วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เด็กท้อง-แท้งพุ่ง หญิงมีเซ็กส์มากกว่าชาย


พัฒนาสังคมฯเผยปัญหาการค้ามนุษย์น่าห่วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการใช้เงินจำนวนมาก มักเข้าสู่วงจรโดยสมัครใจ  โยงไปถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เผยระดับอาชีวะมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 60 เปอร์เซ็นในรอบ 10 ปี  ขณะที่จังหวัดลำปาง ร่วมมือกับ 8 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ป้องกันปัญหาปราบปรามและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดต่อเด็กและสตรี


เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 ก.พ.58  นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย  พล.ต.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผบ.มทบ.32   พล.ต.ต.นิยม ด้วงสี  ผบก.ภ.จว.ลำปาง  พ.อ.สุรคล ท้วมเสน  รอง ผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ลำปาง   น.ส.อณิรา ธินนท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ลำปาง    นายสุทธิวงศ์ กติกา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำปาง   พ.ต.ต.กฤษฎา บุญศิริ สว.ทล.2 กก.5 กองบังคับการตำรวจทางหลวง  และ ร.ต.อ.หญิง ธนัฏฐา กะฐิน รอง สว.กก.3 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำผิดต่อเด็ก สตรี ผู้ถูกกระทำความผิดด้วยความรุนแรงในครอบครัว และภัยจากการค้ามนุษย์  ซึ่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ได้จัดทำขึ้น ระหว่างส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ  รวม 8 หน่วยงาน ดังกล่าว

นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนปัญหาการค้ามนุษย์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อบุคคลและกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความมั่นคงของสังคมโดยรวม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ  และ จ.ลำปาง มีเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่ จ.ลำปาง  และเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  เพื่อเป็นแนวทางและกลไกในการปฏิบัติงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อเด็กและสตรี  ให้เป็นระบบที่ชัดเจน และมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  จ.ลำปางยังคงมีปัญหาเรื่องของการเป็นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางอยู่  ซึ่งกังวลในเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน และกลุ่มเสี่ยงที่เป็นสตรีและเด็ก ที่ถูกพาไปค้าประเวณี จากการประชุมหารือกันได้กำหนดเป็นมาตรการที่เราจะร่วมป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู ตลอดจนการให้ความรู้ด้านกฎหมาย  จากนี้ไปจะมีการประชุมทุกเดือนเป็นหนึ่งในวาระต่อจากความมั่นคง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมืออย่างจริงจัง

สำหรับแนวทางในการดำเนินการ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือด้านคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ ป้องกันปัญหาเด็กและสตรี โดยเน้นการปฏิบัติงานในรูปแบบของสหวิชาชีพ ประสานส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามผลเพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน  โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ลำปาง เป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

ด้าน น.ส.อณิรา ธินนท์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ลำปาง  กล่าวว่า จ.ลำปางมีผู้เสียหายที่เป็นคดีทั้งคนลำปาง คนต่างจังหวัด และคนต่างด้าว  ซึ่งพบทั้งในกลุ่มที่ทำงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ในกลุ่มที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะพบว่าถูกบังคับมาเป็นขอทาน การทำงานของเราต้องดูแลทั้งชาวลำปางและชาวต่างชาติ  ดังนั้น การลงนามในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีของการร่วมมือใน จ.ลำปาง ซึ่งปลายปี 58 ก็จะเข้าสู่อาเซียน จะมีการเข้ามาของชาวต่างชาติจำนวนมาก

