วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฟผ.รับศาลสั่ง เยียวยาแม่เมาะ ตีความประเด็นสนามกอล์ฟ-สวนพฤกษชาติ

 
รอง ผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. เผยรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และพร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนประเด็นการถมที่ขุมเหมืองและปลูกป่าทดแทนบริเวณสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ อยู่ระหว่างการปรึกษาทีมกฎหมายเพื่อตีความให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง  ด้านเครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะเฮ ชนะคดี กฟผ. รอความหวังอีกครั้ง ศาลตัดสินค่าชดเชยเยียวยาวันที่ 25 ก.พ.นี้

หลังจากที่ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2558 ศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีชาวบ้านแม่เมาะผู้ได้รับผลกระทบการทำเหมืองลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะฟ้อง กฟผ. สั่งปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร และมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นสำคัญคือ ให้ถมพื้นที่ขุมเหมืองและปลูกป่าทดแทนให้กลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด ในส่วนที่นำมาทำสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ  และอพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ กิโลเมตร ภายใน 90 วัน  แต่ไม่มีคำสั่งให้ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน  ทั้งนี้ กลุ่มผู้ฟ้องพอใจกับคำตัดสินของศาล แต่บางคนที่คาดหวังว่าจะได้รับการชดเชยเยียวยาต่างก็ผิดหวังกันไป

-เฮชนะคดี                                  

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ได้มีการคิดไว้ล้วงหน้า และมีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา หลังจากทราบว่าจะมีคำพิพากษาใน  2 คดีในเดือน ก.พ.นี้  ซึ่งคดีที่ผ่านไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ. เป็นชัยชนะของการต่อสู้ในเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ของเหมืองเฟส 5 การทำผิดเงื่อนไขเเนบท้ายประทานบัตร เรื่องการสร้างสนามกอล์ฟโดยไม่ได้ขอนุญาติ  การฟ้องร้องครั้งนี้ชาวบ้านบางรายขอค่าเสียหายด้วย  ถึงแม้ชาวบ้านหลายร้อยคนที่ร่วมฟ้องจะไม่ได้รับค่าชดเชยตามคำพิพากษาของศาล  แต่ก็มีการเตรียมตัวและเตรียมใจไว้แล้ว  ระหว่างดำเนินการฟ้องร้องชาวบ้านก็มีอาการทางสุขภาพด้วย จึงคิดว่าจะต้องไปเริ่มต้นใหม่ในเรื่องของการหาหลักฐานและหาเหตุผลไปสู้คดีต่อ แต่หาก กฟผ.แก้ไขปัญหาให้จบชาวบ้านก็ไม่ต้องฟ้องใหม่ เพราะถ้าฟ้องใหม่ก็ชนะอีก ดังนั้นควรเยียวยาให้ชาวบ้านเลย

-หวังพูดคุยกับ กฟผ.

 “คำพิพากษาของศาล เป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนว่า  กฟผ.ผิดทุกข้อ และความผิดเหล่านี้ไม่ได้จบลงเท่านี้ ยังมีแผลอีกมากมาย แต่จะทำอย่างไรให้แผลที่เกิดขึ้นรักษาให้หายได้ แล้วทำอย่างไรแผลใหม่ไม่เกิดอีก  เชื่อว่ามันก็อยู่ที่การเจรจากัน  เพราะอย่างไรชาวบ้านกับ กฟผ.ต้องอยู่ร่วมกันอีกนาน  หลังจากนี้คาดหวังว่าจะมีการพูดคุยหารือกันกับกลุ่มผู้บริหาร กฟผ.ทีมใหม่เร็วๆนี้ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะเป็นตัวเเทนเครือข่ายผู้ป่วยฯ เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าการปลอบใจ การอยู่ร่วมกัน  การปรับความเข้าใจกัน  ถ้าผู้บริหารทีมใหม่คิดตรงกัน  หาทางออกร่วมกันจัดตั้งงบประมาณส่วนหนึ่งไปช่วยเยียวยาจิตใจของชาวบ้านกลุ่มนี้ ก็จะเป็นแนวทางที่ดีที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป ” นางมะลิวรรณ กล่าว 

-ต้องย้ายชาวบ้าน                                   

เมื่อสอบถามถึงเรื่องการอพยพออกจากรัศมี 5 กิโลเมตร นางมะลิวรรณ กล่าวว่า พื้นที่บ้านม่อนหินฟูที่กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยฯย้ายมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้เกิดจากคำพิพากษา  แต่เกิดจากการที่เราได้ไปเคลื่อนไหว ผลักดันให้มีมติ ครม.ให้อพยพออกมาในปี  2551 แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ย้ายออกมาทั้งหมด มีเพียงชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านเท่านั้น  สมัยนั้นเกิดมติ ครม. มีหลายรัฐบาล แต่ละรัฐบาลที่เข้ามามีการเรื่องของการเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนความคิด รวมทั้งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านแตกแยกกัน ปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านที่ไม่ได้ย้ายออกมาอยู่จำนวนหนึ่ง  ซึ่งคำพิพากษาที่ออกมาที่ว่าให้อพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จะควบรวมถึงหมู่บ้านอื่นๆที่อยู่ในขอบเขตประทานบัตรโดยรอบ 5 กิโลเมตร กฟผ.ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน90วัน  แต่ไม่ได้มีข้อบังคับว่าทุกคนต้องย้ายหมด บางคนไม่อยากทิ้งถิ่นฐานบ้านเดิมก็มี  แต่บางคนก็ขอออกจากพื้นที่ ถึงแม้ว่าการไฟฟ้าจะการันตีหรือรับรองว่าจะไม่มีมลพิษเกิดขึ้นอีก แต่สำหรับจิตใจของชาวบ้าน คนที่เขาไม่ไว้ใจแล้วก็ควรที่จะให้ความช่วยเหลือเขาดังคำพิพากษาที่ออกมา

