วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รถไฟทางคู่วุ่น ทั้งค้าน - หนุน เวนคืน 73 หลัง ชุมชนป่าแลว รอรัฐตัดสิน

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ศึกษาพื้นที่สร้างรถไฟรางคู่เริ่มวุ่น มือมืดโผล่ติดป้ายคัดค้านการเวนคืนที่ดินสร้างทางยกระดับข้ามทางรถไฟชุมชนป่าแลว  แต่เจ้าของบ้านกลับไม่รู้เรื่อง  ยันเห็นด้วยเพราะสร้างความเจริญให้ลำปาง ขณะที่กลุ่มไม่เห็นด้วยให้เหตุผลอาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ไม่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น
           
การศึกษาโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ดำเนินการมาจนถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งผลการศึกษาโครงการ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กระทรวงคมนาคม  กลั่นกรองและส่งต่อให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านการเห็นชอบ
           
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.59 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมบุษย์น้ำทอง อ.เมืองลำปาง นายสุรชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟรางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่  ได้นำเสนอผลการศึกษา โดยมีทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดคือ แนวเส้นทางที่ 4  มีผู้สนับสนุนถึงร้อยละ 86.53  โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร ใหม่ 1 ทาง ขนานกับทางรถไฟเดิม  แนวเส้นทางผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่  
           
โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย ถึงสถานีรถไฟห้างฉัตรจะใช้แนวเส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่จะมีการปรับเส้นทางใหม่บางส่วน  ส่วนช่วงสถานีห้างฉัตรถึงสถานีรถไฟลำพูน จะก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด  ต่อจากสถานีรถไฟลำพูนไปสถานีรถไฟเชียงใหม่จะเป็นการสร้างทางใหม่ขนาดกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม  ระยะทางรวม 189 กิโลเมตร   มีสถานีตามแนวเส้นทางหลัก 18 สถานี   มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ อ.สารภี และศูนย์ขนส่งสินค้า 2 แห่ง คือ พื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์ซ่อมบำรุงและ อ.ห้างฉัตร   โดยมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท  คาดว่าดำเนินการเสร็จในปี 2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาร 3.9 ล้านคนต่อเที่ยวต่อปี ขนส่งสินค้า 0.91 ล้านตันต่อปี
           
ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.ลำปาง เริ่มมีกระแสการคัดค้านการก่อสร้างทางต่างระดับ เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟรางคู่ เส้นทางผ่านชุมชนบ้านป่าแลว 1 และป่าแลว 2  โดยมีการนำป้ายข้อความมาติดใกล้เคียงกับจุดตัดผ่านทางรถไฟบ้านป่าแลว มีข้อความว่า “ชาวบ้านป่าแลว คัดค้าน สร้างทางข้ามรถไฟ จุดตัดป่าแลว” มีแต่ทำลายเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชนป่าแลว เราร่วมกันสร้างกันมากว่า 500 ปี ทำลายในพริบตา   จากการสอบถามเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ทราบว่าคือ นางบุญ อินมา อายุ 72 ปี  บ้านเลขที่ 187 บ้านป่าแลว หมู่ 13 ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง  แจ้งว่าไม่ทราบว่าใครนำป้ายมาติดไว้หน้าบ้านของตนเอง
           
นางบุญ  กล่าวว่า  ตนเองไม่รู้ว่าใครเอาป้ายมาติดไว้หน้าบ้าน มารู้อีกครั้งก็มีชาวบ้านมาถามว่าตนคัดค้านด้วยหรือ  จึงได้ปฏิเสธว่าไม่ได้คัดค้าน พอวันสองวันก็มีคนมาถอดป้ายออกไป  ในเรื่องนี้ตนเองพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่จะให้มีการสร้างทางยกระดับ เพราะต้องทนฟังเสียงสัญญาณของรถไฟมานานหลายสิบปี จนปวดหูไปหมด และยังพบเห็นการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความมักง่ายของประชาชนเอง เมื่อที่กั้นรถไฟลงก็ไม่ยอมจอดยังดันทุรังที่จะขับรถผ่านไป บางคันก็โดนที่กั้นทับคาอยู่  รถบางคันที่ขับเร็วก็มาแหกโค้งเสียชีวิตตรงจุดนี้  นอกจากนั้นตนยังเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามานั่งเช็คจำนวนรถที่ผ่านไปมา ทราบว่ามีรถผ่านมากถึง 3,700 คันต่อวัน  การสร้างทางยกระดับก็จะช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และยังเป็นการสร้างความเจริญให้กับบ้านเราด้วย ตนเองสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากมีการเวนคืนที่ดินก็ยอมรับได้
           
