วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

ผู้ตรวจฯซัด กฟผ. เอกสารสิทธิ์ช้า ลั่นมีกองทุน 250ล.แต่พื้นที่ไม่พัฒนา


ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง กรณีการออกเอกสารสิทธิ์ล่าช้า จากปัญหาการเปลี่ยนย้ายผู้บริหาร  จวกการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีงบปีละ 250 ล้าน แต่ในพื้นที่ยังไม่เจริญ ควรวางกรอบการใช้เงินให้ชัดเจน ว่าเรื่องใดที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด  

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.58 พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ พื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง  3 ประเด็นหลัก คือ ปัญหาการจัดการทรัพย์สินของราษฎร 4 หมู่บ้านที่โอนให้กับทางราชการ ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเกิดปัญหามีการเข้าไปครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินดังกล่าวอันเป็นพฤติการณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  กรณีความล่าช้าของการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรในพื้นที่เพื่อรองรับการอพยพ  และการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ให้จัดสรรเงินกองทุนเพื่อนำไปจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ โดยมิให้บุคคลภายนอกเข้าไปแทรกแซงการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการไม่สามารถเข้าถึงกองทุน   โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัด  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลในการดำเนินงานที่ผ่านมา

ทั้งนี้  จากการประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับผู้แทนจังหวัดลำปาง ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 32 ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่เมาะ และผู้ร้องเรียน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา  ผลการประชุมสรุปว่า ประเด็นที่ 1 กรณีปัญหาการจัดการทรัพย์สินของราษฎร 4 หมู่บ้าน ที่โอนให้กับทางราชการ นั้น ปัจจุบันนี้พบว่าบ้านเรือนของราษฎรที่โอนให้กับทางราชการนั้น บางส่วนได้สูญหายไป บางส่วนมีการเข้าไปลักขโมยจนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ไม่มีการทำบัญชีตรวจสอบทรัพย์สินและขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจตราดูแล  ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ควรเร่งรัดการตรวจสอบและจัดทำบัญชีทรัพย์สินโดยมอบหมายให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดลำปาง เร่งรัดดำเนินการ หากขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือก็ให้ขอความร่วมมือกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมณฑลทหารบกที่ 32 รวมทั้งให้เผยแพร่ประสานงานให้หน่วยงานราชการในจังหวัดลำปางและในพื้นที่ข้างเคียงนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ และให้อำเภอแม่เมาะเร่งรัดการยกเลิกเลขที่บ้านและทะเบียนบ้านหลังที่ได้โอนให้กับทางราชการ และย้ายชื่อบุคคลที่ไม่ยอมย้ายออกจากทะเบียนบ้านไปไว้ที่ทะเบียนบ้านกลาง ส่วนกรณีที่มีการเข้าไปรื้อถอนบ้านเรือนที่รับโอนมาเป็นของทางราชการแล้วนั้น ให้จังหวัดลำปางและอำเภอแม่เมาะประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรแม่เมาะในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ประเด็นที่ กรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรในพื้นที่รองรับการอพยพ นั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ เนื่องจากราษฎรได้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่การอพยพซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง ตั้งแต่ พ.ศ.2552 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรแม้แต่รายเดียว ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นจากยังไม่มีการเพิกถอนป่าสงวน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหน่วยงานที่รับผิดชอบทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้จังหวัดลำปางแต่งตั้งผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปางเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดติดตามการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จางและดำเนินการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

และประเด็นที่ 3 กรณีปัญหาการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะอ้างว่า เข้าไม่ถึงกองทุนและมีการจัดสรรเงินกองทุนโดยไม่เที่ยงธรรม นั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน จึงได้มอบหมายให้จังหวัดลำปางแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และให้รายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มผู้แทนจากหน่วยงานทหารในพื้นที่ (มณฑลทหารบกที่ 32) เป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีกำลังพลที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านมวลชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ คพรฟ. ในระดับชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

จากการลงพื้นที่ติดตามทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว ในครั้งนี้  พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า  ในประเด็นที่ 1 เรื่องการจัดทำบัญชีของธนารักษ์พื้นที่ลำปาง ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ เช่น มทบ. 32 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดำเนินการตรวจสอบว่าทรัพย์สินของทางราชการแต่ละหมู่บ้านมีอยู่ที่ไหนบ้าง จำนวนหนึ่งได้มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนำไปซ่อมแซมวัด อีกส่วนหนึ่ง มทบ.32 จะนำไปซ่อมพิพิธภัณฑ์บ้านป่องนัก  และประสานไปยังส่วนราชการต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้  ให้ มทบ.32 ร่วมตรวจสอบจำนวนบ้านเรือนอย่างใกล้ชิด

ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ ให้กับราษฎรที่อพยพออกมา ได้ทราบจากรายงานว่าเรื่องยังไปไม่ถึงไหน การอพยพ 7 ครั้ง สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้เพียงครั้งที่ 1 ครั้งเดียว ส่วนครั้งที่ 2-7 ยังติดปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ป่าไม้อยู่  ที่ประชุมจึงมีมติว่า ผู้ตรวจฯจะนำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการอพยพราษฎรในพื้นที่ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน   การทำงานที่ผ่านมาจึงไม่รู้ว่าใครจะเริ่มต้นก่อน แต่ในครั้งนี้ถ้านายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ จึงมีอำนาจสูงสุดในการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะแน่นอน     เชื่อว่าต่อไปจะมีหน่วยงานหลักไปติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องใดที่เป็นไปตามมติ ครม.ก็สามารถดำเนินการได้ต่อไป

“ผมมีความกังวลใจมากว่า ที่ผ่านมาเรื่องไม่ได้รับการพิจารณา เมื่อถึงเวลาที่จะเข้า ครม.เพื่อไปยกเลิกพื้นที่ป่าแม่จางแต่เรื่องก็ถอยหลังมาอีก  เนื่องจากมีการโยกย้ายผู้บริหารในกระทรวง ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ถ้ามีคณะกรรมการขับเคลื่อนตรงนี้ น่าจะทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าเดิม  ผมจะติดตามความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด  ผมมีความคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้า ยังเคยได้พูดคุยกันในที่ประชุมว่า จะฉลอง 10 ปี มติ ครม. 10 ม.ค. 49  ครบ 10 ปี แล้วยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในการดำเนินโครงการของภาครัฐอื่นๆ ต่อไปเวลาจะทำการอพยพราษฎรออกจากถิ่นฐานเดิม มีตัวอย่างจากกรณีนี้”

พลเอกวิทวัส กล่าวอีกว่า  ส่วนเรื่องกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ข้อสรุปว่า จะทำข้อเสนอแนะตามมติที่ประชุมว่า ระเบียบบางอย่างของการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ไม่เอื้ออำนวยต่อภาพรวมของการใช้เงิน  ด้วยเห็นว่ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 2,400 เมกะวัตถ์ ในระยะ 4 ปี คือ ปี 55-58  มีเงินเข้ามาอยู่ในกองทุนกว่า 1,000 ล้านบาท  ประสงค์ที่จะให้เงินเหล่านี้ตอบแทนสาธารณะบ้าง  ได้ดูสถิติการใช้เงิน ซึ่งมีการวางกรอบไว้ดี แต่ส่วนใหญ่ 32 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ซื้อพันธุ์สัตว์ต่างๆ แต่เหมือนเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยตัวแตกมากกว่า ในขณะที่ไม่เคยเห็นว่าพื้นที่ที่มีเงินมากถึง 250 ล้านบาท มีอะไรที่ดูเจริญกว่าพื้นที่อื่น  ต่อไปการกำหนดระเบียบควรจะมีการวางกรอบวงเงินไว้ ว่าจะใช้ประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง เป็นเงินเท่าไรจึงจะเหมาะสม ให้ได้ประโยชน์ตอบแทนมากที่สุด   หากมีเงินเพิ่มขึ้นมาปีละ 250 ล้านบาท ในพื้นที่ก็ควรจะมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ  อีกกรณีหนึ่งพบว่าขั้นตอนของการเสนอโครงการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีหน้าที่เพียงตรวจว่าโครงการที่ขออนุมัติงบประมาณเข้ามาซ้ำซ้อนกับโครงการส่วนราชการหรือไม่ แต่ไม่มีโอกาสที่จะเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ไม่มีช่องทางที่จะเสนอ การพัฒนาใช้เงินจากกองทุน จึงไม่ตอบสนองประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่  เช่น กรณีที่โครงการของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะไม่ผ่านเวทีคณะกรรมการระดับตำบล ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน น่าจะมีโอกาสที่จะทบทวนได้ ถ้าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย

สำหรับในปี 59 ได้มีการพิจารณาโครงการของเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยจำนวน 11 โครงการ และได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว 3 ล้านบาทเศษ เป็นโครงการที่เสนอโดยนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 1.1 ล้านบาทเศษ 
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1044 วันที่ 4 - 10 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์