วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปุ๋ยฮิวมัสล้านปี สร้างรายได้หลักแสน


ท่ามกลางความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยี เกษตรอินทรีย์ กลับสวนกระแสอย่างต่อเนื่อง เรื่องของการนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์เริ่มมีความนิยมมากขึ้นทุกขณะ “ปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมัส” แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ก็ก็เป็นนวัตกรรมที่ได้จากทรัพย์ในดินที่เก่าแก่จากชั้นดินที่สะสมอยู่เหนือชั้นแร่ลิกไนต์แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่เรียกว่า “ลีโอนาร์ไดท์ (Leonardite)” ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อพืชและมีนักวิจัยหลายสถาบันนำไปทดลองศึกษา พบว่าสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแปรรูปเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆมากมาย กลุ่มผลิตฮิวมัสล้านปีที่อำเภอแม่เมาะเป็นกลุ่มชาวบ้านที่นำทรัพยากรดินแร่ลีโอนาร์ไดท์ ในเหมืองแม่เมาะ มาใช้ในการผลิตปุ๋ยฮิวมัส สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ
           
ชัยพร เสาระวะ วัย 50 ปี ผู้ปฏิบัติงานส่วนกลางกองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ผู้ริเริ่มและนำลีโอนาร์ไดท์  มาเผยแพร่กับชาวบ้านที่รวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจปุ๋ยฮิวมัส และเป็นผู้ติดต่อประสานงานและหาตลาดในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปุ๋ยฮิวมัส เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยได้รับข้อมูลจากนักวิจัยหลายคนว่า ลีโอนาร์ไดท์ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุดเพราะสะสมอยู่ในชั้นดินนานเป็นล้านปี ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะมีจำนวนมหาศาล มีหลายบริษัทเข้าไปซื้อเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบทำปุ๋ย ตนจึงศึกษาและร่วมกับชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำสูตรปุ๋ยฮิวมัสขายในเชิงพาณิชย์
           
เริ่มจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตฮิวมัสล้านปีเพื่ออาชีพแบบยั่งยืน ชุมชนบ้านหาด บ้านนาแช่ ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นกลุ่มแรกก่อตั้งเมื่อปี 2554 สมาชิกทั้งสิ้น 12 คน ลงทุนจากการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 1.2 ล้านบาท สร้างโรงงานขนาดย่อม โดยมีนายคำสุข อุ่นเรือน หัวหน้ากลุ่ม  ปรากฏว่าประสบความสำเร็จทางการทางตลาด มีความต้องการสูงมาก จึงขยายแนวคิดให้กับ  วินัย เปี้ยสาย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมัส ที่บ้านนาสัก ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ เป็นกลุ่มที่ 2
           
ปุ๋ยฮิวมัสดังกล่าวมี 2 สูตร คือปุ๋ยสำหรับพืชยืนต้นชนิดที่ชอบความเป็นกรดสูง เช่น ยางพารา ปาล์มหรือพืชยืนต้นตระกูลเดียวกัน และสูตรปุ๋ยสำหรับพืชผักสวนครัว  ตลาดหลักๆตอนนี้เรามีทั้งขายส่งให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย และจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไป ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ผลิต 2 กลุ่มมีกำลังผลิตเฉลี่ยกลุ่มละ 4-5 ตัน/วัน จำหน่ายปลีกในราคากระสอบละ 200-250 บาท (ราคาหน้าโรงงานกระสอบละ 150 บาท) กลุ่มลูกค้ารายใหญ่คือกลุ่มผู้ปลูกยางพาราทางภาคใต้ ซึ่งล่าสุดมียอดสั่งซื้อว่า 1,000 กระสอบ สร้างรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 6 แสนถึง 1 ล้านบาท อนาคตจะขยายเครือข่ายให้ทั่วทั้ง 5 ตำบลใน อ.แม่เมาะ เพื่อกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านทุกตำบล  
           
