วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทเรียนแห่งท้องทุ่ง ของดีที่หายไป


มื่อเมืองขยายตัว ความเจริญที่แสดงออกด้วยสัญลักษณ์ห้างสรรพสินค้าต่างถิ่น คอนโด หมู่บ้านจัดสรร วิถีคนบางกอกที่คืบคลานเข้ามา คนท้องถิ่นทิ้งไร่นามาเป็นลูกจ้างในภาคบริการ วิถีชาวบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่นถูกลืมเลือน ความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองลำปางกำลังจะหายไป หายไปพร้อมๆกับการอบรมบ่มเพาะวิชาความรู้ที่สอนความเป็นมนุษย์ให้กับเด็กๆ 

ย้อนเวลาถอยหลังไปสมัย แร็ค ลานนา เป็นเด็กน้อยผูกผมเปีย ความทรงจำในวัยเด็กประถม จำได้ว่าต้องเรียนหนังสือหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สปช.(สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) สลน. (สร้างเสริมลักษณะนิสัย) กพอ. (การงานพื้นฐานอาชีพ)

มาตอนนี้วิชาเหล่านี้หายไป กลายเป็นวิชาอื่นๆด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น สอดรับกับพัฒนาการของสังคม ดังนั้นการปรับปรุงเนื้อหาโดยที่ยังคงหลักใหญ่ใจความของพื้นฐานองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง 

การ จัดการศึกษาทุกวันนี้แบ่งเป็นเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียนเป็นกลุ่มสาระ โดยในแต่ละกลุ่มสาระก็จะมีหลายวิชาประกอบ โดยเนื้อหาความรู้ก็ยังคล้ายกับที่เรียนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก แต่ผ่านกระบวนการบริหารจัดการเสียใหม่ ฉะนั้นจึงไม่แปลกหากเราลองฟังเสียงเด็กๆข้างกายเราจะเห็นว่ามีเสียงโอดโอย กับกองการบ้านที่พะเนิน เพราะทุกวิชาต่างก็มีการบ้าน โครงงาน รายงาน ทั้งกลุ่มทั้งเดี่ยว แม้แต่วิชาพละศึกษาที่สมัยก่อนเราเรียนทฤษฎีและปฏิบัติ ออกกำลังกาย กลายเป็นว่าทุกวันนี้มีการบ้านเป็นรายงานวิชาพละ!!
 
แน่นอนว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่วิชาต่างๆจะโน้มไปในลักษณะที่เอื้อแก่การใช้ชีวิตในสังคม ชุมชนเมืองเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับว่าการศึกษาบ้านเราให้การศึกษาเพื่อผลิตมนุษย์ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมแรงงาน เรียนสูงๆเพื่อมาทำงาน ป้อนทัศนคติว่าอาชีพที่ดีคืออาชีพที่ทำเงินมากๆ ไม่ได้แนะนำแนะแนวให้เยาวชนได้มีวิธีการคิดเป็นของตัวเอง ดังนั้นในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งจึงเกิดค่านิยมแห่กันไปเรียนวิศวกรรม เรียนแพทย์ จนสังคมตั้งค่านิยมไว้ว่าคนเป็นหมอ วิศวกร สถาปัตย์ คือคนที่สุดยอด จึงไม่มีใครอยากเป็นเกษตร ชาวนา ชาวไร่ เพราะบอกกันว่าทำงานหนักได้เงินน้อย ทั้งที่ทุกคนต้องกิน” 

แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกอาชีพสุจริตล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมทั้งสิ้น ดังนั้นจึงได้มีการปรับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยในหลักสูตรต้องมีการใส่เนื้อหาท้องถิ่นศึกษาเข้าไป เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนสามารถพัฒนาเนื้อหาสาระที่สอดคล้อง และดีไซน์การสอนเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่  สามารถ ปรับเนื้อหาเพิ่มเติมกระบวนการเรียนการสอน และสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สภาพท้องถิ่นและทักษะไปใช้ในการดำรงชีวิตและ พัฒนาประเทศชาติได้
 
