วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ป่าอักษรแห่งลำปาง 'เจริญรัตน์' ยืนหยัด 75 ปี

            
ตั้งแต่จำความได้ ปริญญา กล้าวินิจฉัย เติบโตขึ้นมาท่ามกลางกลิ่นหมึกและกองหนังสือในร้านหนังสือของพ่อกับแม่ “ร้านเจริญรัตน์” ที่คนลำปางรู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งในร้านหนังสือยุคแรกๆ ของบ้านเรา
           
ร้านเจริญรัตน์เปิดตัวตั้งแต่ปี พ.. 2501 สมัยที่ ประพนธ์ กล้าวินิจฉัย พ่อของปริญญา อายุแค่เพียง 17 ปี แต่ด้วยความรักในการอ่าน ประกอบกับมีหัวทางธุรกิจที่คิดจะเปิดร้านหนังสือ ประพนธ์ เพียรไปหาลูกค้าตามบ้านว่ามีใครสนใจจะรับหนังสือพิมพ์บ้าง สมัยนั้นหนังสือพิมพ์อันดับหนึ่งต้องยกให้ สยามรัฐ ตามมาด้วยเดลินิวส์ เมื่อได้ 20 ฉบับ  ประพนธ์และพ่อของเขา (ปู่ของปริญญาก็พากันเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวให้จัดส่งหนังสือพิมพ์มาที่ร้าน เพื่อเขาจะได้นำส่งลูกค้าต่อไป
           
ต้องยอมรับเลยว่า ยุคนั้นธุรกิจร้านหนังสือในลำปางได้รับความนิยมมาก การแข่งขันก็สูง มีการส่งหนังสือทับเส้นกันบ้างระหว่างเอเยนต์ที่มีถึง 5 ร้าน ซึ่งร้านเจริญรัตน์ก็ต้องพยายามเลี่ยง ขณะเดียวกันฐานลูกค้าเริ่มขยับขยาย ส่งผลให้ธุรกิจไปได้ดี  มีการรับหนังสือพิมพ์หลายหัวมากขึ้น เมื่อรวมกับนิตยสารรายสัปดาห์ยอดนิยมอย่างบางกอกและคู่สร้างคู่สม ร้านเจริญรัตน์ก็สามารถเปิดหน้าร้านให้ลูกค้าขาจรเดินเข้ามาเลือกหนังสือกันได้สบายๆ
           
ทุกวันนี้ ร้านเจริญรัตน์ขายหนังสือทั้งปลีก (หน้าร้านและส่งให้ร้านค้าย่อยตามตลาดและต่างอำเภอ หลายคนอาจสงสัยว่า การมาของร้านหนังสือใหญ่ๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ??
           
ปริญญาในฐานะพี่ใหญ่ของร้านเจริญรัตน์มองว่า ร้านหนังสือใหญ่ต่างเน้นขายพ็อก
เกตบุ๊กเป็นหลัก ส่วนร้านหนังสือในบ้านเราส่วนใหญ่เน้นไปที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นหลัก ปริญญาบอกว่า ดีเสียอีก นักอ่านจะได้มีทางเลือกมากขึ้น
           
ทว่าสิ่งที่น่ากังวลไม่เฉพาะสำหรับร้านหนังสือ แต่หมายรวมถึงสิ่งพิมพ์อื่นๆ ก็อย่างที่เรารู้กัน นั่นคือ การเข้าถึงข้อมูลอย่างง่ายดายและรวดเร็วจากโลกออนไลน์
           
“3-4 ปีมานี้ รู้สึกเลยว่า ยอดขายหนังสือแน่นิ่งอย่างเห็นได้ชัด” ปริญญาถอนหายใจ “ผมไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่ เข้าร้านหนังสือนะครับ จากเดิมที่เคยเห็นบ้าง มีก็แต่เด็กๆที่เป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น พวกนี้พ่อแม่ส่งเสริมครับ ดีกว่าเล่นมือถือ ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นการ์ตูน ขอให้ลูกอ่านเถอะ อย่างคนรุ่นเราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น” ปริญญาหัวเราะ
           
อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกันระหว่างเจ้าของร้านหนังสือในเมืองลำปาง ปริญญาบอกว่า ยอดขายตกลงแทบทั้งนั้น สัดส่วนของคนอ่านหนังสืออาจจะไม่เพิ่มมากกว่านี้ แต่คงไม่ถึงกับเป็นศูนย์ เขายังหวังว่าสักวัน อาจมีการปลุกกระแสการอ่าน หรือปรากฏการณ์ใดๆที่จะทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับหนังสือก็ได้
           
ด้วยศรัทธาในหนังสือนี้เอง ครอบครัวกล้าวินิจฉัย ซึ่งในวันนี้คงเหลือผู้เป็นแม่ รัชนี กล้าวินิจฉัย ปริญญา และน้อง ๆ อีก 3 คน จึงตัดสินใจเปิดร้านเจริญรัตน์แห่งที่สองบริเวณไนท์บาซาร์ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
           
หลายปีมานี้ พอตกเย็นผมสังเกตว่าในเมืองคนจะเริ่มเงียบครับ แถวนั้นจะคึกคักเฉพาะช่วงเช้า พอตกเย็นความคึกคักจะย้ายมาอยู่โซนนี้ ซึ่งมีทั้งตลาดอัศวินและไนท์บาซาร์ จึงเปิดร้านเจริญรัตน์อีกสาขาหนึ่ง แล้วอีกอย่าง ย่านนี้ก็ยังไม่มีร้านหนังสือด้วย
           
ร้านเจริญรัตน์แห่งใหม่ดูโปร่งตา เดินเลือกหนังสือได้สบาย เพราะเน้นขายปลีกหน้าร้านเท่านั้น มีมุมขายของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆกับเครื่องเขียน รวมถึงแบบเรียน ก ไก่ สำหรับเด็กๆ ที่สำคัญและนึกไม่ถึงก็คือ มีชั้นวางหนังสือนอกเวลา ซึ่งคนวัย 40 ต้นๆต้องรู้จัก เผลอๆอาจจะอุทาน “ว้าว” ออกมาดัง ๆ ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อและดอกไม้ แมงมุมเพื่อนรัก เอมิล ยอดนักสืบ เสียงก้องจากโรงเรียนเชิงเขา ฯลฯ
           
“2 ปีมานี้ สำนักพิมพ์หลายแห่งต่างก็คุมเป้าการคืนหนังสือ ไม่ให้ร้านหนังสือคืนหนังสือกลับไปมากเหมือนเมื่อก่อน บางแห่งเราต้องซื้อขาดไปเลย อย่างพวกนิตยสารสำหรับผู้หญิง แต่ร้านเรายอดขายอันดับหนึ่งยังอยู่ที่หนังสือพิมพ์ รองลงมาคือนิตยสารรายสัปดาห์ ส่วนอันดับสาม คือ การ์ตูนญี่ปุ่น” ตอนนี้ปริญญารับหน้าที่เฝ้าร้านหนังสือแห่งใหม่ “ผมมองว่าในอนาคต ร้านหนังสือก็คงไปได้เรื่อย ๆ แหละครับ แต่มันจะไม่หวือหวา ก็อย่างว่า หนังสืออาจเป็นปัจจัยที่ 6-7 ผู้คนย่อมสนใจปัจจัย 4 ก่อน
           
ถนนด้านนอกระอุอ้าว ทว่าลมยามบ่ายก็ยังพัดผ่านเข้ามาในร้าน หลายคนเมียงมองเข้ามา ปริญญาหวังว่าสักวัน เขาเหล่านั้นจะกลับมาเป็นลูกค้าของร้าน
           
นี่คือสิ่งที่เราอยู่กับมันมาทั้งชีวิต” เขาพูดขึ้น “หนังสือมีเสน่ห์อย่างประหลาด เวลาพลิกกระดาษแต่ละหน้า มันได้อารมณ์ความรู้สึกของการจับต้องได้ แล้วด้านข้อมูลความน่าเชื่อถือ กว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่ม ย่อมผ่านการตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ทั้งจากตัวนักเขียนเอง พิสูจน์อักษร และบรรณาธิการ คนอ่านสามารถใช้อ้างอิงได้ ข้อมูลในมือถือให้แต่ความรวดเร็ว แต่จะจริง หรือลวงกันล่ะ” ปริญญาขยับแว่น “ผมขออยู่กับหนังสือดีกว่าครับ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1045 วันที่ 11 - 17 กันยายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์