ด้านผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง(ขอสงวนนาม)ที่พักอาศัยอยู่ติดกับทางรถไฟป่าแลว  เปิดเผยว่า  ตนเองก็เห็นด้วยกับการสร้างทางยกระดับ เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหากับฝุ่น และเสียงดัง เส้นนี้มีรถสัญจรผ่านเยอะ มีนักศึกษาเดินทางไปยัง ม.ราชภัฎลำปางอยู่ตลอด  เมื่อทราบว่าหากมีการสร้างทางยกระดับ 4 เลนจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน แต่ถ้าไม่อยากเวนคืนก็สามารถทำเป็นถนนยกระดับ 2 เลนได้  แต่ทางยกระดับจะมาอยู่ติดกับหน้าบ้านเราเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะไม่สามารถค้าขายอะไรได้ ทำเลก็ไม่ดี บ้านเราก็ต้องไปอยู่ใต้ทางยกระดับ ส่วนตัวเลยต้องการให้ทำแบบ 4 เลนดีกว่า  ซึ่งถ้าเวนคืนที่ดิน ก็ต้องกินพื้นที่จากขอบถนนเข้าไปในบ้านของตนเกือบครึ่งหลัง  แต่ก็ยอมรับได้หากเขาให้ผลตอบแทนที่ดีและยุติธรรมกับชาวบ้าน
           
ขณะที่นายบุญฤทธิ์ คำชุม อายุ 57 ปี ประธานชุมชนป่าแลว หมู่ 13  กล่าวว่า  ขณะนี้มีชาวบ้านแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายอยู่ริมสองฝั่งถนน  กลุ่มที่เห็นด้วยก็ต้องการเงินเวนคืนตามกฎหมาย  ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วยไม่อยากให้สร้างเพราะกลัวผลกระทบจะตามมา และไม่อยากสูญเสียบ้านที่เคยอยู่อาศัยมานานหลายสิบปี  แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงตัวคัดค้านกันถึงขั้นรุนแรง เพียงแต่แสดงความเห็นของตัวเองเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 22  พ.ค.59  ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่ของโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟรางคู่ ลงพื้นที่ร่วมประชุมกับชาวบ้านที่ศาลารวมใจชุมชนป่าแลว โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมประชุมประมาณ 90 คน  ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางการดำเนินการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการ คงรูปแบบเดิม การสร้างทางลอด การสร้างทางยกระดับ   ซึ่งจากข้อเสนอสรุปเหลือ 2 แนวทางคือ  ให้มีการขยายช่องจราจรเท่านั้น แต่รูปแบบการข้ามทางรถไฟยังคงเดิม แต่จะต้องใช้มาตรฐานสากลในการบริหารเครื่องกั้นทางรถไฟ  หรือสร้างทางยกระดับข้ามทางรถไฟ เนื่องจากทางลอดต้องใช้งบประมาณที่สูงมากกว่า  เบื้องต้นได้ให้ชาวบ้านยกมือเลือกว่าต้องการรูปแบบใด จากรายงานทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างทางยกระดับมากกว่า ส่วนชาวบ้านที่ต้องการรูปแบบเดิมมีเพียง 15 คนเท่านั้น   ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะทำในรูปแบบใด  คาดว่าจะต้องมีการประชุมพูดคุยกันอีกหลายครั้ง

สำหรับการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าว มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร  ตั้งแต่จุดเลยทางโค้งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีย์ข้ามทางรถไฟไปก่อนถึงแยกไฟแดงทางยกระดับกาดเมฆ โดยจะขยายช่องจราจรจากเดิม 20 เมตร ออกไปสองฝั่งถนนอีกข้างละ 10 เมตร  ให้เป็นช่องจราจร 4 เลน  กว้าง 40 เมตร  โดยสองฝั่งถนนจะมีบ้านเรือนที่ต้องเวนคืนจำนวน 73 หลัง  ที่ดิน 137 แปลง  ซึ่งจะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยการเวนคืน ยึดหลักตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530  และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2556  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1080 วันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์