วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

รถรุ่นใหม่ “ไม่แข็ง” จริงหรือ ? ตอนที่1

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

ความ "แข็ง" ที่ชอบพูดกัน คือ อะไร ? - รถรุ่นเก่า "แข็ง" กว่ารถรุ่นใหม่อย่างที่ว่ากันจริงหรือไม่ ? - ถ้า "แข็ง" กว่าจริง ย่อมคงทน และปลอดภัยกว่า...ด้วยใช่ไหม ?
เคยได้ยินคำบ่นกันไหมว่า รถใหม่ๆ เหล็กไม่แข็งเอาซะเลย” ซึ่งส่วนใหญ่มักออกมาจากปากของผู้อาวุโสที่เคยใช้รถมานานนม ตั้งแต่ 30-40 ปีก่อน ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็เออออห่อหมกไปด้วย เพราะลองเอามะเหงกเคาะตัวถังเทียบกันดูแล้ว ก็น่าจะจริงตามนั้น
           
ยิ่งปรากฏชัดเจน เมื่อรถรุ่นเก่า (ราว 20 ปีขึ้นไป) กับรถรุ่นใหม่ (รุ่นปัจจุบัน ย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี) เฉี่ยวชนกันบนท้องถนน รถรุ่นใหม่ก็มัก ยุบ” เยอะ กว่ารถรุ่นเก่า อีกกันชนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรง สัมผัสดูจากภายนอกก็เป็นวัสดุจำพวกพลาสติค นั่นยิ่งทำให้ดู ก๋องแก๋ง” เข้าไปใหญ่ ฉะนั้น รถรุ่นเก่าจึงดูแล้ว แข็ง” กว่าเยอะ ชวนให้ใครๆ คิดต่อได้ว่า รถที่แข็งกว่า ย่อมแข็งแรง และปลอดภัยกว่าแยะ
คำว่า แข็ง” เป็นคำสรุปง่ายๆ ของผู้ใช้รถทั่วไป จากการลองเคาะพื้นผิวตัวถัง และจากสภาพการเฉี่ยวชนที่เห็น จะๆ แล้วชวนให้คิดต่อว่าใครแข็งแรงกว่ากัน อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น
           
เอาอย่างนี้แล้วกัน ผมจะขอแตกประโยชน์ของคำว่าแข็งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ ความคงทนในการใช้งาน และความปลอดภัย

1. ด้านความคงทนในการใช้งาน

เหล็ก” ที่ใช้ทำตัวถังรถยนต์ (อาทิ แก้มข้าง ประตูหน้า/หลัง หลังคา ฝากระโปรง) ในปัจจุบัน บางเฉียบราว 0.3-0.5 มม. ซึ่งมีความบางกว่ารถยุคก่อน อาจดูบางจัด แต่เมื่อผ่านกระบวนการปั๊มขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่รถยนต์ในอดีตหนากว่า คือ ราว 0.5-1.0 มม.
เหล็กที่ใช้ทำพื้นผิวตัวถังของรถยนต์ในอดีต ยังเป็นชนิดเดียวกันกับปัจจุบัน คือ เหล็กแผ่นคาร์บอนต่ำ (LOW CARBON STEEL SHEET) ซึ่งเป็นเหล็กที่มีความแข็งแรง และสามารถขึ้นรูปได้ง่าย อย่างไรก็ตาม แม้รถรุ่นใหม่จะใช้เหล็กแผ่นบางลง แต่ก็ได้คุณสมบัติ คือ ความเข็งเพิ่มขึ้น และความเหนียวยิ่งขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า HIGH-STRENGTH STEEL
           
การที่รถรุ่นใหม่ใช้เหล็กบางลง นอกจากเทคโนโลยีของโรงงาน ที่สามารถรีดแผ่นเหล็กให้บางขึ้นได้ และเหนียวขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ได้ความประหยัด ยังช่วยลดน้ำหนักรถยนต์โดยรวม ซึ่งมีผลต่ออัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอีกทางหนึ่ง กระทั่งบางค่าย เริ่มนำวัสดุจำพวกพลาสติค ที่เบา และยืดหยุ่นกว่า อาทิ เอบีเอส ซึ่งใช้กับกันชนหน้า/หลัง มาใช้กับแก้มข้าง ซึ่งโดยปกติจะใช้เหล็กที่บางกว่าส่วนอื่นๆ อยู่แล้ว
           
เมื่อเหล็กของรถรุ่นใหม่ไม่หนาเท่า ผิวตัวถังภายนอกก็ต้องไม่ทนเท่ารถรุ่นเก่าแน่ๆ ดังนั้น ข้อเสียสำคัญๆ ของรถรุ่นใหม่ที่ใช้เหล็กบางกว่า ก็คือ บุบ บุ๋ม เกิดรอย ลักยิ้ม” ได้ง่ายกว่ารถรุ่นเก่า สังเกตง่ายๆ เวลาที่เรามองพื้นผิวของรถ เช่น บานประตูของรถรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้งานไปสักระยะหนึ่ง (โดยเฉพาะรถที่ใช้งานในเมือง ที่มีโอกาสกระทบกระทั่งบ่อยๆ) แสง และเงาที่ตกกระทบ ก็จะทำให้เราเห็นรอยที่ว่าเต็มไปหมด ในขณะที่รถรุ่นเก่าซึ่งเหล็กหนากว่าเกิดรอยอย่างนี้ยาก
           
แต่ผู้ผลิตรถยนต์ ก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการติดแผ่นโพลียูรีเธน แนบสนิทไปกับผนังด้านในของตัวถัง โดยเฉพาะบานประตู และหลังคา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดรอย บุบ บุ๋ม แล้ว ยังช่วยซับเสียงด้วย ถ้าลองใช้นิ้วเคาะดู เสียงจะฟังดูทึบกว่าส่วนอื่น และให้ความรู้สึกแข็งแรงอย่างรถรุ่นเก่า
           
อย่างไรก็ตาม หลายคนมักเข้าใจผิด หรือลืมคิดไปว่า การที่รถรุ่นใหม่ใช้เหล็กทำตัวถังบางกว่ากันแค่ครึ่งมิลลิเมตร มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ที่มาก หรือ น้อยกว่า เมื่อเกิดการชนกันขึ้นมาสักเท่าไรหรอก

มาต่อด้านที่สองกันสัปดาห์หน้าครับ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1071 วันที่ 18 - 24  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์