนักตรวจและประเมินผลจึงได้จัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานและระดมสมองจากผู้แทนสำนักงานแรงงานจังหวัดและบัณฑิตแรงงาน ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และถอดบทเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงานและเป้าหมายของการมีบัณฑิตแรงงานอย่างแท้จริง โดยจะหมุนเวียนไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ



ด้าน ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินโครงการจ้างบัณฑิตแรงงานมาตั้งแต่ปี2550 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี) และในปี 2567 ได้ขยายการดำเนินงานบัณฑิตแรงงานออกไปอีก 73 จังหวัด รวมมีจำนวนบัณฑิตแรงงานทั่วประเทศ จำนวน 725 คน

ที่ผ่านมาบัณฑิตแรงงานได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ เป็นสื่อกลางประสานความเข้าใจระหว่างรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์  ที่สำคัญคือการให้บริการด้านแรงงานทั้งข้อมูลข่าวสาร รับเรื่อง คัดกรอง และส่งต่อในด้านการจัดหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือ ประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีการตอบรับที่ดีจากประชาชน

ส่วนอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548  ปัจจุบันมีจำนวนอาสาสมัครแรงงานในประเทศ 7,746 คน และในต่างประเทศอีก 408 คน โดยมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเบาะแสความเคลื่อนไหวด้านแรงงานแก่ประชาชนในพื้นที่ และติดต่อประสานงานคนหางานและผู้ใช้แรงงานกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งของกระทรวงแรงงานเช่นเดียวกัน

 



ความคาดหวังต่อบัณฑิตแรงงาน และอาสาสมัครแรงงาน

ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน  กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงแรงงานอยากเห็นก็คือ บัณฑิตแรงงานและอาสาสมัครแรงงาน บูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ โดย อสร. ถือเป็นรากแก้วของชุมชน เป็นผู้เสียสละจิตอาสา มีเครือข่ายและประสบการณ์ ส่วนบัณฑิตแรงงานนั้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง และสื่อสารทันสมัย ซึ่งจะเป็นพลังของคน 2 รุ่น ที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ด้วยพลังแห่งประสบการณ์ และพลังของคนรุ่นใหม่ทุกท่านจึงเปรียบเสมือน เจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ช่วยขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงานทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ประสาน...แต่เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของชุมชน บัณฑิตแรงงาน และ อสร. จึงต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายผลการทำงาน เป็นผู้รวบรวมเสียงของแรงงานเพื่อเสนอนโยบาย และทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่น




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์