วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ศักดิ์ศรีสื่อบ้านนอก



           

ฟังข้อเสนอของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภูมิภาค” แล้วก็นึกถึงคำว่า “ศักดิ์ศรีสื่อมวลชน” คำว่าศักดิ์ศรีเป็นความภาคภูมิใจ ที่ไม่อาจแลกมาด้วยเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ดังนั้นการขอให้รัฐดูแล อุ้มชูสื่อบ้านนอกเป็นการเฉพาะเจาะจง จึงไม่เพียงลดทอนศักดิ์ศรีของตัวเองเท่านั้น
           
หากยังหมายถึงการเปิดทางให้อำนาจรัฐ เข้ามาแทรกแซงการทำงาน ไม่ว่าคนทำสื่อจะมีเจตนาเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม
           
เมื่อแรกตั้งหลัก ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ อนุกรรมาธิการซึ่งผมรับชวนไปร่วมถกแถลงด้วยนั้น  ได้รวมคำว่าสวัสดิการสื่อมวลชนเข้าไว้เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย
           
ต่อมา องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือขอให้ทบทวน และตัดคำว่าสวัสดิการออก ด้วยเห็นว่าการกำหนดให้รัฐต้องจัดการ ดูแลเรื่องสวัสดิการสื่อมวลชน เป็นหลักการที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ผู้ร่างกฎหมายเห็นด้วย และตัดออก หากแต่สื่ออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในส่วนภูมิภาคมีความเห็นแย้ง
           
กระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเรียกกันว่าเป็นองค์กรร่มใหญ่ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน  สุดท้ายไม่มีการพิจารณาเรื่องของสวัสดิการเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปสื่อ
           
เพราะสวัสดิการของสื่อมวลชน เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของผู้ประกอบการ เป็นเรื่องการจัดการธุรกิจ ซึ่งหากเจ้าของดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการโดยไม่เป็นธรรม ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานสื่อมวลชนกลาง ที่จะเป็นตัวแทนเรียกร้องตามสิทธิที่พึงได้รับ
           
และหากสหภาพแรงงานกลาง ยังไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้กับสื่อมวลชนที่ถูกกดบีบด้วยอำนาจทุนได้ ก็ต้องทำให้มันเข้มแข็ง
           
ในบรรดาวิชาชีพทั้งหลาย ผมคิดว่าสื่อมวลชนควรจะต้องดำรงตนด้วยความสมถะ พออยู่พอกิน ไม่เอาอำนาจการสื่อสารที่ตนเองมีไปแสวงหาเงินหรือผลประโยชน์ที่ไม่ควรมีควรได้  ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรสำคัญผิดว่าอาชีพสื่อ จะมีอภิสิทธิ์เหนืออาชีพอื่นๆ  ที่ต้องได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่น ได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น
           
มายาคติในเรื่องความมีอภิสิทธิ์ของสื่อมวลชน ถูกปลูกฝังในสังคมนี้มายาวนาน ในอดีตเรามี 18 อรหันต์ เรามีนักการเมืองรุ่นโบราณหลายคน ที่คบหานักข่าว หรือคนข่าวที่มีชื่อเสียง เพื่อหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการเสนอข่าว หรือปกปิดความชั่วร้ายของตน
           
หรือแม้กระทั่งตำรวจ ข้าราชการระดับสูงบางคน ก็ทำตัวสนิทชิดเชื้อกับนักข่าว เพราะหวังว่านักข่าวจะช่วยในการผลักดันให้มีการแต่งตั้ง โยกย้ายในตำแหน่งที่ดีๆได้
           
อดีตนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง เคยบอกผมว่า เขาจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับนักข่าวสายอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง เพื่อให้เสนอข่าวที่เป็นประโยชน์กับหน้าที่การงานของตนเอง และสามารถสั่งข่าวได้ ฝากข่าว ฝากภาพได้
           
นั่นอาจเป็นเพียงคำพูดที่เลื่อนลอย ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านักข่าวรายนั้นจะยอมตนเป็นลูกน้องตำรวจคนนั้นจริง แต่ในแวดวงนักข่าวอาชญากรรม เรื่องนี้ก็อาจเป็นที่รับรู้กันเป็นปกติ สุดแท้แต่ว่า ใครจะรับหรือไม่รับ หรือใครจะมีหลักจริยธรรมในการทำงานเข้มข้นกว่ากันเท่านั้น
           
มีความเข้าใจผิดอยู่อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ คำว่าฐานันดร ซึ่งนักข่าวหลายรุ่นอาจไม่ได้สนใจบริบทที่มาของคำว่า ฐานันดร แต่ก็ยินดีที่จะเชื่อความเป็นฐานันดร เพราะนั่นแปลว่า เขาจะมีสิทธิเหนือคนอื่นๆ
           
ในการประชุมรัฐสภาอังกฤษ คราวหนึ่ง เอ็ดมัน  เบิร์ก สมาชิกสภาคนหนึ่ง เห็นนักข่าวนั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย เขาได้แถลงในที่ประชุมว่า
           
ในขณะที่เราทั้งหลาย ผู้เป็นฐานันดรใด ฐานันดรหนึ่งทั้ง กำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่า บัดนี้ได้มีฐานันดรที่ เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้น กำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย
           
ฐานันดรในรัฐสภาอังกฤษ ประกอบด้วย
           
ฐานันดรที่ ประกอบด้วยสภาขุนนางอันมี พวกขุนนางสืบตระกูล
           
ฐานันดรที่ ประกอบด้วยบรรพชิต พระราชาคณะ
           
ฐานันดรที่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนธรรมดาได้เลือกตั้งให้เป็นแทนตนเข้าไป
           
ในบริบทสังคมขณะนั้น น่าจะเป็นการเสียดเย้ยนักข่าว มากกว่ายกย่อง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานอื่นๆอีกว่า สื่อมวลชนในอังกฤษมีฐานะทางสังคมเหนือกว่าคนโดยทั่วไป
           
ผมเชื่อว่า เรื่องปากท้อง หรือฐานะความเป็นอยู่ของนักข่าวที่สุจริต ทำงานตรงไปตรงมาส่วนใหญ่ ก็เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า ไม่อาจสร้างฐานะให้ร่ำรวยได้ ยกเว้นนักธุรกิจสื่อที่เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในสังคมใหญ่
           
เราอาจจะเรียกร้องสวัสดิภาพได้ เพราะสวัสดิภาพของนักข่าว โดยเฉพาะในยามที่เกิดการเผชิญหน้าในสังคมรัฐก็ต้องดูแล เยียวยาความเสียหายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
           
แต่เรื่องสวัสดิการ ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆนั้น เป็นความรับผิดชอบของนายจ้าง
           
ใครจะเป็นคนต่อสู้เรื่องนี้ ก็ต้องเป็นเรื่องของคนๆนั้นเอง เพราะเมื่อเราเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนอื่นได้ทั่วบ้าน ทั่วเมือง แต่กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เรียกร้องไม่ได้ ก็สมควรลาออกไปทำอาชีพอื่น
           
หากดำรงตนอยู่ในความสุจริต ทำมาหากินตรงไปตรงมา เงยหน้าก็ไม่อายฟ้า ก้มหน้าก็ไม่อายดิน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1034 วันที่ 26 มิถุนายน - กรกฏาคม 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์