กิตติภูมิ
ไอเดียเจ๋งเตรียมขุดขยะใต้ดิน 1 ล้านตัน ขายหวังสร้างรายได้เข้าเทศบาล
ลดการขยายพื้นที่ฝังกลบ และปัญหาขยะล้นเทศบาล อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม
นายกิตติภูมิ
นามวงค์ นายกเทศบาลนครลำปาง เปิดเผยว่า
จากปัจจุบันปัญหาขยะในชุมชนได้รับความสนใจจากรัฐบาลโดยมอบนโยบายว่าให้ทาง
อปท.ทุกแห่งต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนอย่างจริงจัง จึงทำให้
อปท.หลายๆแห่งได้หันมาดูแลเรื่องนี้เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของเทศบาลนครลำปางนั้น
ที่ผ่านมาเรามีระบบการจัดการการขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยวิธีฝังกลบมาตั้งแต่ปี
2544 แล้ว ในพื้นที่ของเทศบาลเองที่มีอยู่ประมาณ 700 ไร่
จำนวน 11 บ่อ แต่ละบ่อจะมีขยะถึง 4
ชั้นๆละ 2.5 เมตร ดังนั้นปริมาณขยะในบ่อทั้งหมดจะมีประมาณ 1 ล้านตัน และด้วยสถานการณ์เรื่องพลังงานในปัจจุบัน จึงทำให้ขยะกลายเป็นอีกทางเลือกทางหนึ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้
คือเชื้อเพลิงแบบอัดแท่งจากขยะชุมชนหรือ RDF (Refuse Derived Fuel ) จึงทำให้ขยะที่ฝังกลบไว้มีค่าขึ้นมาทันที
ดังนั้นตนเองจึงมองว่าจากปัจจัยดังกล่าว
บ่อขยะของเทศบาลที่มีอยู่ควรถึงเวลาที่จะดำเนินการโดยการขุดขึ้นมาทำประโยชน์ได้
โดยผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือหนึ่งเป็นการป้องกันผลทางด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อ
อีกทั้งจะได้รู้ว่าขยะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กลัวกัน
เพราะฉะนั้นขยะเหล่านี้ควรจะได้รับการพัฒนาให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ได้ และยังเป็นการรักษาสภาพพื้นที่ ที่มีอยู่ประมาณ 700
ไร่ให้คงเดิมไว้ เพราะไม่ต้องขุดบ่อขยะเพิ่มเติม เป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมข้างเคียง
และท้ายสุดเพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการขยะของ อปท.ด้วย
นายก
เทศมนตรี
กล่าวต่อไปว่า
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้นขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อ
พิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานทดแทน
ที่มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2
ลำปาง และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปางมาร่วม
จะมีการเดินทางไปศึกษาดูงาน ขั้นตอนของโรงงานกำจัดขยะของ อปท.หลายแห่ง
เพื่อเห็นปัญหาและการดำเนินงานว่ามีอะไรบ้าง จะได้นำมาปรับปรุงให้เข้ากับการบริหารจัดการบ่อขยะของเทศบาล
ซึ่งถ้าหากทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ ทางเทศบาลจะให้ทางบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการขุดขยะที่มีอยู่ทั้งหมดขึ้นมา
ด้วยเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ข้อคือจะต้องมีแผนในการบริหารจัดการขยะอย่างชัดเจน
รวมทั้งให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาให้เทศบาลอย่างสูงสุด
และให้มีแผนงานในการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมของบ่อขยะให้ดีที่สุด
ส่วนการทำขยะอัดแท่ง
RDF เริ่มจากการคัดแยกขยะที่ไม่สามารถเผาไหม้ได้ (โลหะ แก้ว เศษ หิน)
ขยะอันตราย และขยะรีไซเคิลออกจากขยะรวม
โดยคัดแยกมูลฝอยที่มีเหล็กและอลูมิเนียมเป็น ส่วนประกอบออกจากมูลฝอย
จากนั้นจึงป้อนขยะมูลฝอยไปเข้าเครื่องสับ-ย่อยเพื่อลดขนาด และป้อนเข้าเตาอบ
เพื่อลดความชื้นของมูลฝอย โดยการใช้ความร้อนจากไอน้ำหรือลมร้อนเพื่ออบขยะให้แห้งซึ่งจะทําให้น้ำหนักลดลงเกือบ
50% (ความชื้นเหลือไม่เกิน 15%) และสุดท้ายจะส่งไปเข้าเครื่องอัดเม็ด
(Pellet) เพื่อทําให้ได้เชื้อเพลิงขยะอัดแท่งที่มีขนาดและความหนาแน่น
เหมาะสมต่อการขนส่งไปจําหน่ายเป็นเชื้อเพลิงต่อไป.
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1016 ประจำวันที่ 13 - 19 กุมภาพันธ์ 2558)