วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

10ปีบนเส้นทางสู้ เครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ

 

วันนี้ที่รอคอยของ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  นำโดย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายฯ  ในปัจจุบัน  ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2545  จากการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านกว่า 3,000 คน ที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน  แต่จากการต่อสู้ที่ยาวนาน  จากสมาชิกของเครือข่ายที่มีมากถึง 3,000 คน ได้อ่อนล้าและท้อแท้ที่จะต่อสู้ ปัจจุบันทางเครือข่ายฯ จึงเหลือสมาชิกอยู่เพียง 331 คน

การต่อสู้ของกลุ่มเครือข่ายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ในปี 2547 ทางกลุ่มเครือข่ายฯได้ยื่นฟ้อง กฟผ.แม่เมาะกรณีละเมิดที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ  และร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลอพยพชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกจากพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ  ซึ่งรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี 9 พ.ย. 47 เห็นชอบอพยพโยกย้ายชุมชน 4 หมู่บ้าน 669 ครอบครัวออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย  ต่อมาปี 2550  ได้มีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จนมีมติเสนอรัฐบาลให้อพยพชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกจากพื้นที่ตามที่ราษฎรร้องขอภายใน 60  วัน และให้รัฐบาลสรุปบทเรียนและปัญหาผลกระทบฯเป็นกรณีตัวอย่างของการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ ภายในระยะเวลา  120  วัน   และในปี 2551 รัฐบาลมีมติครม. วันที่ 15 ม.ค.51 จ่ายเงินกว่า 235 ล้านบาทเพื่ออพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากเหมืองและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ จ.ลำปางไปยังพื้นที่ ที่รัฐจัดหาไว้ให้  แต่จากชาวบ้าน 669 หลังคาเรือน ได้มีการอพยพมาอยู่ที่ชุมชนม่อนหินฟู หมู่ 5 ต.สบป้าด เพียง 439 หลังคาเรือนเท่านั้น

จากที่กลุ่มเครือข่ายฯ ได้ยื่นฟ้องร้องคดี กฟผ.เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และเรื่องการทำเหมืองถ่านหินของ  กฟผ. ที่ชาวบ้านฟ้องว่าไม่ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร   และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  ไม่ถูกต้อง กระทั่งวันที่ 4 มี.ค.52 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาทั้ง 2  คดี ด้วยกัน โดยคดีแรกศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ. ชดใช้เงินแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากก๊าซซัลเฟอร์-ไดออกไซด์ (SO2) และคดีที่สอง มีคำพิพากษาให้ กฟผ.อพยพราษฎรออกจากรัศมีรอบโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร และให้ปลูกป่าทดแทนสนามกอล์ฟ

ในคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ จำนวน 131 คน  ศาลวินิจฉัยว่า  ตามรายงานการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษระหว่างเดือน  พ.ย.  2535  ถึง  ส.ค.  2541  วัดค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในพื้นที่แม่เมาะเกินกว่า   1,300  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เป็นเวลา  50   เดือน  จากระยะเวลา  70  เดือน  (ซึ่งค่าที่กฎหมายกำหนด  ตั้งแต่   ก.ค.  2538  คือไม่เกิน  1,300  ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เฉพาะในพื้นที่แม่เมาะ   ส่วนพื้นที่อื่นไม่เกิน  780  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  และต่อมายกเลิกการกำหนดเป็นค่าเดียวกันหมดทุกพื้นที่   คือไม่เกิน   780  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)   ส่วนที่เหลืออีก   20   เดือน  พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์  เกินกว่า  780  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  เป็นเวลา  17 เดือน