-เคลียร์ให้จบ             

นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า หาก กฟผ.จัดพื้นที่อพยพมาให้ตนคงไม่ย้ายไปแล้ว เพราะว่าการอพยพถิ่นฐานนี้มันไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่อยู่ในวิถีชีวิตดั่งเดิมที่พ่อแม่พาอยู่มาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครอยากทิ้งถิ่นฐาน ไม่มีใครอยากย้ายบ้านใหม่  แล้วให้เราอพยพที่ใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นปัญหาของรัฐกับการไฟฟ้า ปัญหาจาก ครม. ที่ไม่เคลียร์กับกรมป่าไม้ ที่ไม่ยกเลิกกฎหมาย แล้วมาสร้างปัญหาให้เรา เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อให้เรามาอยู่ที่นี้ ก็ต้องเคลียร์ปัญหาที่นี่ให้จบ ในส่วนที่จะให้หมู่บ้านอื่นๆย้ายตามคำสั่งศาลอีก ก็ต้องดูตัวอย่างก่อนว่าได้แก้ปัญหาที่นี่หรือยัง ไม่อยากให้เกิดปัญหาใหม่ซ้ำอีก เพราะทางลงที่ดีคือต้องแก้ปัญหาเดิมให้จบ

-รอฟังคดีค่าชดเชย

ต่อจากนี้ในวันที่ 25 ก.พ.58 ชาวบ้านได้รอฟังคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพที่ผู้ป่วยกลุ่มแรก 131ราย ได้พิสูจน์กับแพทย์เฉพาะทางแล้วมีคำวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์จริง  โดยศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาให้ทางโรงไฟฟ้าจ่ายค่าชดเชย ทางด้านสุขภาพให้รายละโดยเฉลี่ย 246,900บาท  แต่ทาง กฟผ.ยื่นอุทธรณ์คดี ซึ่งทางกลุ่มสิทธิผู้ป่วยฯ ก็มีการคุยกันเอาไว้แล้วว่า ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าชาวบ้านจะได้รับค่าชดเชยเยียวยา  เราก็มีแนวคิดร่วมกันและมีข้อตกลงร่วมกันว่า กลุ่มที่ได้เงินต้องบริจาคเงินส่วนหนึ่ง สำหรับจัดตั้งเป็นกองทุนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้อะไรเลย เป็นงบฉุกเฉินในเบื้องตน เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าเราจะไปร้องเรียนกับรัฐบาล ร้องเรียนกับหน่วยงานองค์กรอิสระ อะไรต่างๆก็ไม่มีการเข้ามาช่วยเหลือตามที่เราต้องการจริงๆ ดังนั้นเราคิดว่าเราต้องช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น เพื่อที่จะได้มีเรี่ยวเเรงที่จะไปสู้กับความยุตธรรมอื่นๆต่อไป  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าว

-ทั้งดีใจและผิดหวัง

ด้านนางแก้ว อู่เงิน อายุ 68 ปี เป็นหนึ่งใน 318 รายที่ฟ้องร้อง กฟผ. กล่าวว่า ตนเองทั้งดีใจและผิดหวัง ที่ศาลสั่งให้ กฟผ.ทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ก็เสียใจที่ศาลไม่ได้บอกให้ชดเชย แต่ก็ยอมรับคำตัดสินแม้จะรอมานานหลายปีแล้วก็ตาม ทั้งนี้ สามีตนเองคือนายปั๋น อู่เงิน อายุ 69 ปี ซึ่งเป็น 1 ในผู้ป่วย 131 รายที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และร่วมฟ้อง กฟผ. ก็ยังรอความหวังว่าจะได้รับการเยียวยาจาก กฟผ.  และจะลุ้นกันอีกครั้ง วันที่ 25 ก.พ.58  ที่ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินคดีในวันดังกล่าว

