วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

มิงกะลาบา เชียงตุง



เชียงตุง ไม่คล้ายร่างกุ้ง แม้จะอยู่ในดินแดนพม่าด้วยกัน หากเชียงตุงคือถิ่นฐานของไทยใหญ่ ชนกลุ่มน้อย ไทยใหญ่พูดภาษาไทย กินอยู่คล้ายเมืองไทย เราจึงเหมือนไม่ใช่คนต่างถิ่น หรือคนแปลกหน้าในการมาเยี่ยมเยือนเชียงตุงครั้งนี้

ไม่บ่อยนักที่ แร็ค ลานนา จะออกเดินทางในฐานะคนข่าวรับเชิญ เนื่องเพราะเวลาที่มีจำกัด ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อวันที่ 28 มีนาที่ผ่านมา จะบอกว่าเป็นเพราะโชคชะตาพาไปก็ว่าได้ เพราะเพิ่งเสร็จงานใหญ่บวกกับหนึ่งในภาระงานสอนก็อยู่ในช่วงปิดเทอม ทำให้ แร็ค ลานนา ได้มีโอกาสไปเยือนเชียงตุงกับโครงการชุมชนมรดกโลก เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงแห่งเมียนมาร์กับประเทศไทย โดยใช้ดนตรีและกีฬา สื่อสากลที่ไม่ต้องใช้ภาษาก็สามารถเข้าใจกันได้

ประเด็นหลักของ “งานสานสัมพันธ์...ดนตรีกีฬา เมียนมาร์-ไทย” ในครั้งนี้มีเป้าประสงค์ในปี 2020 นั่นคืออีก 6 ปีข้างหน้า เพื่ออนุรักษ์เมืองเชียงตุง ไม่ให้เกิด Culture Shock จนทำลายเสน่ห์ของเมืองนี้ไป

ระยะทาง 170 กิโลเมตร จากด่านแม่สายผ่านท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าสู่เชียงตุงหากเป็นการเดินทางในประเทศไทยระยะทางเพียงเท่านี้คงใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง แต่ด้วยเส้นทางการเดินทางเป็นถนนลูกรัง แถมยังเดินทางในช่วงกลางคืน ทำให้ใช้เวลาเดินทางเพิ่มเป็นเท่าตัว แต่เมื่อได้ถึงจุดหมายหมายที่เชียงตุง แร็ค ลานนาแอนด์เดอะแก๊งค์ ก็ไม่รอช้ามุ่งหน้าเข้าร่วมถนนคนเดินแบบฉบับชาวเชียงตุง ที่จะมีอาหารพื้นเมืองรอให้คนต่างถิ่นได้ลิ้มชิมรสชาดอันเป็นเอกลักษณ์ที่มาจากการผสมผสานวิถีชาวเมียนมาร์และชาวไต(ไทย)ใหญ่ ที่น่าแปลกคือรสชาดถูกปากคนไทยได้อย่างได้น่าประหลาด ทั้งข้าวกั๊นจิ้น ข้าวซอย(ก๋วยเตี๋ยว) แว๊ดตาต๊กโท๊ะ(คล้ายพะโล)  โดยเฉพาะตลาดเช้าที่พลาดไม่ได้เพราะเราจะได้เห็นวิถีเมืองแบบไร้สิ่งเจือปนในราคาที่ไม่ได้เอาเปรียบนักเดินทางต่างถิ่นเลย

การท่องเที่ยวแบบ แร็ค ลานนา นั้นไม่ยากเลย เพราะแต่ละทริปที่ได้ไปไม่เคยคาดหวังว่าต้องได้รับการดูแลอย่างบุคคล VIP ในฐานะฐานันดรที่ 4 ทำให้เราได้สัมผัสกับเนื้อแท้ของวัฒนธรรมที่ไม่ประดิษฐ์สร้างภาพใดๆทั้งสิ้น

เชียงตุงเป็นเมืองเล็กๆที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา รอรัฐบาลปล่อยไฟในช่วงหัวค่ำถึงราวๆสี่ทุ่ม หากต้องการไฟต้องอาศัยเครื่องปั่นไฟ น้อยครอบครัวที่จะติดตั้งระบบโซลาร์เซล แต่ถึงกระนั้นหลังพระอาทิตย์ลาลับฟ้า อากาศในพื้นที่นั้นกลับเย็นสบาย การสื่อสารก็ไม่ยากเพราะคนในพื้นที่พูดไทยได้ มีสินค้าจากประเทศไทยเกือบทุกอย่าง แต่ที่น่าสนใจคือตึกรามบ้านช่องแบบดั้งเดิมด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมที่คลาสสิกและวิถีชีวิตที่ไม่พึ่งพาความทันสมัยเกินความจำเป็น

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์ที่จะเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความเรียบง่าย แต่หากเทคโนโลยีมาทำให้วิถีเชียงตุงเปลี่ยนไปอาจทำให้คนท้องถิ่นตั้งรับไม่ทันก็เป็นได้ เพราะตอนนี้ปัญหาที่เชียงตุงกำลังเผชิญหน้าในระบบสาธารณสุข ระบบการกำจัดขยะยังไม่ดีพอ ชยะพลาสติกมากมายไร้ที่ทิ้ง แถมพ่วงด้วยปัญหาวัชพืชน้ำอย่างผักตบชวาเบ่งบานในแหล่งน้ำทั้งที่เชียงตุงไม่มีอุตสาหกรรมอะไรเลย มีเพียงชุมชนและเกษตรกร และนั่นคือโจทย์ที่คนในพื้นที่และโครงการชุมชนมรดกโลกต้องทำการบ้านต่อไป

เหมือนที่บาหลี หลวงพระบาง ตึกรามบ้านช่อง ขุนเขาลำเนาไพร ยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ได้ ความเป็นเมืองมรดกโลก ก็จะเป็นกำแพงขวางกั้น มิให้ความเจริญทางด้านวัตถุ มาทำลายคุณค่าของเชียงตุงไปได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 971 ประจำวันที่ 4 - 10 เมษายน 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์