นอกจากนั้น จ.ลำปางเป็นเมืองการศึกษา มีสถานบันการศึกษาหลายแห่ง เด็กวัยรุ่นรอบนอกที่เข้ามาอยู่ในเมืองลำปาง รวมทั้งเด็กต่างจังหวัด มักจะถูกกระตุ้นด้วยสื่อ จึงเกิดความต้องการเสพสิ่งฟุ้งเฟ้อ ความทันสมัย แต่เงินทองที่ได้มามีเฉพาะใช้สำหรับค่าใช้จ่ายการเรียนและความเป็นอยู่ เมื่อมีความต้องการเงินมาใช้ในส่วนอื่นๆ ก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่เคยถูกค้ามนุษย์มาก่อน ตั้งเป็นเครือข่ายแม่เล้าจิ๋ว แนะนำเข้าสู่กระบวนการหาเงินในทางที่ผิด กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าสู่สังคมการค้ามนุษย์ โดยไม่ได้มีการบังคับ เด็กส่วนใหญ่จะสมัครใจ โดยมีค่าตัวอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท อยู่ที่ความสวย น่ารัก บางรายได้ถึง 5,000 บาท  รวมทั้งผู้ติดต่อเองก็ได้เงินครั้งละ 1,000 บาท

และยังมีเรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้มีข้อมูลว่า เด็กนักเรียนและนักศึกษา อยากไปร่วมโครงการ work and travel ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นช่วงหยุดภาคฤดูร้อนประมาณ 3 เดือน เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ทำงานและท่องเที่ยวไปด้วย โดยจะมีบริษัทเข้ามาติดต่อเด็กที่สนใจเดินทางไปร่วม ค่าใช้จ่ายประมาณรายละ 100,000 บาท แต่หากกลับมาก็จะได้เงินประมาณ 300,000 บาท  ซึ่งเด็กอยากไปหาประสบการณ์เรื่องภาษาและการทำงาน เนื่องจากเป็นโอกาสของเด็ก เมื่อเรียนจบแล้วอาจจะกลับไปทำงานต่างประเทศได้ เด็กก็ต้องหาเงินถึง 100,000 บาทเพื่อเดินทางไป ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีการศึกษาทั้งนั้นที่ถูกดึงไปเข้าช่องทางนี้   ในปีนี้ทางพัฒนาสังคมฯจึงได้ร่วมงานกับกลุ่มเอ็นจีโอ และสถาบันการศึกษา หาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศอย่างปลอดภัย โดยการหาบริษัทที่เชื่อถือได้ รวมทั้งแนะนำการใช้ชีวิตและช่องทางการติดต่อเมื่อมีปัญหาระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ น.ส.อณิรา กล่าว

นอกจากนั้นในเรื่องปัญหาการทำแท้งในปัจจุบันพบว่า เกิดขึ้นในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  ในเรื่องนี้ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง ร่วมกับสาธารณสุขจ.ลำปาง และสื่อมวลชน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 11 ก.พ.58 ที่ผ่านมา

นางทัศนีย์ ศรีจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  สำนักงานสาธารณสุข จ.ลำปาง กล่าวว่า  จากสถิติแม่ที่คลอดบุตร 100 คนพบว่าเป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี  จำนวน 14 คน สิ่งที่น่าห่วงใยคือ พบว่าแม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษายังพบในอายุต่ำกว่า 15 ปี    ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ผู้ปกครองจะต้องให้คำปรึกษา แนะนำ สร้างทัศนะคติ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ว่าควรมีเพศสัมพันธ์ ในวัยอันสมควรเมื่อมีความพร้อมในทุกด้าน และในส่วนของ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้มีเปิดคลินิกที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพาบาลทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ รับปรึกษาปัญหาต่างๆเกี่ยวกับวัยรุ่น สามารถเข้ารับการปรึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นายยงยุทธ วงศ์วิชัย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นมาก จากที่เคยเก็บข้อมูลครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ในระดับอาชีวศึกษา พบว่าเด็กเคยมีเพศสัมพันธ์อยู่ที่ 13.8 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์  และปรากฏว่าเด็กผู้หญิงเคยมีเพศสัมพันธ์มากกว่าเด็กผู้ชายด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ที่เข้ารักการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ลำปาง ยังพบว่า วัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2555 เฉพาะที่มาทำแท้งในโรงพยาบาลมีมากถึง 155 ราย  การทำความเข้าใจและสร้างทัศนคติกับเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆตามมา
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1016 ประจำวันที่ 13 - 19  กุมภาพันธ์ 2558)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์