วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กลิ่นอายแห่งตะวันตกในเมืองลำปาง

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
ก่อนที่ฝรั่งแบ็กแพ็กเกอร์จะเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตาอยู่ตามมุมเมืองต่าง ๆ ของลำปาง อันที่จริง มีชาวตะวันตกเข้ามาในบ้านเรานานแล้ว ทว่าไม่ใช่ในรูปแบบของนักท่องเที่ยว แต่มาในฐานะผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนา นักสำรวจ และนักธุรกิจ

จากบันทึกประสบการณ์การเดินทางของคาร์ล บอค์ก นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ซึ่งเข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ เพื่อการสำรวจทางภูมิศาสตร์ (ทั้งที่จริงแล้ว เขาให้ความสนใจกับการค้นหาพระพุทธรูปไปเข้าพิพิธภัณฑ์มากกว่า) ซึ่งข้ออ้างทางวิชาการทำนองนี้นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามายังดินแดนตะวันออก

อย่างไรก็ตาม บันทึกการเดินทางของบอค์กก็ทำให้คนไทยเห็นภาพดินแดนล้านนาในอดีต จากการเดินทางที่เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร ระแหง (ตาก) ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พร้าว ฝาง ไปจนถึงเชียงราย เชียงแสน ทั้งนี้ เขาใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองลำปางรวม 48 วัน ปีนั้นคือปี พ.ศ. 2424

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่พญาสีหนาทเพิ่งจัดตั้งคริสตจักรขึ้นในเมืองลำปางได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2423 หลังจากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสยามผ่านทางพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ในการจัดหาที่ดินสำหรับตั้งบ้านพัก สำนักงาน รวมทั้งทุนทรัพย์จำนวน 2,000 รูปี เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลแบบตะวันตกในปี พ.ศ. 2428

เมื่อสถานีมิชชันเปิดทำการ มีนายแพทย์ซามูเอล และนางซาราห์ พีเพิลส์ เป็นมิชชันนารีครอบครัวแรก แต่ด้วยหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้นายแพทย์ซามูเอลไม่มีเวลามากนักในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 ศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน ศิษยาภิบาลของคริสตจักรที่ ลำปาง พร้อมด้วยหลานสาว คือ มิสแคทรีน ฟลีสัน มิชชันนารีชาวอเมริกัน จึงย้ายมาทำงานในเมืองลำปาง

มิสแคทรีน ฟลีสัน คือผู้ก่อตั้งโรงเรียนสตรีอเมริกัน ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในเมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2432 และต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานชื่อให้ใหม่ว่า โรงเรียนวิชชานารี ส่วนศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน คือผู้ริเริ่มสร้างโบสถ์ฟลีสันเมโมเรียลในปี พ.ศ. 2452

จะว่าไปชาวตะวันตกนอกจากเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแล้ว อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ยังมีคุณูปการทางด้านการแพทย์และการศึกษา นำมาสู่อาคารสาธารณะรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ฟลีสันเมโมเรียล โรงพยาบาลแวนแซนต์วูร์ด โรงเรียนวิชชานารี และโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี

ในขณะเดียวกัน เมืองลำปางสมัยนั้นยังเป็นศูนย์รวมของบริษัททำไม้ อันได้แก่

ห้างบอมเบย์เบอร์มา เข้ามาเปิดสาขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 โดยเป็นสำนักงานบริษัทค้าไม้สัญชาติอังกฤษ ลักษณะเป็นเรือนไม้พื้นถิ่น ก่อด้วยอิฐ ทั้งยังเคยเป็นกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น ที่กองทัพไทยได้เตรียมแผนการบุกยึดช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ห้างบริติชบอร์เนียว สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2439 ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง ลักษณะเป็นเรือนปั้นหยา หลังคาทรงสูง ครึ่งปูนครึ่งไม้

ห้างหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ปัจจุบันถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย ลักษณะเป็นเรือนปั้นหยายื่นมุขแปดเหลี่ยม ครึ่งปูนครึ่งไม้ ช่องเปิดและช่องระบายอากาศเป็นเกล็ดไม้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีห้างสยามฟอเรสต์ ห้างอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์ก และห้างป่าไม้ของฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแล้วแต่มีนายห้างฝรั่งเป็นผู้จัดการ พร้อมผู้ช่วยฝรั่งอีก 4-5 คน พวกเขานำวัฒนธรรมตะวันตกหลายอย่างเข้ามาเผยแพร่ เช่น โปโล กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล บิลเลียด ทำให้เมืองลำปางมีสปอร์ตคลับเป็นเมืองแรก ๆ ในนามละกอนสปอร์ตคลับ

ความหรูหราฟู่ฟ่าและสีสันแห่งความเป็นตะวันตกปิดฉากลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อเข้าสู่พม่า ชาวอเมริกันและยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่สงคราม จึงต้องอพยพหนีออกไป สถานที่ทำงานและอาคารต่าง ๆ ถูกยึด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นตะวันตกที่ยังหลงเหลืออยู่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมของวัด อาคารต่าง ๆ และบ้านเรือน ทำให้ลำปางของเรามีความหลากหลายและมีแง่มุมที่สวยคลาสสิกไม่แพ้เมืองอื่นเลยทีเดียว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1031  วันที่  5 - 11 มิถุนายน 2558) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์