เมื่อ  กฟผ.เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่  และถูกกำหนดให้ถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย  โดยไม่ปรากฏว่าก๊าซดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น  อีกทั้ง  กฟผ.เคยรับว่าเมื่อวันที่  17-18   ส.ค.  2541  เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใช้การได้เพียง  2  เครื่อง จากจำนวน  10  เครื่อง  ทำให้ราษฎรเจ็บป่วย  868  คน  ดังนั้นการที่  กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า  1,300  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ตั้งแต่เดือน  ก.ค.  2538  เป็นการผิดกฎหมายจึงเป็นละเมิด  ส่วนการปล่อยก๊าซเกิน  1,300  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ในเวลาก่อนเดือน  ก.ค.  2538  หรือปล่อยก๊าซเกินกว่า  780  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แม้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ได้ห้าม  แต่ศาลเห็นว่าคนแม่เมาะก็ไม่ต่างกับคนในพื้นที่อื่น  จึงต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน  เมื่อ  กฟผ.ปล่อยก๊าซเกินจึงต้องรับผิดตามมาตรา   96  แห่ง  พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  พ.ศ.  2535

สำหรับโรคจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์   จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและทำให้เยื่อบุจมูก  เยื่อบุคอ  เยื่อบุตาอักเสบ   ประกอบกับชาวบ้านดังกล่าวได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นเวลา  67  เดือน  ใน  70  เดือน    แม้โรคจะไม่ปรากฏว่าสะสมในร่างกาย  แต่ร่องรอยของโรคคือ  เยื่อบุจมูก  เยื่อบุคอ  เยื่อบุตา  ซึ่งอักเสบเป็นเวลานานอาจปรากฏอยู่   เมื่อแพทย์ระบุว่าเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ประกอบกับค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศเกิน  248  ครั้ง  เป็นเวลา  67  เดือน ใน  70  เดือน

"จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวป่วยเป็นโรคดังกล่าวจริง   แต่จากอาการโรคดังกล่าว   ชาวบ้านที่ทนไม่ได้จะไปหาแพทย์  บางรายที่ทนได้ก็จำต้องทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป   หรือบางรายก็ต้องอยู่แต่ในบ้านเรือนไม่ออกไปข้างนอก  ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจแก่ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่จริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ    ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่   กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ  246,900  บาท  พร้อมดอกเบี้ย" 

ส่วนคดีที่สอง  เรื่องการทำเหมืองถ่านหินของ  กฟผ. ที่ชาวบ้านฟ้องว่าไม่ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร   และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น   ศาลวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของคดี  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  มีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะจากรายงานการตรวจร่วมและรายงานของ  กฟผ.เองว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายประการ  และพิพากษาให้  กฟผ.ดำเนินการ  ดังนี้

1)อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ   5   กิโลเมตร  2)กรณีนำที่ดินปลูกป่าไปสร้างสนามกอล์ฟนั้น   ตามมาตรการระบุชัดเจนว่าให้ปลูกป่าทดแทน  จึงให้  กฟผ.ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ทำสนามกอล์ฟ  3)กรณีจุดปล่อยดิน  ให้กำหนดพื้นที่ปล่อยดินกับชุมชนและทำ  Bunker  โดยในจุดปล่อยดินต่ำกว่า  Bunker  เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง  และ  4)กรณีทำรายงานการตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมทุก  2  ปี  กฟผ.ยอมรับว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ  ศาลจึงให้  กฟผ.จัดทำและนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา  หาก  กฟผ.มีมาตรการที่ดีกว่าให้ยื่นแก้ไข

ทั้งนี้ ทาง กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลทั้ง 2 คดี ดังกล่าว กระทั่งวันที่ 10 ก.พ.58 ที่ผ่านมา  ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีเรื่องการทำเหมืองถ่านหินของ  กฟผ. ที่ราษฎรฟ้องว่าไม่ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร   และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ผลปรากฏว่า  ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้ กฟผ. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1)ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว  800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้

2) ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความ ประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

3) ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ. นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4) ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

5) ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น กฟผ.ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้ กฟผ. ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของ กฟผ. หากไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ กฟผ. ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ส่วนคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ จำนวน 131 คน  ชาวบ้านยังต้องรอผลการตัดสินในวันที่ 25 ก.พ.2558 นี้
   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1016 ประจำวันที่ 13 - 19  กุมภาพันธ์ 2558)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์