วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน ประเด็นร้อนในการอนุรักษ์


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
กลายเป็นเรื่องคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ กับการบูรณะครั้งล่าสุดของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จนใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่เหลือเค้าแห่งความงามจากอดีตกาล เป็นเหตุให้นักวิชาการและนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาออกมาวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้ตั้งคำถามไปถึงสำนักศิลปากรที่ น่าน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยว่า ทำไมจึงผิดเพี้ยนในการอนุรักษ์ไปได้ถึงเพียงนี้
           
วัดศรีหลวงแจ้ซ้อนไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นคนสร้าง บ้างก็ว่า ครูบาเจ้าวะจิระปัญญาร่วมกับแสนเมืองลือโลกและศรัทธาชาวบ้าน ได้เดินทางไปขออนุญาตจากเจ้าเมืองละกอนในการสร้างวิหาร จากนั้นจึงได้ไปนิมนต์ครูบายาวิชัยวัดบ้านถ้ำให้มาเป็นช่าง ท่านจึงบอกให้ไปขอให้ครูบาเจ้าอสิงวิตั๊ก วัดพระยืน จังหวัดลำพูน ช่วยเขียนแปลนให้ เมื่อได้แบบแปลนมาแล้ว ก็กลับมานิมนต์ให้ครูบายาวิชัยเป็นช่างก่อสร้าง โดยมีชื่อเดิมว่าวัดป่าไผ่

บ้างก็ว่าวัดป่าไผ่แห่งนี้ มีพระธาตุเจดีย์อยู่เดิม ในราวปี พ.ศ. 2218 ครูบาจากจังหวัดลำพูนได้พาช่างจากวัดพระยืน จังหวัดลำพูน มาช่วยงานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ก่อน จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2220 จึงได้สร้างวิหารหลวงขึ้น โดยถือแบบอย่างช่างเชียงใหม่และลำพูน

วิหารวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนเป็นวิหารล้านนาผสมพม่า ก่ออิฐถือปูน บันไดทางขึ้นมีรูปปูนปั้นสัตว์ในนิยาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนและธรรมาสน์ไม้สักเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี โดยในปี พ.ศ. 2553 วิหารแห่งนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนด้านหลังวิหารมีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำหุ้มด้วยทองจังโก (ทองเหลืองที่ตีแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ นิยมใช้หุ้มองค์เจดีย์เพื่อป้องกันการผุกร่อน) ศิลปะล้านนาผสมพม่า

ทว่าหลังการบูรณะครั้งล่าสุดกลับลดทอนความงามของวัดโบราณอายุหลายร้อยปี ให้กลายเป็นวัดใหม่อายุไม่กี่ปีเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ นักคิด นักเขียน นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า อนิจจาหน้าแหนบวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน ลำปาง วัดเก่าแก่กว่า 300-400 ปี ขอถามนายช่างปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์สายตรงสักคำ ว่าหากเจอกรณีที่หน้าบันชำรุด ปูนปั้นกะเทาะหลายจุด กระจกจืนหลุดร่วงบ้าง แต่ทว่าโดยรวมหน้าแหนบแผ่นนี้ก็ยังงามคลาสสิกอยู่มาก เวลาลงมืออนุรักษ์ (ไม่อยากใช้คำว่า บูรณะเท่าไหร่ ใช้คำว่า อนุรักษ์ ดีกว่า) ท่านไม่สามารถอนุรักษ์ให้เหมือนเดิมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้เลยหรือ ทำไมหลังการอนุรักษ์หน้าตามันจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบขวามือ ความขลัง ความเก๋า ร่องรอยของกระจกจืนหายไปไหนหมด นี่ขนาดเป็นโครงการที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ น่าน แท้ ๆ เลยนะ เมื่อ 4-5 ปีก่อน ใช้วิธีเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนมาจ้างเหมา ถ้าหากเป็นกรณีที่วัดบูรณะกันเองเรายังเต้นผาง ๆ กันเลย แล้วทำไมจึงเป็นแบบนี้คะ ?”
           
ดร. เพ็ญสุภายังได้ชี้แจงอีกว่า ที่โพสต์นี่ เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าใจเยี่ยงนี้อีกต่อไป ไม่ว่ากับวัดแห่งใดในประเทศไทย และกล่าวเพิ่มเติมว่า สองในสี่ที่เป็นหัวใจแห่งหลักการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่กรมศิลป์เพียรพยายามสอนชาวบ้านอยู่ตลอดเวลาก็คือ ให้รักษาฝีมือดั้งเดิมเชิงช่างอย่าได้เปลี่ยน และ ให้รักษาไว้ซึ่งวัสดุดั้งเดิมให้มากที่สุด แต่ภาพที่เห็นไยจึงเปลี่ยนจากกระจกจืนมาเป็นกระจกแก้วแวววาวสมัยใหม่
           
อีกทั้งยังตั้งคำถามที่น่าคิด ขอถามนายช่างอนุรักษ์ต่ออีกข้อ เพราะเข้าใจว่าท่านคงทำไปบนตรรกะที่ว่า ต้องการความคงทนยั่งยืน จะได้ไม่ผุพังง่าย แต่หากว่าท่านจะอนุรักษ์แค่เสริมปูนปั้นที่เปื่อยยุ่ย แต่ไม่ต้องเอากระจกสีเขียวมาเบียดแทรกทุกอณูพื้นที่ทับกระจกจืนจะได้หรือไม่ การไม่ใส่กระจกสีทับจะไม่ช่วยให้หน้าแหนบคงทนกระนั้นหรือ ?” พร้อมกับให้ข้อมูลว่า เมื่อ ปีก่อน กรมศิลป์ก็จัดสัมมนาเรื่องการฟื้นฟูกรรมวิธีการทำกระจกจืนไปแล้ว หวังว่าเมื่อมีโครงการอนุรักษ์งานศิลปกรรมที่ทำด้วยกระจกจืนที่ไหนอีก คงไม่เปลี่ยนมาใช้กระจกสมัยใหม่อีกแล้วนะคะ เพราะอารมณ์มันต่างกันมาก กระจกจืนนั้นมีสีสันละมุนละม่อมหลากหลายเฉดสี ช่างโบราณเขามีรสนิยมสูง
           