“คุณสมบัติที่โดดเด่นดีที่สุดของปุ๋ยฮิวมัสคือแก้ปัญหาเรื่องเชื้อราในพืช ช่วยในการเจริญเติบโตแข็งแรง และสูตรที่ขายดีมากคือ ฮิวมัสสูตรไม้ยืนต้น เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราใช้ได้ผลดีมาก หรือกลุ่มพืชที่มียางเช่น ขนุน ทุเรียน หรือถั่วดาวอินคา อินทผาลัม ส่วนพืชผักสวนครัวก็ได้ผลงอกงามมีอายุอยู่ได้นานหลังเก็บเกี่ยว ที่คือจุดแข็งทางการตลาดที่จะนำพา วิสาหกิจจะขยายและเติบโตได้แน่นอน”  ชัยพรกล่าวด้วยความมั่นใจ
           
วินัย เปี้ยสาย หัวหน้ากลุ่มกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฮิวมัส หนุ่มไฟแรงวัย 30 ปี บ้านนาสัก กล่าวว่า หลังจากศึกษาข้อมูลปุ๋ยฮิวมัส แล้วมองเห็นโอกาสและช่องทางอาชีพที่ยั่งยืน และมีแหล่งวัตถุดิบอยู่ในอำเภอแม่เมาะ จึงสนใจรวมกลุ่มกันลงทุนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 10 คน โดยรับการสนับสนุนจาก การฟ้าฝ่ายผลิตในการซื้อเครื่องจักร ภายใต้งบกองพัฒนารอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  3 แสนบาท และ ลงทุนเพิ่มด้วยการกู้ ธ.ก.ส. เพิ่มอีก 5 แสนบาท
           
วินัยกล่าวอีกว่า การรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยฮิวมัสเป็นช่องทางการสร้างอาชีพที่มั่นคง เพราะเรามีวัตถุดิบหลักอยู่ในอำเภอแม่เมาะ ส่วนที่เหลือ คือการศึกษาพัฒนาสูตรและบรรจุภัณฑ์ การทำตลาด การขนส่งการบริหารจัดการให้ วิสาหกิจเติบโต ขยายเพิ่มสมาชิกให้มากขึ้น สร้างรายได้ให้คนในชุมชนไม่ต้องไปทำงานที่อื่น ถือเป็นเรื่องดีและเป็นโอกาสของคนแม่
           
“เมื่อเรารวมกลุ่มกันเหมือนเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งสมาชิกบางคนอาจไม่คุ้นเคยหรือรู้จักทำปุ๋ยฮิวมัส เราก็นำไปใช้ในพืชไร่ และพืชสวนของคนเองในกลุ่ม  ซึ่งผมใช้ทดลองใส่ก้นหลุมตอนเริ่มปลูก และบำรุงต้นถั่วดาวอินคาในไร่ ปรากฏว่าช่วยให้เติบโตได้ดีต้นที่ใส่ปุ๋ยฮิวมัสแข็งแรงและเริ่มได้ผลผลิตมาก เมื่อเทียบกับต้นที่ ใช้ปุ๋ยทั่วไป บางต้นล้มตาย ผลผลิตไม่มีคุณภาพ เมื่อเราใช้ได้ผลดีกับบ้านเราก็มั่นใจที่จะแบ่งปันวิธีการใช้ให้กับเกษตรกรด้วยกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพออกสู่ตลาด”
           

แม้ว่าการเริ่มต้นเส้นทางของปุ๋ยฮิวมัสล้านปีจะมีลู่ทางที่สดใส แต่การแข่งขันตลาดกับกลุ่มทุนรายใหญ่ ก็ยังเป็นโจทย์สำคัญให้กับวิสาหกิจชุมชนเล็กๆหากแต่พวกเขามิได้หวังเข้าไปสนามแข่งขันในโลกกว้างแต่เริ่มต้นจากตลาดในชุมชน และขยายวงไปยังเครือข่ายเกษตรกรวิถีอินทรีย์ อย่างน้อยก็เป็นธุรกิจชุมชนที่เป็นเสมือนกลไกแบ่งปันการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและมีรายได้ในชุมชนแบบยั่งยืน



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1033  วันที่  19  - 25  มิถุนายน 2558) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์