-เฝ้ารอศาลตัดสินค่าชดเชย

นายธีระ พลวงศ์ศรี อายุ 83 ปี  1 ในผู้ฟ้องคดีเรียกร้องค่าชดเชยจาก กฟผ. 131  ราย กล่าวว่า ตนเองได้ขออพยพออกจากพื้นที่บ้านหัวฝาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝุ่น กลิ่นกำมะถันจากการทำเหมือง เมื่อย้ายมาอยู่ที่ม่อนหินฟูก็มีอาการดีขึ้น ใช้ยาพ่นน้อยลงลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก เพราะค่ายาค่อนข้างแพง ราคา 1,000 กว่าบาทใช้ได้ 1 เดือน  เมื่อก่อนไม่มีเงินก็ต้องตั้งกองผ้าผ่าช่วยกันหาเงินเพื่อทำมาซื้อเครื่องพ่นยา  ซึ่งตนเองและภรรยาป่วยด้วยกันทั้งคู่ และได้ร่วมยื่นฟ้องคดี กฟผ.รวมอยู่ในผู้ฟ้อง 131 รายด้วย  แต่ภรรยาของตน คือ นางปัน พลวงศ์ศรี อายุ 76 ปี ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 ก.ค.57 ที่ผ่านมา   หลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินเมื่อ 5  ปีที่ผ่านมา พวกเรามีความหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แต่ กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์  ตอนนี้ก็ได้แต่เฝ้ารอผลการตัดสิน และจะได้รู้ในวันที่ 25 ก.พ.นี้แล้ว หากศาลจะตัดสินอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วแต่ศาลจะปราณี  หากได้เงินมาก็จะนำไปซื้อหยูกยามารักษาตัวเองต่อไป

ในส่วนด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังจากได้รับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก็ได้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

- กฟผ.รับคำพิพากษา

นายประภาส วิชากูล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากเดินทางมาเปิดนิทรรศการเพิ่มผลผลิตที่ กฟผ.แม่เมาะว่า  คำพิพากษาศาลปกครองสุงสุด ทาง กฟผ.ต้องนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของมาตรการและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศาลสั่งให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นอยู่ 5 ข้อ ก็จะดำเนินการตามทุกประการ  ในกรณีที่ กฟผ.ได้จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ความเห็นชอบเมื่อปี 2553 ว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องได้รับการเห็นชอบจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)ก่อน  ในเบื้องต้นทาง สผ.ได้ส่งเรื่องให้ทาง กพร.แล้ว ซึ่งทาง กฟผ.ต้องประสานกับ กพร.ต่อไป 

-ปรึกษาทีมกฎหมายเรื่องสนามกอล์ฟ

รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กล่าวต่อไปว่า ส่วนในเรื่องของสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ว่าคำพิพากษาของศาลให้ดำเนินการในลักษณะไหน ตามคำพิพากษาบอกให้ปลูกป่าทดแทนในส่วนที่เป็นพื้นที่ทำสนามกอล์ฟก็กำลังศึกษารายละเอียดว่าจะไปปลูกป่าตรงไหนจึงจะเหมาะสม  คงจะต้องปรึกษากับทางทีมกฎหมายและอัยการก่อนในการตีความคำพิพากษาดังกล่าว  

-สร้างตามแผนฟื้นฟู

ในเรื่องของการใช้พื้นที่ทำสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาตินั้น ได้กำหนดไว้ในแผนของการฟื้นฟูสภาพเหมืองหลังจากทำเหมืองเสร็จ ตามขั้นตอนที่ต้องเสนอไปให้ กพร. จะมีแผนการใช้ที่ดิน 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 พื้นที่ 93 % ใช้ปลูกป่า จากพื้นที่ทั้งหมด 40,000 กว่าไร่ ต้องปลูกป่า 30,000 กว่าไร่  ประเภทที่ 2 อีก 3 % จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่  เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้บริการกับพนักงานและประชาชน ซึ่งส่วนนี้ได้ทำเป็นสวนพฤกษชาติ พิพิธภัณฑ์ถ่านหิน สวนเฉลิมพระเกียรติ และสนามกอล์ฟ ใช้สถานที่ไปแล้วประมาณ 500 ไร่ ซึ่งยังใช้ไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประเภทที่ 3 ใช้เป็นสถานที่เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร อีก 4 % ประมาณ 2,000 ไร่

-สำรวจพื้นที่อพยพ

นายประภาส ยังได้กล่าวถึงเรื่องการอพยพชาวบ้านว่า กรณีการอพยพ ต้องปรึกษารายละเอียดจากคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ เนื่องจากในมาตรการใหม่ที่เสนอไป คือ ไม่มีการขุดดินมากกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ก็จะไม่เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นมาก ความจริงเรื่องนี้ได้มีการตั้งกรรมการไตรภาคีอยู่แล้ว อยู่ในระหว่างขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ ทั้งพื้นที่จะไปอยู่ใหม่และพื้นที่เก่าที่เป็นทรัพย์สินของชาวบ้าน

-ยันปฏิบัติเคร่งครัด

ขณะนี้การดำเนินการ อยู่ระหว่าปรึกษารายละเอียดกับฝ่ายกฎหมายและอัยการเจ้าของสำนวน ให้ตีความคำพิพากษาศาลในทุกๆประเด็น เพื่อนำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งเมื่อมีคำสั่งออกมาแล้ว ทาง กฟผ.ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ภายใน 90 วัน รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กล่าว.
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1016 ประจำวันที่ 13 - 19  กุมภาพันธ์ 2558)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์