วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สงขลา ย่านเก่าที่ยังหายใจ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ยามสายในวันกลางสัปดาห์ เราอยู่บนกึ่งกลางของถนนอันมีชื่อว่า ถนนนางงาม ซึ่งมีความยาวสัก กิโลเมตรเห็นจะได้ มันไม่ใช่ถนนคนเดินที่จัดขึ้นเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่มีความคึกคักอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรากำลังยืนอยู่บนถนนสายหนึ่งของเมืองสงขลา เป็นย่านเก่าที่ดูจะแตกต่างจากที่อื่นอยู่บ้าง ด้วยมันคือย่านเก่าที่ยังมีชีวิต     ปัญหาของย่านเก่าแต่ละเมืองอยู่ที่การ จัดตั้ง มากกว่ามุ่งเน้นที่จะนำเสนอวิถีดั้งเดิมจริง ๆ บางย่านเพียงเปิดให้แผงลอยมาตั้งขายอยู่หน้าบ้านเก่า ซึ่งปิดเงียบ ร้างไร้คนอาศัย บางย่านแทบไม่หลงเหลือเจ้าของบ้านเดิม หากแต่เป็นนายทุนที่มาซื้อบ้าน แล้วแปลงโฉมใหม่กลายเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟสุดเก๋ หรือที่พักแนวบูติก แต่ไม่ใช่กับย่านเก่าเมืองสงขลา ซึ่งประกอบด้วยถนน สายขนานกัน คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ตึกแถวส่วนใหญ่ยังคงมีคนอยู่อาศัย น้อยมากที่จะเห็นปิด หรือติดประกาศขาย-ให้เช่า บนถนนค่อนข้างแคบ เพราะเดิมทีสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนเดิน รถลาก และสามล้อถีบเท่านั้น ไม่มีใครคาดคิดว่า ทุกวันนี้ย่านเก่าสงขลาถูกจัดให้อยู่ในเขตสีแดง คือเป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากที่สุดในอำเภอเมืองฯ บ้านเรือนในย่านเก่ายังคงเรียงรายไปด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบ่งออกได้เป็น แบบ ได้แก่
ตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม สร้างในปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นช่วงแรกตั้งเมืองสงขลาเป็นต้นมา รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีส่วนหน้าสำหรับค้าขาย ด้านบนใช้เก็บของ มีช่องส่งของเล็ก ๆ มีความยาวตามที่ดินประมาณ 30-40 เมตร และเนื่องจากแปลงที่ดินยาว ผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้มีช่องเปิดโล่งตรงกลาง ส่วนอาคารด้านหลังมักเป็นที่พักอาศัย

ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ อายุประมาณ 100 ปีขึ้นไป พัฒนามาจากแบบจีนดั้งเดิม แต่ประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้น ทว่าก็ยังคงรูปแบบของหลังคาจีน เพิ่มพื้นที่ชั้นบนให้เสมอชั้นล่าง ด้านหน้าทำเป็นผนัง หรือประตูบานเกล็ดระบายความร้อน ชั้นล่างเป็นพื้นที่ทำการค้า ประตูหน้าเป็นบานไม้พับเก็บด้านข้าง ตรงกลางอาคารยังมีการเว้นเป็นช่องเปิดโล่งเพื่อระบายอากาศ

ตึกแถวแบบชิโน-ยูโรเปียน ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีนและยุโรปผสมกัน หลังคาทรงปั้นหยาคล้ายรูปแบบที่เรียกว่า ชิโน-ยูโรเปียน ซึ่งพบมากที่ภูเก็ต แต่ที่สงขลาจะไม่มีทางเดินใต้อาคารที่เรียกว่า หงอคาขี่ อาคารจะมีช่องเปิดอยู่ตรงกลาง อันเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำสำหรับกิน-ใช้ในอดีต

ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก อาคารอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีแผงปกปิดหลังคา และจะมีอักษรแสดงปี พ.ศ. ปรากฏบนแผงดังกล่าว บางหลังมีหลังคาจั่ว หรือปั้นหยาซ้อนอยู่ บางหลังเป็นหลังคา คสล. ส่วนใหญ่มักมีตั้งแต่ 2-4 ชั้น

ถนนนางงามสร้างขึ้นภายหลัง ชื่ออันไพเราะนี้ มาจากการที่เคยมีนางงามระดับจังหวัดอาศัยอยู่ ทว่าปัจจุบันดูจะคึกคักมากที่สุด มีร้านค้าเต็มเกือบทุกห้อง แถมรถและคนยังพลุกพล่านทั้งวัน เพราะเป็นย่านของกิน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสตูร้านเกียดฟั่ง หนมค้างคาวพี่อี๊ด โจ๊กเกาะไทย ลูกชิ้นปลาแมนเอทอด เต้าขั้วป้าจวบ ไอติมโอ่ง ฯลฯ นอกจากนี้ ตามผนังอาคารยังมีภาพวาด มิติให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ได้ไปยืนถ่ายภาพแล้วเช็กอินอย่างสนุก บางจังหวะคนเยอะถึงกับต้องต่อคิวเซลฟีกันเลยทีเดียว

ถนนนครในเดิมทีอยู่ในกำแพงเมือง ถือเป็นถนนเส้นแรกของเมืองสงขลา เป็นย่านของผู้มีฐานะ เป็นถนนแคบ ๆ บ้านเรือนสองฟากฝั่งมีหน้าบ้านแทบจะชิดติดถนน อาคารเก่าสวย ๆ มากมายเรียงรายอยู่บนถนนเส้นนี้
         
ถนนนครนอกอยู่ชิดติดทะเลสาบสงขลา คำว่า นอก หมายถึงนอกกำแพงเมือง กิจการหลักส่วนใหญ่คือธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง โดยมีรถสิบล้อจำนวนมาก การสัญจรที่เปลี่ยนไปจากการใช้ทางน้ำมาเป็นทางบกทำให้ถนนนครนอกที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับเงียบเหงา ผู้คนที่เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับทางน้ำก็เปลี่ยนไปใช้ทางบกแทน แต่ท่าเรือหลายแห่งก็ยังใช้เป็นท่าขึ้นสินค้า มีรถราและคนงานขวักไขว่เป็นระยะ
           
แลนด์มาร์กของถนนนครนอกอยู่ที่โรงสีแดง หับโห้หิ้น ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 โดยขุนราชกิจจารี จากโรงสีข้าว ทุกวันนี้ที่นี่คือที่ตั้งของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม แบ่งพื้นที่เป็นอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ด้านในมีนิทรรศการ มีพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมสนุก ๆ ทุกเดือนไม่ซ้ำกัน มีเอกสารแจกผู้สนใจ ที่สำคัญ ยังได้ปักธงร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้เมืองเก่าสงขลาก้าวสู่เมืองมรดกโลกในโอกาสอันใกล้นี้
            
จะว่าไปแล้ว เมืองลำปางก็มีย่านเก่ากับเขาหลายย่านอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่าง เราจึงทำได้แค่อิจฉาเมืองสงขลาอยู่ห่าง ๆ เพราะเหตุใดน่ะหรือ นึกไม่ออกจริง ๆ
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1078 วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2559)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์