พร้อมกันนี้ ดร. เพ็ญสุภาเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ คือ ขั้นแรกต้องมีการเสนอแบบต่อคนในชุมชน หรือสาธารณชนว่าจะบูรณะอะไร อย่างไร ตรงไหนบ้างที่ต้องเปลี่ยนเอาออก ตรงไหนบ้างที่จะเอาของใหม่มาเสริม มาแซม มาสร้างความแข็งแกร่งให้โครงสร้างหน้าบัน เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ต้องเป็นผู้นำเสนอจุดยืน เมื่อฝ่ายจ้างเหมารับงานต้องทำตามสเป็ก ไม่ใช่คิดแค่เซฟงบ ตอนตรวจรับงานก็ต้องเข้มงวด คือจะอุดรูรั่วได้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ยกแรกของการกำหนดรูปแบบที่จะอนุรักษ์ ไม่ใช่ให้ฝ่ายจ้างเหมาเป็นผู้เสนอว่าจะทำอะไร อย่างไรก็ตาม งานส่วนลวดลายจิตรกรรม ศิลปกรรม งานเฉพาะทางเช่นนี้ กรมศิลป์ควรที่จะต้องสงวนส่วนนี้ไว้ทำการอนุรักษ์โดยช่างหลวงของกรมศิลป์เอง เช่น กลุ่มช่างสิบหมู่เป็นการเฉพาะ ไม่ควรที่จะนำงานละเอียดบอบบางวิจิตรไปรวมไว้กับงานจ้างบริษัทรับเหมา หากจะรวมไว้ในงานจ้างผู้รับเหมาควรกำหนดให้ทำแค่ความสะอาดเท่านั้น
           
จากการที่ดิฉันเองก็เคยคลุกคลีตีโมงกับกรมศิลปากรมานานถึง 10 ปี ทราบมาโดยตลอดว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้งานเชิงบูรณะ (อนุรักษ์) ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เช่น 1. กรมศิลป์ส่วนภูมิภาค องค์ความรู้อาจจะยังไม่ถึงขั้นรู้ลึกซึ้ง เช่น กลุ่มช่างเฉพาะด้านจากส่วนกลาง พวกกลุ่มช่างสิบหมู่ หรือกลุ่มช่างศิลปกรรม 2. ผู้รับเหมายังขาดช่างที่มีฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญเฉพาะด้าน และยังต้องลดต้นทุนเพื่อที่จะได้มีกำไรอีก และยังมีเงื่อนไขด้านเวลาให้แล้วเสร็จตามกำหนด ไม่งั้นโดนปรับ ทำให้ต้องเร่งสุด ๆ คล้ายสุกเอาเผากิน 3. ขาดการประสานงานขั้นตอนการสื่อสารระหว่างกรมศิลป์ ผู้รับเหมา นักวิชาการ และคนในพื้นที่ ให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัย พูดไปก็คงเหมือนแก้ตัว หรือแก้ต่างให้กรมศิลป์อีก ลึก ๆ แล้วก็เข้าใจและเห็นใจทุกฝ่ายอยู่เหมือนกัน
           
สิ่งหนึ่งที่อยากให้มีมากที่สุด คือ อยากให้กรมศิลป์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ตั้งแต่กรมศิลป์เริ่มให้มีการจ้างเหมาบริษัทมาทำการบูรณะแทนเป็นเวลาเกือบ 20 ปีนั้น ได้เคยประเมินหรือไม่ว่า ผลงานออกมาเป็นอย่างไรบ้าง กระแสตอบรับของมวลชนอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจบ้างไหม อยากให้กรมศิลป์ทบทวนสิ่งที่ทำไปทั้งหมด
           
ล่าสุดนายไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักงานศิลปากรที่ น่าน ได้ออกมาชี้แจงผ่านรายการข่าวทางโทรทัศน์ว่า ได้มีการทำตามแบบดั้งเดิมและเป็นไปตามการอนุรักษ์โบราณสถาน แต่เรื่องของกระจกสีที่นำมาใส่นั้น เป็นเพราะปัจจุบันกระจกโบราณไม่มีการผลิตแล้ว จึงนำกระจกสมัยใหม่มาใส่แทน ส่วนเรื่องการทาสีองค์เจดีย์ก็ยืนยันว่าไม่มีการทาสีทับ แต่มีการปิดทองจังโกก่อนติดทองคำเปลว ซึ่งทุกกระบวนการเป็นการบูรณะตามแบบดั้งเดิมทั้งสิ้น
           

คนที่เข้าใจในเรื่องการบูรณะโบราณสถานอย่างถ่องแท้คงต้องขอบคุณ ดร. เพ็ญสุภา รวมทั้งนักวิชาการอีกหลายท่าน ที่ส่งเสียงอันมีน้ำหนักและหลักการต่อการบูรณะวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนในครั้งนี้ ซึ่งเราได้แต่หวังว่า เมืองลำปางและเมืองล้านนาอื่น ๆ คงต้องหันมาทบทวนเรื่องการบูรณะวัดโบราณอย่างจริงจังเสียที หลังจากที่เราต่างก็สูญเสียคุณค่าในเชิงศิลปสถาปัตยกรรมกันมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1038  วันที่ 24 - 30  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์