วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

'ป่าเหียง'ถึงฎีกา ย้ายไฟฟ้าขยะ บริษัทฯรุกประชามติ กิ่วคอหมาขอตัดทาง


ป่าเหียงยื่นถวายฎีกาขอย้ายโรงไฟฟ้าขยะออกนอกพื้นที่ รอลุยวันลงประชามติ ตั้งกรรมการชาวบ้านร่วมตรวจสอบ เล็งฟ้องศาลปกครองกรณีบริษัททำไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการกำหนดรัศมีผู้ได้รับผลกระทบ ด้านบริษัทเดินหน้าทำประชามติ  สุดท้ายผลเป็นอย่างไรอยู่ที่ชาวบ้านตัดสิน   ขณะที่โครงการกิ่วคอหมายันต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างคลองส่งน้ำ ตัดผ่านที่ดินบริเวณจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ พร้อมใช้กฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แต่ขอเจรจากับเจ้าของพื้นที่ก่อน
           
ชาวบ้านป่าเหียงยังคงมีการออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง ในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่บ้านป่าเหียง หมู่ ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง  ซึ่งลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยังตัวแทนชาวบ้านถึงการขับเคลื่อนการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้านดังกล่าว และล่าสุดทราบว่า กลุ่มชาวบ้านรักษ์ป่าเหียงได้ยื่นถวายฎีกาแล้ว
           
-ถวายฎีกา
           
นายผยุงศักดิ์ อัคราเกื้อกูล อ.คณะวิศวกรรม ม.ราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มรักษ์ป่าเหียง ให้สัมภาษณ์ลานนาโพสต์ว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.58 ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ไปที่กองฎีกา มหาราชวังแล้ว โดยชี้ถึงเหตุผลด้านพิษภัยที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน หากมีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในหมู่บ้านป่าเหียง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนมาก จึงขอให้ย้ายออกไปจากพื้นที่หมู่บ้านของเรา แต่จะไปตั้งที่ไหนนั้นให้ท้องถิ่นไปดำเนินการกันเอง การต่อสู้ของชาวบ้านนั้นเราใช้สิทธิทุกอย่างตามกฎหมาย โดยไม่ได้มีการออกมาประท้วงสร้างความเดือดร้อน  ขณะนี้ก็ได้มีการยื่นไปแล้วหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ดำรงธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน  ป.ป.ช.  สตง.ฯลฯ
           
-ตั้งกรรมการตรวจสอบทำประชามติ
           
นายผยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า  ส่วนในเรื่องการทำประชามติวันที่ 26 เม.ย.58 ชาวบ้านก็จะไปร่วมและจะมีการตั้งคณะกรรมการฯขอร่วมในการทำประชามติทุกจุด ทั้งการตรวจบัตรประชาชน การจัดที่นั่ง ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด เพราะทราบว่าจะมีการนำมวลชนจากนอกพื้นที่เข้ามาดำเนินการทำประชามติ  มีการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนของชาวบ้านและจ่ายเงินหัวละ 2,000 บาท  ดังนั้นจึงต้องเข้าไปร่วมตรวจสอบในการดำเนินการทุกขั้นตอน หากพบว่าใครไม่อยู่ในพื้นที่ ก็ไม่ควรให้เข้ามานั่ง ขอให้สังเกตการณ์ด้านข้างแทน หากมีอะไรตุกติก ตนเองก็ได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว พร้อมนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ทันที 
           
-ไข่แดง 4 หมู่บ้าน

ด้านนายไตรภพ ชัยชมภู  วิศวกรอิสระ ตัวแทนชาวบ้าน  กล่าวกับลานนาโพสต์ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่จะนำมาทำประชาคมเป็นพื้นที่ไข่ขาว ไม่ใช่ไข่แดงที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพื้นที่ไข่แดงจะมีหมู่บ้านป่าเหียง  บ้านบ่อแฮ้ว  ต.บ่อแฮ้ว  บ้านทุ่งกู่ด้าย ต.ปงแสนทอง  บ้านง้าวพิชัย ต.หนองหล่ม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ต้องทำในรัศมีโดยรอบวงกลม ถ้าจะเอาให้ครอบคลุมตำบลบ่อแฮ้วทั้งหมด จุดที่ไกลที่สุดคือหมู่บ้านพรประสิทธิ์ ห่างจากจุดที่ก่อสร้าง 13 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นจะต้องทำรัศมีวงกลมอย่างน้อย 1 กิโลเมตร แต่ตอนนี้บริษัททำไม่ถูกต้อง ตอนนี้ไม่ได้มีการกำหนดรัศมีอะไรเลย บอกเพียงว่าชาว ต.บ่อแฮ้ว  ซึ่งไม่ถูกกฎหมาย

-ต้องทำตาม COP เคร่งครัด

ฝ่ายชาวบ้านที่ไม่เห็นชอบก็มีข้อมูลอยู่ที่จะต้องสู้ทางกฎหมายอยู่  ซึ่งจากราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (ประเภทเชื้อเพลิงแข็ง) บอกไว้ว่า ในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะต้องดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ ว่าด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code of Pracice : COP) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย

-ต้องกำหนดรัศมีอย่างน้อย 1 ก.ม.

