วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หยุดตกตื่น กฎหมายลิขสิทธิ์

ม้าสีหมอก                                        

ลันที่ปรากฏข่าว กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ สังคมก็ตกตื่น คล้ายกับว่าจากนี้ไป แม้จะส่งภาพดอกไม้สักดอก เป็นการทักทายสวัสดีตอนเช้าโดยดอกไม้จะเปลี่ยนสีไปตามวัน ก็ทำไม่ได้ จะแชร์ข้อความสักประโยคที่เป็นคำคม บทกวี ก็ทำไม่ได้

นี่เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่วูบไหว ไปตามกระแส โดยผู้คนไม่ใส่ใจที่มา ที่ไป หรือฟังเหตุ ฟังผล นอกจากฟังตามๆกันมา อาการวิตกจริตนี้ถูกส่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่างรวดเร็ว ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
การแชร์ข้อมูลในเฟสบุ๊ค เกิดกระแสปั่นป่วน จนการแชร์ลดลง ทั้งที่โดยปกติการแชร์บทสนทนา หรือเรื่องราวทั่วๆไป ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ แต่หากเป็นข้อความในรูปแบบคลิปวิดีโอ ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ อาจถือว่าเป็นงานประเภทวรรณกรรม หรือโสตทัศนวัสดุ อย่างไรก็ตามลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น หากมีการละเมิดก็เป็นความผิดอยู่แล้วก่อนมี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2558

เรียกว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ที่ประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ สิงหาคมนี้ สร้างความสับสน วุ่นวายให้กับคนที่เกี่ยวข้องพอสมควร  โดยเฉพาะกลุ่มคนที่พึ่งพาภาพ ข้อมูล ข่าวสารจากสื่อออนไลน์  หรือส่งผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นส่วนควบของชีวิตที่ขาดไปคงขาดใจตาย

หลายครั้งที่เราดึงภาพจากระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่า ภาพนั้นเป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือเป็นภาพที่ใช้ต่อๆกันมา โดยไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ใครเป็นเจ้าของงานตัวจริง

หรือหากมีความสงสัยว่าอาจไปละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของ ก็อาจจะอ้างอิงที่มา จากเว็บไซต์ หรือ Google ซึ่งไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิด

หลายคนตั้งคำถาม หลายคนวิตกวิจารณ์กันว่า จากนี้ไป คนที่ส่งภาพ แชร์ภาพ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จะทำไม่ได้เลย เพราะจะเป็นความผิดตามกฎหมายใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้  ซึ่งก็มีคำตอบในหลายแง่มุม

แต่มุมหนึ่งคือการแชร์ข้อมูล นั้นหากเป็นเรื่องภายในกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้ทำไปในเชิงพาณิชย์ และมีการอ้างอิงที่มา ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์

ซึ่งหากเจ้าของงานอ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ก็คงพิสูจน์ความเสียหายได้ยาก ยกเว้นกรณีที่เป็นนิติบุคคล และทำไปเพื่อการค้า ไม่อ้างอิง ไม่ขออนุญาตเจ้าของ ย่อมมีความผิดอย่างไม่ต้องสงสัย

ความจริง การแชร์การใช้ ภาพ เนื้อหา ข้อมูลที่คนอื่นเขาคิดค้น เป็นงานสร้างสรรค์ บนอินเทอร์เน็ต  ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ตามกฎหมายเดิม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537

งานที่มีลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ ตามกฎหมายเดิม ได้แก่งานวรรณกรรม เช่น ข้อเขียน บทความ คอลัมน์ งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม ศิลปประยุกต์ ภาพถ่าย ภาพวาด  งานออกแบบ ดนตรีกรรม เพลง คำร้อง ทำนอง โสตทัศนวัสดุ มิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์ งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิทธินักแสดง

งานเหล่านี้ หากนำมาทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น

นี่เองที่กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดว่า การแชร์ ภาพ วิดีโอ เรื่องราวต่างๆ อันเป็นลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รูปแบบต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ในวันที่ สิงหาคมนี้ จะมีความผิดตามกฏหมาย

ซึ่งการกระทำเช่นนั้น มีความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิมดังที่กล่าวแล้ว แต่กฏหมายฉบับแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้ จะมีโทษทางอาญาหนักขึ้น โดยเฉพาะการไปละเมิดสิ่งที่เรียกว่า 'ข้อมูลการบริหารสิทธิ' ซึ่งมีที่มาจากนโยบาย เศรษฐกิจดิจิทัล ของรัฐบาล

ข้อมูล บริหารสิทธิ พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ การที่เจ้าของลิขสิทธิ์ แสดงความเป็นเจ้าของในงานของเขา ด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การใส่ลายน้ำในภาพถ่าย การเขียนชื่อ หรือสัญลักษณ์แสดงตัวตน หรือการบอกว่าเป็นเจ้าของไอจี ถ้าไปลบ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ความเป็นเจ้าของ โทษคือจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒ แสน

เพราะในขณะที่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ ฉบับปี 2537 ยังมีการแสดงความเป็นเจ้าของสิทธิในงานสร้างสรรค์ไม่มากนัก และกฎหมายก็ไม่ได้เขียนครอบคลุมไว้

ว่าตามหลักของกฏหมายที่แก้ไข เพิ่มเติมนี้ คือการคุ้มครองเจ้าของงานลิขสิทธิ์ให้มีความชัดเจน และก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น มิได้เป็นเรื่องใหม่หรือทำให้มีภาระเพิ่ม หากสุจริต ตรงไปตรงมา และไม่ฉกฉวยความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่นมาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ จึงไม่ใช่เป็นผู้ร้าย เช่นที่หลายคนคิด และวิตกจริตกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1040 วันที่ 7 - 13 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์