เหล่านี้ดูจะเป็นคำพูดที่สวยหรูของหอคอยงาช้าง แต่แปลกตรงที่วิธีการเรียนสมัยนี้ ท้องถิ่นศึกษากลายเป็นวิชาที่เด็ก ต้องเรียน อย่างเช่นเรียนอู้กำเมือง ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรจะอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันไม่ใช่หรือ ทุ่งนาที่เคยมีมากมายแม้แต่ในตัวเมืองลำปาง กลายเป็นว่าทุกวันนี้หมูบ้านจัดสรรจะผุดขึ้นมากมาย แต่เด็กๆหลายคนกลับไม่รู้ที่นากลางโต้ง ไม่รู้จักคันนา หลายสถาบันการศึกษาจึงจัดการการเรียนท้องถิ่นศึกษาโดยการพาเด็กๆไปทุ่งนา พาไปขี่ควาย ทั้งที่เกือบทุกอำเภอของจังหวัดลำปางก็ยังมีสภาพความเป็นท้องถิ่นที่สมบูรณ์ และหลายโรงเรียนในเมืองกลับเลือกที่จะพาเด็กนักเรียนไปดูทุ่งนาที่ต่าง จังหวัดซะอย่างนั้น หลายๆอย่างที่เด็กๆสามารถเรียนรู้ได้จากครอบครัวได้จากสภาพแวดล้อม กลับกลายเป็นว่าต้องมาถูกบรรจุจำกัดอยู่ในโรงเรียน
 
ได้ มีนักวิชาการลำปางกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางได้ทำการศึกษาองค์ ความรู้เรื่องภูมิปัญหาท้องถิ่นของลำปาง ไม่ว่าจะเป็น ข้าวแต๋น น้ำปู๋ น้ำผัก มีการรวบรวมวิถีชาวบ้าน กระบวนการผลิตอาหารท้องถิ่นที่นับถอยหลังวันสูญหายโดยเฉพาะน้ำผักของดีเมือง แจ้ห่มที่เหลือคุณยายวัย80 ปี ทำอยู่คนเดียว โดยเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านตัวละครในรูปแบบนิทานเรื่องเล่า บทเรียนแห่งท้องทุ่ง โรงเรียนแห่งชีวิตบทเรียนที่ขัดเกลาภาษาโดยอาจารย์ภาษาไทย และมีดัชนีคำเมือง เพื่อความเข้าใจหากนำไปเผยแพร่ให้แก่จังหวัดอื่น นี่อาจจะเป็นก้าวเล็กๆเพื่อท้องถิ่นศึกษา ที่แฝงมิติอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ดูจะเป็นแบบเรียนที่หลุดกรอบแบบแผนการศึกษาในยุคปัจจุบันที่ยึดติดอยู่ในกรอบ โดยไม่ดูบริบทตัวนักเรียน 

จำได้ว่าสมัยก่อนในวิชาภาษาไทยจะมีหนังสืออ่านนอกเวลาให้อ่านแทบทุกเทอม แล้วตรวจวัดความเข้าใจด้วยแบบทดสอบสั้น ซึ่งในสมัยนั้นจำได้ว่าเพื่อนๆหลายคนติดนิสัยรักการอ่านไปโดยปริยาย แต่สมัยนี้นอกจากวิชาที่มากขึ้น การบ้านที่มากขึ้น เนื้อหาวิชาทั้งหลายก็ดูจะมีแต่ตัวหนังสือ ในขณะที่เราต้องการให้เด็กๆของเรา คิดได้คิดเป็น  หลายอย่างที่กระบวนการสอนสวนทางกับเป้าหมายที่เราต้องการ
 
วันนี้การอ่านไม่จำเป็น การใช้ความคิดไม่สำคัญ หากรู้จักเชื่อฟังก็เพียงพอแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1005 ประจำวันที่ 21 - 27 พฤศจิกายน  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์