วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผักตบชวา รุกแม่วัง



ล้ายอยู่ในป่าไม่เห็นต้นไม้ คนลำปางอยู่ใกล้ชิดแม่น้ำวัง แต่ดูเหมือนไม่เห็นคุณค่าของสายน้ำ ที่เคยเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาแต่ครั้งอดีต
           
มองลงไปในลำน้ำ เห็นเกาะแก่ง แห้งผาก โผล่ผุดขึ้นที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ตะไคร่น้ำเขียวครึ้มลอยตัวรอรับแสงแดด ขยายพื้นที่เข้าครอบครองแม่น้ำเกือบตลอดสาย หลับตา ฝันไปถึงภาพน้ำใส เต็มตลิ่ง เรือพายใช้เป็นเส้นทางเที่ยวชมสองฝั่ง เหมือนเรือท่องแม่น้ำปิงที่เชียงใหม่ ลำปาง เมืองเล็กๆที่เงียบ สงบ อาจรื่นรมย์มากกว่านี้
           
ยิ่งเวลาเนิ่นนานผ่านไป สายน้ำวังกลางเมืองที่เคยได้รับการเยียวยา จากกระแสรักษ์แม่น้ำวังเมื่อราวสองปีที่แล้ว มาปีนี้ดูสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อกรมเจ้าท่าได้เข้ามาดำเนินการขุดลอกดูดทรายจากท้องน้ำที่สะสมมานานนับสิบปี แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะไม่เข้าข้างแม่น้ำวัง เพราะเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้ง ฝนตกน้อยกว่าที่ผ่านมา แต่การใช้น้ำดูจะไม่น้อยลง แถมยังสองฝั่งแม่น้ำวังก็ยังมีการปล่อยน้ำใช้ลงแหล่งน้ำตลอดเวลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการกับร้านค้า ตลาด ที่พัก โรงแรม ที่ไม่บำบัดน้ำก่อนปล่อยลงแม่น้ำ ก็ดูเหมือนจะลืมเลือนวาจาที่เคยลั่นไว้         
           
มาวันนี้แม่น้ำวังแสดงตัวตนด้วยภาพลำคลองแห้งผาก เต็มไปด้วยตะไคร่ น้ำเน่าเสีย สาหร่ายน้ำจืด และกลุ่มกอผักตบชวาที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อนหน้านี้เลย
           
ไม่ใช่แค่ แม่น้ำวังกลางเมืองลำปาง แต่แหล่งน้ำลำคลองของไทยหลายแห่งเต็มไปด้วยผักตบชวา ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผักตบชวาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วคือ การปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองด้วยฝีมือของมนุษย์เอง
           
การที่มีผักตบชวาเต็มผืนน้ำ เรียกว่าปรากฏการณ์ขยายพันธ์อย่างรวดเร็วของพืชน้ำ หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยูโรฟิเคชั่น มีสาเหตุมาจากการที่แหล่งน้ำอุดมไปด้วยธาตุอาหารของพืชน้ำเป็นจำนวนมาก ทั้งสารไนเตรท ฟอสเฟสที่มากับสารเคมีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ผงซักฟอก ปุ๋ย เมื่อธาตุอาหารในน้ำเยอะก็เกิดการขยายตัวของผักตบชวาได้เป็นอย่างดี จึงเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าสภาพแหล่งน้ำนั้นเกิดการเน่าเสีย            
           
ดังนั้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการปรากฎตัวของผักตบชวา เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจนว่าน้ำทิ้งที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำมีพวกสารซักล้าง ตอกย้ำว่าปัญหาแม่น้ำวังยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร ที่ผ่านมายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
           
แม่น้ำวังไม่ได้เป็นของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นสมบัติของคนลำปาง
           
เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นแม่น้ำวังให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากทุกคนช่วยกันอย่างจริงใจ
           
ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำก็ดูแลรับผิดชอบการปล่อยน้ำทิ้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายก็ควรจ้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง เอาผิดกับโรงแรม ตลาด หรือบ้านเรือนที่ทิ้งน้ำลงแหล่งน้ำโดยตรงกันเสียที
           
จะว่าไปแล้วประเทศไทยมีแนวคิดในการจัดการกับผักตบชวามาเป็นเวลานาน จนถึงขั้นตั้ง พ.ร.บ. กำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 ที่ยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของผักตบชวา ทั้งการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บ ทำลายผักตบชวาที่ลอยผ่านบริเวณบ้าน ไม่ให้มีการขยายพันธุ์ แต่เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยไม่มีความเด็ดขาดพอ เราจึงไม่สามารถจัดการกับวัชพืชชนิดนี้ได้อย่างจริงจัง
           
จึงทำให้เราเห็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่ภาคกลาง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย กว๊านพะเยา และอีกหลายๆที่มักมีภาพผักตบชวาลอยละล่องไปกับกระแสน้ำ จนเป็นความเคยชินของประชาชนคนไทย
           
แต่หารู้ไหมว่ากอผักตบชวาที่เกาะกลุ่มลอยตัวอยู่ที่ผืนน้ำ ก็ไม่ต่างอะไรกับมัจจุราชสีเขียวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเงียบๆ  กว่าจะรู้ตัวอีกทีผักตบชวาก็เพิ่มจำนวนเต็มผืนน้ำ เมื่อนั้นการแก้ปัญหาก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
           
หากจะโทษก็อย่าไปโทษธรรมชาติเลย ต้องโทษที่เราทุกคนที่ไม่เคยสนใจ ซักผ้า ล้างจาน กวาดพื้นตลาด ชะล้างคราบไขมันในตลาดสด ก็ไม่นำน้ำทั้งหลายไปบำบัด แต่ต่อท่อระบายน้ำลงแม่น้ำ เหตุเพราะง่ายดี สะดวกดี
           
หลายคนอาจจะต้องคำถามว่า สมัยก่อนก็ทำแบบนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย
           
ตอบง่ายๆแบบไม่ต้องถามนักวิชาการ ก็น่าจะได้คำตอบที่เราทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจแต่ไม่เปิดใจอยากจะคิด นั่นคือ สมัยก่อนนั้นประชากรยังไม่มา บ้านเรือนในเมืองยังไม่หนาแน่น ที่พัก อาพาร์ตเมนท์ เกสต์เฮาส์ริมน้ำยังไม่เยอะ เหมือนอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นปริมาณน้ำใช้น้ำทิ้งก็ยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน อีกทั้งสิ่งแวดล้อมป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งน้ำถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนก็น้อย แบบนี้เราจะโทษใครได้ถ้าไม่ใช่ตัวเรา
           
สนิมเกิดจากเนื้อใน ผักตบชวาที่ลอยฟ่องเต็มท้องน้ำ ก็เกิดจากน้ำมือมนุษย์นั่นเอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1031  วันที่  5 - 11 มิถุนายน 2558) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์