ซึ่งประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ COP ในหัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนบอกไว้ว่า กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจะว่าจ้างบริษัทผู้รับจ้างออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องนำมาตรการที่กำหนดไว้ใน COP ไปกำหนดเงื่อนไขสัญญาจ้าง และให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด  นอกจากนั้นจะต้องทำแผนปฏิบัติการสร้างความเข้าใจกับการดำเนินการของโรงไฟฟ้า โดยจัดกิจกรรมให้ข้อมูลข่าวสารโครงการในด้านประโยชน์ที่จะได้รับ และด้านผลกระทบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนได้รับทราบ โดยระบุกลุ่มเป้าหมายให้ครบถ้วนครอบคลุมระยะรัศมีอย่างน้อย 1 กิโลเมตร

-ผิดขั้นตอนฟ้องแน่

ดังนั้นทางบริษัทจะต้องทำโดยรอบของโรงไฟฟ้าที่จะต้อง แต่ตอนนี้ไปครอบคลุมทั้งตำบล ซึ่งหมู่บ้านห่างที่สุดอยู่ในระยะ 13 กิโลเมตร ก็จะต้องวงรัศมี 13 กิโลเมตร เท่ากับทั้งเกือบทั้งหมด อ.เมืองลำปาง  ซึ่งจะมี ต.บ่อแฮ้ว 17 หมู่บ้าน , ต.สบตุ๋ย 3 หมู่บ้าน ,ต.ปงแสนทอง 7 หมู่บ้าน , ต.ปงยางคก  อ.ห้างฉัตร  7 หมู่บ้าน , ต.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร 8 หมู่บ้าน , ต.บ้านเป้า อ.เมือง 4 หมู่บ้าน , ต.ต้นธงชัย 1 หมู่บ้าน , ต.หนองหล่ม อ.ห้างฉัตร  9 หมู่บ้าน  นอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึง ม.ธรรมศาสตร์ ลำปาง  ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์ลำปาง  โรงเรียนห้างฉัตร  โรงพยาบาลห้างฉัตร  ศูนย์ฝึกตำรวจภูธรภาค 5  ศูนย์ฝึกอาชีพสตรีภาคเหนือ  โรงเรียนผดุงวิทย์  โรงเรียนอนุบาลลำปาง และอื่นๆอีกมากมาย  คงจะต้องมีประชาชนไปลงประชามติกว่า 1 แสนคน  หากทำไม่ได้ก็เจอกันที่ศาลปกครอง

-ดูตัวอย่างจาก จ.เชียงราย

นายไตรภพ กล่าวอีกว่า  ในเรื่องการทำประชามติก็มีตัวอย่างจาก จ.เชียงราย ที่ศาลปกครองได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล อ.เวียงเหนือ จ.เชียงราย หลังจากการจัดทำประชาคม บริษัทฯซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้จัดให้มีการดำเนินการ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดทำ และมีผู้เข้าร่วมเพียง 1,239 คน เป็นประชากรเพียงร้อยละ 15.97 ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 7,756 คน จึงไม่ใช่ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาคมในพื้นที่   ซึ่งศาลได้สรุปว่าการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าให้แก่บริษัทฯ มีขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิจารณาไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลำเหมืองสาธารณะที่ไหลผ่านพื้นที่ของบริษัทฯมาประกอบการพิจารณา จึงเป็นการรับฟังไม่ครบถ้วน ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าดังกล่าว  ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกของ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  เช่นเดียวกับ บริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด   เพราะฉะนั้น ถึงทางบริษัทจะทำประชามติผ่านหรือไม่ ก็จะฟ้องศาลปกครองแน่นอน เพราะทำไม่ถูกขั้นตอนตั้งแต่แรกแล้ว

-วีพีเอ็นฯ เดินหน้าลุย

ด้านนายรณกร ลีไพบูลย์  วิศวกร  บริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด  กล่าวว่า   ในขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนแรกในการดำเนินการโครงการ อยู่ในขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูล  ทำความเข้าใจต่อประชาชน และการรับฟังความคิดเห็น  การดำเนินการโครงการที่มีต้นทุนโครงการสูงมากเช่นโครงการนี้  บริษัทฯ  จะต้องมีความมั่นใจว่า  เมื่อก่อสร้างไปแล้วจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง   ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการทำการชี้แจงข้อเท็จจริง  ทั้งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น  การเปิดให้ประชาชนเข้าศึกษาข้อมูลของโครงการ  เป็นต้น  เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีอำนาจตัดสินใจได้ทราบข้อเท็จจริงและใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจสนับสนุนโครงการ  ซึ่งภายหลังจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่แล้ว ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบว่า บริษัทฯ สามารถก่อสร้างโครงการในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่

-กิ่วคอหมาสร้างระบบส่งน้ำตัดพื้นที่

ขณะเดียวกัน ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยังสำนักงานก่อสร้าง 4  สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ (โครงการกิ่วคอหมา) หลังจากทราบว่าทางชลประทานได้มีโครงการจะก่อสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมาเข้าในพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว โดยจะต้องตัดผ่านพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

นายสมชัย จงวชิรชัย ผอ.ส่วนวิศวกรรม สำนักก่อสร้าง 4 ฯ  ให้ข้อมูลกับลานนาโพสต์ว่า  ทางชลประทานมีโครงการที่จะก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมามาในพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว ซึ่งได้รับงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินเข้ามาและจะต้องดำเนินการภายในปี 2558 นี้   โดยที่ผ่านมามีกลุ่มเจ้าของพื้นที่ต้นคลองส่งน้ำที่ตั้งอยู่ติดถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร 7 ราย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม ขอให้เปลี่ยนเส้นทางการก่อสร้างไปอยู่ฝั่งที่ติดกับทางรถไฟแทน ซึ่งเดิมชลประทานได้ออกแบบคลองเรียบถนนลำปาง-ห้างฉัตรไว้  ทางศูนย์ดำรงธรรมจึงได้ส่งเรื่องกลับมาให้สำรวจความต้องการของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวว่ายังต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอยู่หรือไม่

-อาจต้องใช้กฤษฎีกาเวนคืน

จากการสำรวจก็พบว่าชาวบ้านป่าเหียงและบ่อแฮ้ว ยังคงต้องการใช้น้ำทำการเกษตรอยู่พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่  จึงพิจารณาตรวจสอบแนวคลองส่งน้ำแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขตามที่เจ้าของที่ดินร้องขอมาได้ เพราะแนวระดับพื้นที่ที่ให้ย้ายไปนั้นอยู่ที่สูง จะต้องขุดดินลึกลงไปอีกถึง 3 เมตร ทำให้พื้นที่รับน้ำปลายคลองจะหายไปบางส่วน จึงต้องนำกฤษฎีกาเวนคืนที่มาบังคับใช้  ในเรื่องนี้ได้ตอบกลับไปยังศูนย์ดำรงธรรมแล้วรอผลตอบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้อง เนื่องจากชาวบ้านจะต้องออกค่าใช้จ่ายต่างๆเอง  หากมีการเจรจากันได้ทางชลประทานจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

-ทำประชามติ ไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจน

ลานนาโพสต์ยังได้สอบถามไปยังมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำประชามติและการกำหนดขอบเขตการทำประชามติว่า ยังไม่มีกฎหมายการกำหนดรายละเอียดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจน จึงเป็นการกำหนดขึ้นเองด้วยหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งต้องดูตามกิจกรรมนั้นๆว่าจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างไรบ้าง เช่นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งจะมีการปล่อยควันหรือสารออกจากปล่อง ต้องตรวจสอบรัศมีทิศทางลมว่าจะไปไกลขนาดไหน  การทิ้งน้ำเสียหากลงไปในลำห้วย จะมีผู้ใช้น้ำในลำห้วยที่ได้รับผลกระทบเท่าไร บางครั้งการตีวงรัศมีก็ไม่ได้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด  แต่หากว่ามีระเบียบมารองรับ เช่น การกำหนดว่าจะต้องทำ COP  ทางบริษัทก็จะต้องยึดตามระเบียบเป็นหลักก่อน  หากมีการวงรัศมีไว้ แต่ผู้ที่อยู่นอกรัศมีเห็นว่าตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับการตั้งโรงไฟฟ้าครั้งนี้ ก็สามารถไปแสดงตนได้ แต่ต้องมีข้อมูลและเหตุผลที่ฟังได้ด้วย

สำหรับการลงประชามติไม่ใช่ว่าจะนับเอาแต่จำนวนคนแล้วผ่านเลย แต่จะต้องดูไปถึงเนื้อหาหลักการและเหตุผลของผู้ไม่เห็นด้วยนำมาประกอบการพิจารณาด้วย เช่น 8 คนเห็นด้วย แต่ 2 คนไม่เห็นด้วย ก็จะต้องนำความเห็นของ 2 คนที่ไม่เห็นด้วยมาวิเคราะห์และแก้ไขในข้อที่เขาได้ท้วงติงมาด้วย

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์